xs
xsm
sm
md
lg

“บลู สไปซ์” พริกแกงหรูตำรับ “บลู เอเลเฟ่นท์” ชูอร่อยเหมือนกินที่ร้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พริกแกง “บลู สไปซ์”
ด้วยชื่อเสียงของร้านอาหารไทย “บลู เอเลเฟ่นท์” (Blue Elephant) ถือเป็นบันไดสำคัญ ช่วยต่อยอดสู่การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส ทั้งน้ำพริก เครื่องแกง และซอสปรุงรสระดับพรีเมียม ภายใต้แบรนด์ “บลู สไปซ์” (Blue Spice)ซึ่งมียอดขายปีละกว่า 65 ล้านบาท โดยชูจุดขายรสชาติจัดจ้าน สามารถนำไปประกอบอาหารได้อร่อยเหมือนกินที่ร้าน “บลู เอเลเฟ่นท์”
นูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้
นูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ ผู้บุกเบิกร้านอาหารไทย “บลู เอเลเฟ่นท์” เผยว่า แนวคิดเบื้องต้นในการขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์ “บลู สไปซ์” สืบเนื่องมาจากต้องการให้รสชาติอาหารของร้าน “บลู เอเลเฟ่นท์” ทุกสาขาที่มีอยู่รวมกัน 11 แห่งทั่วโลก มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด จึงได้จัดระบบ “ครัวกลาง” ในเมืองไทย เพื่อทำเครื่องปรุงสำเร็จรูป เช่น เครื่องแกง และซอสปรุงรสต่างๆ แล้วส่งไปใช้ยังสาขาต่างๆ ช่วยให้อาหารของร้านทุกสาขา เมื่อปรุงมาแล้ว มีรสชาติได้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
ซอสปรุงรส
จากนั้น ด้วยชื่อเสียงของร้านที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในหลายๆ ประเทศ จึงมีลูกค้าจำนวนมากให้ความสนใจ และติดต่อขอซื้อเครื่องปรุงสำเร็จรูปของทางร้าน จึงเกิดแนวคิดแตกไลน์ธุรกิจ จัดตั้งบริษัท บลูสไปซ์ จำกัด เมื่อปี พ.ศ.2549 ด้วยทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท เพื่อผลิตและจำหน่ายเครื่องปรุงสำเร็จรูปอย่างจริงจัง ในชื่อแบรนด์ “บลู สไปซ์”
ภายในโรงงานผลิต
นูรอ ระบุว่า สูตรเครื่องปรุงต่างๆ คิดค้นขึ้นเองทั้งหมด เน้นรสชาติจัดจ้านแบบไทยต้นตำรับ เมื่อนำไปประกอบอาหารแล้ว จะได้รสชาติเหมือนกินที่ร้าน “บลู เอเลเฟ่นท์” โดยแบ่งสินค้าต่างๆ เช่น น้ำพริกแกง ซอสปรุงรส ผงปรุงรส น้ำสลัด และสแน็ค มีสินค้าให้เลือกกว่า 50 รายการ โดยสินค้าขายดีอันดับต้นๆ ได้แก่ น้ำพริกแกงเขียวหวาน น้ำพริกแกงมัสมั่น น้ำพริกแกงกะหรี่ น้ำจิ้ม และน้ำสลัดตะไคร้ เป็นต้น

ในส่วนวัตถุดิบการผลิตนั้น ปัจจุบัน กว่า 50% จะรับผักสดมาจากโครงการหลวง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว อยากจะใช้วัตถุดิบของโครงการหลวงทั้งหมด แต่เนื่องจากทางโครงการหลวงสามารถจัดสรรวัตถุดิบให้ได้เพียงเท่านี้ ดังนั้น อีก 50% จึงต้องรับซื้อจากเกษตรกรต่างๆ ที่ทำข้อตกลงร่วมกัน คัดเลือกใช้เฉพาะผักที่ปลูกโดยปลอดสารเคมี นำมาแปรรูปโดยไม่มีการใสสารปรุงรสใดๆ ทั้งสิ้น
น้ำพริกรสชาติเผ็ดแบบต้นตำรับ
เจ้าของธุรกิจ ระบุว่า ด้วยชื่อเสียงของร้านที่มีฐานลูกค้าขาประจำค่อนข้างแน่นอนอยู่แล้ว จึงเป็นข้อได้เปรียบอย่างยิ่ง ทำให้สินค้าของ “บลู สไปซ์” มีกลุ่มผู้ซื้อค่อนข้างแน่นอน โดยส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่เคยมากินอาหารที่ร้าน แล้วติดใจ จึงอยากจะซื้อเครื่องปรุง นำกลับไปประกอบอาหารกินกันเองในครัวเรือน ซึ่งจะได้อาหารรสชาติเหมือนกินที่ร้าน

“สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถขยายธุรกิจต่อเนื่องได้หลากหลาย มาจากชื่อเสียงของร้าน ซึ่งลูกค้าให้การเชื่อถือ และยอมรับอยู่แล้ว ซึ่งคนที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของเราไป ก็หวังว่าจะได้ไปทำอาหารเหมือนกับกินที่ร้านเรา ซึ่งในความเป็นจริง อาจจะมีซอสปรุงรส หรือเครื่องแกงไทยยี่ห้ออื่นๆ ที่อร่อยกว่าเราด้วยซ้ำ แต่เราโชคดี ที่มีร้านของตัวเอง ซึ่งลูกค้าเคยได้ไปชิมรส และชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อถือ” นูรอ ระบุถึงความแข็งแรงของแบรนด์

ด้านนายสุกิจ งามพาณิชย์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท บลูสไปซ์ จำกัด ให้ข้อมูลเสริมว่า ผลิตภัณฑ์ของ “บลู สไปซ์” ได้รับพิจารณาจากกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นสินค้าเครื่องหมาย “Thai Select” รับประกันคุณภาพเป็นสินค้าอาหารไทยระดับคุณภาพ

ทั้งนี้ วางตำแหน่ง “บลู สไปซ์” เป็นผลิตภัณฑ์ตลาดระดับไฮเอ็นด์ โดยเฉลี่ยราคาจะสูงกว่าสินค้ายี่ห้ออื่นๆ ประมาณ 30% นอกจากนั้น พยายามสร้างจุดเด่น ด้วยการคิดค้นซอสปรุงรส หรือเครื่องปรุงที่หาไม่ได้จากยี่ห้ออื่นๆ ตัวอย่างเช่น ซอสส้มซ่า น้ำสลัดมะขาม และน้ำสลัดตะไคร้ เป็นต้น
ทำจากวัตถุดิบผัดสดสะอาด
สำหรับด้านการตลาด เน้นผ่านดีลเลอร์ส่งออกไปขายยังประเทศต่างๆ ซึ่งจะกระจายวางตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ ปัจจุบัน มีกว่า 26 ประเทศทั่วโลก เช่น แคนาดา อินเดีย ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย เยอรมนี เกาหลี ออสเตรเลีย เป็นต้น ส่วนในประเทศ เน้นทำเลกลุ่มตลาดบน เช่น ห้างสยามพารากอน ดิเอ็มโพเรียม สนามบินสุวรรณภูมิ คิงเพาเวอร์ และเทร์มินัล 21 เป็นต้น

ทั้งนี้ สัดส่วนการตลาด เบื้องต้น เป็นการส่งออก 80% และในประเทศ 20% ขณะที่ปี 2554 ที่ผ่านมา สัดส่วนในประเทศปรับเพิ่มขึ้นเป็น 35% และส่งออก 65% ทำรายได้ประมาณ 65 ล้านบาท และตั้งเป้าว่า ปีนี้ ยอดขายในประเทศจะเพิ่มขึ้นอีก 5-10% มียอดขายกว่า 70 ล้านบาท โดยใช้แผนโปรโมทแบรนด์ ผ่านการโชว์การทำอาหารในงานแฟร์ต่างๆ รวมถึง ขยายฐานลูกค้า โดยส่งขายตามร้านอาหารต่างๆ ทั่วโลก

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

===>>> อ่านเรื่องประกอบ @@=>> กว่าจะมาเป็น “บลูเอเลเฟ่นท์” In the name of อาหารไทย <== @@
กำลังโหลดความคิดเห็น