xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะมาเป็น “บลู เอเลเฟ่นท์” In the name of อาหารไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หน้าร้าน “บลูเอเลเฟ่นท์”
ถ้าย้อนเวลาได้ แล้วลองกลับไปถาม “นูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้” ในวัยเยาว์ว่า “เชื่อหรือไม่ ในอนาคตคุณจะมีกิจการมูลค่านับพันล้านบาทต่อปี” คำตอบที่ได้ เจ้าตัวเองก็คงตอบว่าไม่เชื่อ และไม่กล้าแม้แต่จะคิด ทว่า เรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ปัจจุบัน ร้านอาหารไทย โลโก้ช้างสีน้ำเงิน ชื่อ “บลูเอเลเฟ่นท์” (Blue Elephant) ที่เธอและสามีช่วยกันปลุกปั้นขึ้น กลายเป็นร้านดังระดับไฮเอ็นด์ที่ชาวต่างชาติรู้จักและนิยมอย่างสูง มีจำนวน 11 สาขา อยู่ในเมืองสำคัญทั่วโลก และยังเป็นเสมือนตัวแทนของอาหารไทยในสายตาชาวโลกอีกด้วย
นูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้
@@@@ ลูกแม่ค้าข้าวแกงสู่เจ้าของร้านอาหารไทยในต่างแดน @@@@

สายเลือดลูกแม่ค้าข้าวแกงที่ติดตัวมาตั้งแต่เล็ก ต้องทำหน้าที่เป็นลูกมือของแม่ในครัวมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นตำน้ำพริก สับเนื้อหมู ล้างผัก ทอดปลา ฯลฯ ช่วยสะสมฝีมือการทำอาหารไทยให้ “นูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้” เจนจัดถึงขั้นฝั่งอยู่ในเส้นเลือดโดยไม่รู้ตัว ประกอบกับเป็นคนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จึงมักคิดค้นและทดลองทำอาหารไทยแปลกๆ ใหม่ๆ อยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวก็แทบไม่เคยมีความคิดมาก่อนเลยว่า จะต้องเป็นเจ้าของร้านอาหารไทยในต่างแดน จนกระทั่ง มีโอกาสติดตามพี่ชายมาเรียนต่อที่ประเทศเบลเยี่ยม แล้วได้พบรักกับสามี “คุณคาร์ล สเต็ปเป้” ซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายของเก่าที่เธอมาทำงานระหว่างเรียน

เนื่องจากสามีประกอบกิจการค้าขาย มักมีลูกค้ามาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ เธอจึงมีโอกาสใช้เสน่ห์ปลายจวัก ทำอาหารไทยให้ลูกค้าของสามี รวมถึงเพื่อนชาวต่างชาติได้ชิมบ่อยครั้ง แทบทุกคนที่ได้กินจะติดอกติดใจ และเชียร์ให้เธอและสามีเปิดร้านอาหาร เป็นที่มาของการเปิดร้าน “บลูเอเลเฟ่นท์” สาขาแรกที่กรุงบราเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม เมื่อปี พ.ศ.2523
โลโก้ประจำร้าน
@@@@ ชูเอกลักษณ์อร่อยแบบไทยต้นตำรับ @@@@

นูรอ เล่าว่า สาขาแรกร่วมหุ้นกับเพื่อนคนไทยอีก 2-3 คน ใช้เงินลงทุนเปิดร้านเบื้องต้นประมาณ 1.5 ล้านบาท โดยรับผิดชอบดูแลส่วนครัว ด้านการประกอบอาหารทั้งหมด โดยสิ่งที่ยึดมั่นมาตั้งแต่แรกจนถึงทุกวันนี้ คือ ใช้รสชาติความอร่อยแบบไทยต้นตำรับ

