xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัยแนะตักบาตรพระสงฆ์ด้วยเมนูชูสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมอนามัยชวนคนไทยทำบุญตักบาตรวันวิสาขบูชา ด้วยเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม เพื่อลดอัตราความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สร้างสุขภาพดีให้พระสงฆ์ หวังป้องกันการเกิดโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน และโรคอ้วนในกลุ่มพระสงฆ์

ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการสนับสนุนให้คนไทยทำบุญตักบาตรด้วยเมนูชูสุขภาพ ว่า ช่วงเทศกาลวันวิสาขบูชาจะมีพุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปีนี้ที่เป็นการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งหากไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพพระสงฆ์ตามมา โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ด้วยอาหารที่จำเจ ไม่หลากหลาย ซึ่งอาหารปรุงสำเร็จส่วนมากมักเป็นอาหารที่ประกอบด้วย แป้ง น้ำตาล และไขมัน รวมทั้งกะทิที่ให้พลังงานสูงมากเกินความต้องการของร่างกาย ก่อให้เกิดการสะสมไขมันส่วนเกิน ส่งผลให้เกิดภาวะเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมา

ด้าน นพ.สมศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผลการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2553 - 24 กุมภาพันธ์ 2554 มีพระภิกษุ สามเณร จำนวน 98,561 รูป หรือประมาณร้อยละ 30 พบว่า สุขภาพปกติร้อยละ 55 เสี่ยงป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ประมาณร้อยละ 40 บางรูปป่วยมากกว่า 1 โรค และมีพระภิกษุอยู่ในภาวะอ้วนรวม 5,381 รูป หรือร้อยละ 5 แสดงให้เห็นว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคส่วนใหญ่มีสาเหตุจากปัญหาการบริโภคไม่ถูกหลักโภชนาการ เนื่องจากไม่สามารถที่จะเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันอาหารตามที่ฆราวาส ตักบาตรหรือนำอาหารมาถวาย ประกอบกับสถานภาพพระภิกษุสงฆ์ ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค

“การสร้างสุขภาพดีแก่พระสงฆ์ ประชาชนผู้ใจบุญทั้งหลายควรทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ด้วยอาหารเมนูชูสุขภาพที่ประกอบด้วยกลุ่มที่ให้ใยอาหารสูง ประเภทข้าวกล้อง ผักต่างๆ เพื่อจะได้มีกากอาหารช่วยในการขับถ่าย กลุ่มที่ให้แคลเซียมสูง ประเภทผักใบเขียวเข้ม ปลาที่กินได้ทั้งตัว นมจืด หรือนมพร่องมันเนย เพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูกไม่ให้เปราะบาง แตกหรือหักง่าย กลุ่มที่มีไขมันต่ำ ประเภทเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา เพื่อลดพลังงานส่วนเกินที่จะไปสะสมในร่างกายซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง โดยอาหารที่ปรุงนั้นต้องมีรสที่ไม่หวานจัด มันจัด และเค็มจัด เน้นการต้ม นึ่ง อบ หรือทำเป็นน้ำพริก แต่หากต้องการปรุงอาหารประเภทผัดหรือกะทิก็ต้องใช้น้ำมันและกะทิแต่น้อย และให้ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ที่มี ไขมันต่ำ เช่น ปลาหรือเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน อาทิ เมนูลาบปลา ปลานึ่งผัก แกงส้ม แกงเลียง แกงเหลือง ต้มยำปลา ยำมะม่วง ยำสมุนไพร เป็นต้น ที่สำคัญ ควรมีผักสดและผลไม้สดด้วยทุกครั้งเพื่อให้ครบคุณค่าทั้ง 5 หมู่ นอกจากนี้ พระสงฆ์สามารถสร้างสุขอนามัยที่ได้ด้วยการใช้ช้อนกลางขณะฉันภัตตาหารทุกครั้ง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า การตักบาตรด้วยเมนูชูสุขภาพจึงเป็นการสร้างสุขภาพดีให้กับพระสงฆ์ ซึ่งปัจจุบันพระสงฆ์ถือเป็นแกนนำสำคัญของกรมอนามัยในการเผยแพร่ข้อมูลด้านการส่งเสริมสุขภาพร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อสุขภาพที่ดี ทุกกลุ่มอายุ และเป็นเครือข่ายในการส่งเสริมสุขภาพที่ยั่งยืน เกิดแนวทางการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลยุทธ์ 3 ประการ คือ 1.การชี้นำ 2.การเพิ่มความรู้ ความสามารถ ทักษะ และ 3.การขับเคลื่อนของภาคีเครือข่ายร่วมให้เกิดผดี และประโยชน์ที่เอื้อต่อกัน โดยพระสงฆ์จะเป็นแกนหลักดำเนินงานร่วมกันกับชุมชนในกาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ให้ลดเสี่ยง ลดโรค ลดภาวะแทรกซ้อนของโรคและก้าวสู่วิถีชีวิตที่พอเพียง สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น