ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการสนับสนุนให้คนไทยทำบุญตักบาตรด้วยเมนูชูสุขภาพว่า ช่วงเทศกาลวันวิสาขบูชามีพุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมาก เพราะปีนี้เป็นปีการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งหากไม่คำนึงถึงความ ปลอดภัย ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพพระสงฆ์ตามมา
โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากการตักบาตรพระสงฆ์ด้วยอาหารที่จำเจ ไม่หลากหลาย ซึ่งอาหารปรุงสำเร็จส่วนมากเป็นอาหาร ที่ประกอบด้วย แป้ง น้ำตาล และไขมัน รวมทั้งกะทิที่ให้พลังงานสูงมากเกินความต้องการของร่างกาย ก่อให้เกิดการสะสมไขมันส่วนเกิน ส่งผลให้เกิดภาวะเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมา
ด้าน นพ.สมศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผลการศึกษา ของกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2553 - 24 กุมภาพันธ์ 2554 มีพระภิกษุ สามเณร จำนวน 98,561 รูป หรือประมาณร้อยละ 30 พบว่า สุขภาพปกติร้อยละ 55 เสี่ยงป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ประมาณร้อยละ 40
บางรูปป่วยมากกว่า 1 โรค และมีพระภิกษุอยู่ในภาวะอ้วนรวม 5,381 รูป หรือร้อยละ 5 แสดงให้เห็นว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคส่วนใหญ่ มีสาเหตุจากปัญหาการ บริโภคไม่ถูกหลักโภชนาการ เนื่องจากไม่สามารถที่จะเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันอาหารตามที่ฆราวาสตักบาตรหรือนำอาหารมาถวาย ประกอบกับสถานภาพพระภิกษุสงฆ์ ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค
“การสร้างสุขภาพดีแก่พระสงฆ์ ผู้ใจบุญทั้งหลายควรทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ด้วยอาหารเมนูชูสุขภาพ ที่ประกอบด้วยกลุ่มที่ให้ใยอาหารสูง ประเภทข้าวกล้อง ผักต่างๆ เพื่อจะได้มีกากอาหารช่วยในการขับถ่าย กลุ่มที่ให้แคลเซียมสูง ประเภทผักใบเขียวเข้ม ปลาที่กินได้ทั้งตัว นมจืด หรือนมพร่องมันเนย เพื่อช่วยเสริมสร้าง กระดูกไม่ให้เปราะบาง แตกหรือหักง่าย
กลุ่มที่มีไขมันต่ำ ประเภทเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา เพื่อลดพลังงานส่วนเกินที่จะไปสะสมในร่างกาย ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง โดยอาหารที่ปรุงนั้นต้องมีรสที่ไม่หวานจัด มันจัด และเค็มจัด เน้นการต้ม นึ่ง อบ หรือทำเป็นน้ำพริก
แต่หากต้องการปรุงอาหารประเภทผัดหรือกะทิ ก็ต้องใช้น้ำมันและกะทิแต่น้อย และให้ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น ปลาหรือเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน อาทิ เมนูลาบปลา ปลานึ่งผัก แกงส้ม แกงเลียง แกงเหลือง ต้มยำปลา ยำมะม่วง ยำสมุนไพร เป็นต้น
ที่สำคัญ ควรมีผักสดและผลไม้สดด้วยทุกครั้ง เพื่อให้ครบคุณค่าทั้ง 5 หมู่ นอกจากนี้ พระสงฆ์สามารถสร้างสุขอนามัยที่ดีได้ ด้วยการใช้ช้อนกลางขณะฉันภัตตาหารทุกครั้ง” นพ.สมศักดิ์กล่าว
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวตอนท้ายว่า การตักบาตรด้วยเมนูชูสุขภาพเป็นการสร้างสุขภาพดีให้กับพระสงฆ์ ซึ่งปัจจุบันพระสงฆ์ถือเป็นแกนนำสำคัญของ กรมอนามัยในการเผยแพร่ข้อมูลด้านการส่งเสริมสุขภาพร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อสุขภาพที่ดีทุกกลุ่มอายุ และเป็นเครือข่ายในการส่งเสริมสุขภาพที่ยั่งยืน เกิดแนวทางการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ระยะยาวอย่างต่อเนื่อง
โดยมีกลยุทธ์ 3 ประการ คือ 1. การชี้ นำ 2. การเพิ่มความรู้ ความสามารถ ทักษะ และ 3. การขับเคลื่อนของภาคีเครือข่ายร่วมให้เกิดผดี และประโยชน์ที่เอื้อต่อกัน โดยพระสงฆ์จะเป็นแกนหลักดำเนินงานร่วมกันกับชุมชนในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ลดเสี่ยง ลดโรค ลดภาวะแทรกซ้อนของโรค และก้าวสู่วิถีชีวิตที่พอเพียง สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย กองบรรณาธิการ)