xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ยังพบสารปนเปื้อนในอาหาร เร่งเข็นโครงการอาหารปลอดภัย ปลุก ปชช.ตื่นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สธ.สุ่มตรวจอาหารปี 54 ยังพบสารปนเปื้อน “บอแรกซ์ ร้อยละ 0.09 สารฟอกขาว ร้อยละ 0.01 สารกันรา ร้อยละ 0.25, ยาฆ่าแมลง ร้อยละ 1.59 และ โพลาร์ 3.67 ชี้ แม้จะลดน้อยลง ต้องไม่ทิ้ง โครงการอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพ

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปี 2555 สธ.มีนโยบายเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารปลอดภัย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ.2555-2559 โดยจะขับเคลื่อนการดำเนินงานลงสู่ระดับปฏิบัติทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งเน้นการดำเนินงานเชิงบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ ทำให้เกิดการบริหารจัดการตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรง และนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย รวมทั้งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้บูรณาการทุกภาคส่วน รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสร้างกระแสการตื่นตัวด้านความปลอดภัยอาหารอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

รมช.สธ.กล่าวต่อว่า โครงการอาหารปลอดภัย จะดำเนินการตรวจสอบสารปนเปื้อน ได้แก่ สารบอแรกซ์ สารกันรา สารฟอกขาว สารฟอร์มาลิน ยาฆ่าแมลง และ สารโพล่าร์ ในอาหาร 3 ประเภท ได้แก่ อาหารสด อาหารแปรรูป และอาหารปรุงสำเร็จ และจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พบว่า การปนเปื้อนสารพิษในอาหารมีแนวโน้มลดลง โดยการสุ่มตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร ตลาด ร้านอาหาร และแผงลอยจำหน่ายอาหารทั่วประเทศ พบว่า ในปี 2554 อาหารมีการปนเปื้อนสารบอแรกซ์ สารฟอกขาว สารกันรา ยาฆ่าแมลง และน้ำมันทอดซ้ำ ลดลงจากปี 2553 โดย ปี 2553 พบสารบอแรกซ์ ร้อยละ 0.52 สารฟอกขาว ร้อยละ 0.52 สารกันรา ร้อยละ 0.72 ยาฆ่าแมลง ร้อยละ 2.97 และ สารโพลาร์ ร้อยละ 14.32 ส่วนปี 2554 ตรวจพบบอแรกซ์ ร้อยละ 0.09 สารฟอกขาว ร้อยละ 0.01 สารกันรา ร้อยละ 0.25, ยาฆ่าแมลง ร้อยละ 1.59 และ โพลาร์ 3.67

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในส่วนของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหารโดยใช้ชุดทดสอบอย่างง่ายของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำหรับในกรณีที่ผลการทดสอบตัวอย่างโดยชุดทดสอบไม่ชัดเจน จะทำการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง ผู้ประกอบการที่มีผลผ่านเกณฑ์ติดต่อกัน 3 ครั้ง โดยการตรวจแต่ละครั้งห่างกัน 1 เดือน จะได้รับมอบป้ายทองอาหารปลอดภัย (Food Safety) พร้อมใบประกาศนียบัตร ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะดำเนินการสุ่มตรวจติดตามอีกครั้ง หลังจากได้รับเครื่องหมายรับรองแล้ว 6 เดือน หากพบว่าอาหารที่ได้เครื่องหมายรับรองแล้ว มีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพจะดำเนินการแจ้งให้ผู้รับเครื่องหมายรับรองทราบ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง ถ้าพบกระทำผิดเป็นครั้งที่ 2 จะพักใบรับรองทันที เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น