xs
xsm
sm
md
lg

เผยสำรวจความปลอดภัยอาหารดิบ-สุก ในตลาดนัดรอบ 2 ปี ปนเปื้อนร้อยละ 23

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดนัดแห่งหนึ่ง
สธ.เร่งพัฒนามาตรฐานตลาดนัด ซึ่งคาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ให้เป็นตลาดนัดน่าซื้อ สถานที่ขายสะอาด อาหารปลอดภัย และคุ้มครองผู้บริโภค เผยผลสำรวจความปลอดภัยอาหารดิบและสุกในตลาดนัดในรอบ 2 ปี พบปนเปื้อนเชื้อโรคและสารอันตรายต้องห้ามมากถึงร้อยละ 23 สูงกว่าตลาดสดทั่วไป 4 เท่าตัว

วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) พร้อมด้วยดร.นายแพทย์ สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวว่า ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาตลาดนัด ซึ่งเป็นตลาดล่าง ที่กำลังได้รับความนิยมจากประชาชน ทั้งในเขตเมืองและชนบท คาดว่า ทั่วประเทศน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10,000 แห่ง ให้มีมาตรฐานเป็นตลาดนัดน่าซื้อ เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน ให้บริโภคอาหารปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคหรือสารปนเปื้อน ทั้งในอาหารดิบและปรุงสุก ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะสั้นและระยะยาว โดยเร่งรัดให้ทุกจังหวัดควบคุมคุณภาพอาหารบริโภคทุกชนิดที่จำหน่ายในตลาดสดทั่วประเทศให้ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ พร้อมยกระดับครัวไทยเป็นครัวโลก โดยได้มอบหมายให้กรมอนามัย จัดทำมาตรฐานและพัฒนาตลาดนัดน่าซื้อต้นแบบจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อขยายผลทุกพื้นที่ในแต่ละจังหวัด

นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า จากการสุ่มสำรวจอาหารดิบและอาหารปรุงสุกที่วางขายในตลาดนัด 130 แห่งในเขต กทม.และปริมณฑล ล่าสุด ในปี 2553 จาก 3,073 ตัวอย่าง ปรากฏว่า ตรวจพบสารเคมีอันตรายห้ามใช้และเชื้อแบคทีเรียสูงถึงร้อยละ 23 สูงกว่าตลาดสดทั่วไปถึง 4 เท่าตัว โดยในกลุ่มอาหารสดตรวจ 2,029 ตัวอย่าง พบสารเคมีร้อยละ 16 มากที่สุด คือ สารฟอกขาว ร้อยละ 33 รองลงมา คือ สารกันรา ฟอร์มาลิน หรือน้ำยาดองศพ และสารบอแรกซ์ หรือที่เรียกว่า ผงกรอบ ตามลำดับ พบมากในหน่อไม้ดอง ผักกาดดอง และผลไม้ดอง ส่วนกลุ่มอาหารปรุงสุก ตรวจ 1,044 ตัวอย่าง พบปนเปื้อนเชื้อโรคร้อยละ 37 ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง โดยการป่วยแบบเฉียบพลัน คือ ผู้บริโภคมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน โดยพบว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลประมาณ 1.4 ล้านราย ส่วนผลกระทบแบบเรื้อรังหรือผลกระทบระยะยาวเกิดจากการได้รับสารเคมีสะสมในร่างกายหลายปีจนในที่สุดก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตคนไทยอันดับ 1 ติดต่อกันมา 10 ปี ปีละ 60,000 กว่าราย รวมทั้งทำให้เกิดโรคไตอักเสบ หรือไตวายได้ด้วย

ด้านดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า มาตรฐานของตลาดนัดน่าซื้อ จะต้องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 3 ประการ ได้แก่ 1.ความสะอาดของสถานที่ เช่น บริเวณขายอาหารสดต้องเป็นพื้นเรียบแข็งแรง ไม่มีน้ำขัง แผงจำหน่ายอาหารสุกแล้วต้องยกสูงกว่าพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร และมีภาชนะปกปิดอาหาร ต้องจัดให้มีห้องส้วม พร้อมอ่างล้างมือให้เพียงพอและถูกสุขลักษณะ ทำความสะอาดตลาดเป็นประจำทุกวันที่เปิดขาย ผู้ขายของและผู้ช่วยต้องผ่านการอบรมความรูด้านสุขาภิบาลอาหาร และไม่เป็นพาหะนำโรคติดต่อ เช่น อหิวาตกโรค บิด ไข้สุกใส หัด คางทูม วัณโรค เป็นต้น 2.อาหารที่จำหน่ายต้องปลอดภัย ไม่มีสารต้องห้ามอย่างน้อย 4 ชนิดได้แก่ สารฟอร์มาลิน สารกันรา หรือกรดซาลิชิลิก สารบอแรกซ์ หรือน้ำประสานทอง และสารฟอกขาว และอาจจะเพิ่มเรื่องน้ำมันทอดซ้ำด้วย และ 3.ต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภค คือ ผู้ประกอบกิจการตลาดนัดต้องจัดทำทะเบียนผู้ขายของในตลาดนัดทุกราย เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลกลับได้หากเกิดการเจ็บป่วยหรือการเสียหายจากการรับประทานอาหาร หรืออื่นๆ

ในการพัฒนาดังกล่าว กรมอนามัยได้ประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. เพื่อควบคุมกำกับการประกอบกิจการตลาดนัดให้ถูกสุขลักษณะ เนื่องจาก อปท.เป็นผู้มีอำนาจในการดูแลออกใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการตลาดนัด ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือในการเร่งสำรวจและขึ้นทะเบียนตลาดนัดในพื้นที่ และส่งข้อมูลให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อคัดเลือกตลาดนัดสำหรับพัฒนาเป็นตลาดนัดน่าซื้อต้นแบบ จังหวัดละ 1 แห่ง โดยจะให้หน่วยงานในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน สำนักสาธารณสุขจังหวัด ประเมินและพัฒนาตลาดนัดให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด จากนั้นจะจัดการประชุมเพื่อมอบป้ายตลาดนัด น่าซื้อ แก่ตลาดนัด น่าซื้อต้นแบบต่อไป โดยกำหนดเกณฑ์และแบ่งประเภทตลาดนัด น่าซื้อไว้ 3 ระดับ คือระดับพื้นฐาน ระดับดี และระดับดีมาก


ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ.2551 ได้แบ่งตลาดออกเป็น 2 ประเภท คือ ตลาดประเภทที่ 1 เป็นตลาดที่มีโครงสร้างอาคารถาวร หรือตลาดสด และตลาดประเภทที่ 2 เป็นตลาดที่ไม่มีโครงสร้างอาคาร เรียกว่าตลาดนัด ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาตลาดสดเป็นตลาดสด น่าซื้อ ประสบผลสำเร็จไปแล้วร้อยละ 85 ส่วนตลาดนัดจากการสำรวจสถานการณ์ในปี 2551 พบว่า กว่าร้อยละ 70 ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนขออนุญาต เปิดขายสัปดาห์ละ 1-3 วัน และโครงสร้างตลาดยังใช้ร่ม ส่วนใหญ่ยังไม่มีสถานที่ล้างทำความสะอาดอาหารและภาชนะ ไม่มีรางระบายน้ำ และจุดรองรับขยะ รวมทั้งยังขาดห้องน้ำห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
กำลังโหลดความคิดเห็น