“ตั้งแต่แรก ดิฉันจะคิดตลอดว่า เราต้องทำอาหารไทยที่อร่อย ซึ่งความอร่อยต้องเป็นรสชาติแบบไทยแท้ๆ เพียงแต่เรามาปรับรูปแบบให้เหมาะกับชาวต่างชาติ เช่น ชาวต่างชาติไม่นิยมกินหมู เราก็ปรับมาใช้วัตถุดิบเนื้อปลาแทน หรือการเสิร์ฟ แทนที่จะเป็นกับข้าวใส่เป็นจานๆ ก็มาปรับเป็นเมนูเสิร์ฟแยกจานเหมือนฝรั่ง ดีไซน์การจัดจานให้สวยงาม แต่เรื่องรสชาติความเข้มข้น ดิฉันจะไม่ปรับเลย เป็นรสไทยแท้ๆ เช่น เขียวหวานก็ต้องเผ็ด ยำก็เปรี้ยวหอมมะนาว เป็นต้น เพราะดิฉันเชื่อว่า คนต่างชาติเขาอยากจะกินอาหารไทยตามแบบของเรา ไม่ใช่ว่าเราไปปรับรสชาติให้เป็นแบบของเขา” นูรอ อธิบาย
แต่งร้านบรรยากาศไทยสุดหรู
นอกเหนือจากเรื่องอาหารแล้ว เธอระบุด้วยว่า ร้าน “บลูเอเลเฟ่นท์” ได้นำเสนอความเป็นไทยอย่างชัดเจน ตั้งแต่การแต่งร้านที่บรรยากาศงดงามแบบไทย พนักงานเสิร์ฟแต่งกายด้วยชุดผ้าไหม รวมถึง งานบริการน้ำใจแบบคนไทย โดยผู้จัดการร้านและพนักงานเสิร์ฟเป็นคนไทยทั้งหมด เพราะเชื่อว่า งานบริการที่ดีแบบไทยจะอยู่ในสายเลือดของคนไทยเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบกันช่วยให้ร้านประสบความสำเร็จอย่างสูง

@@@@ ต่อยอดขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่อง @@@

ชื่อเสียงของร้าน “บลูเอเลเฟ่นท์” ถูกกล่าวขานอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะแค่ในกรุงบราเซลล์เท่านั้น แม้แต่ชาวยุโรปชาติอื่นๆ ก็ยังเดินทางมาทดลองชิมอาหารไทยของร้านเช่นกัน ดังนั้น ทางร้านได้ต่อยอดขยายสาขาไปยังประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ถึงปัจจุบัน มีรวมกัน 11 สาขาทั่วโลก เช่น ลอนดอน ปารีส ดูไบ บาห์เรน และประเทศไทย เป็นต้น โดยมีทั้งขยายด้วยตัวเองและขายแฟรนไชส์ กลุ่มลูกค้ามีตั้งแต่คนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว

ไม่เท่านั้น ยังได้แตกไลน์ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตั้งแต่บริษัทส่งออกวัตถุดิบในการทำอาหารไทย เช่น ข้าวสาร เครื่องแกง สมุนไพร ผักสด ฯลฯ ตามด้วย เปิดโรงเรียนสอนทำอาหารไทย และล่าสุด เป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหารไทย ในชื่อ “บลูสไบซ์”

นูรอ เสริมในจุดนี้ว่า การขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ มักมีจุดเริ่มต้นจากการสนับสนุนงานต่างๆ ภายในร้านอาหาร “บลูเอเลเฟ่นท์” ตัวอย่างเช่น จุดเริ่มต้นของการเปิดโรงเรียนสอนทำอาหาร มาจากต้องการฝึกเชฟ เพื่อไปประจำยังร้านสาขาในต่างประเทศ จากนั้น จึงมีคนภายนอกสนใจติดต่อขอเรียนบ้าง จึงเริ่มมีการเปิดหลักสูตรสอนทำอาหาร ซึ่งมีทั้งสอนเพื่อจุดประสงค์ไปประกอบอาชีพเชฟจริงจัง หลักสูตรเพื่อไปประกอบอาหารกินเองในครัวเรือน รวมถึงเรียนเพื่อความสนุกสนาน
เปิดสอนทำอาหารไทย
เช่นเดียวกัน การส่งออกวัตถุดิบ และการทำผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส เบื้องต้นต้องการทำเพื่อไปใช้ในร้านอาหารของตัวเองตามสาขาต่างๆ ทั่วโลก ทว่า หลังจากนั้น ลูกค้ามักให้ความสนใจและขอสั่งซื้อ จนกลายมาเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

สิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถขยายธุรกิจต่อเนื่องได้หลากหลาย มาจากชื่อเสียงของร้าน ซึ่งลูกค้าให้การเชื่อถือ และยอมรับอยู่แล้ว เช่น โรงเรียนสอนทำอาหารของเรา คนที่มาเรียน ก็หวังว่าอยากจะออกไปทำอาหารได้อร่อยเหมือนกับร้านของเรา หรือผลิตภัณฑ์เครื่องแกงของเรา คนที่ซื้อไป ก็หวังว่าจะได้ไปทำอาหารเหมือนกับกินที่ร้านเรา ซึ่งในความเป็นจริง อาจจะมีซอสปรุงรส หรือเครื่องแกงไทยยี่ห้ออื่นๆ ที่อร่อยกว่าเราด้วยซ้ำ แต่เราโชคดี ที่มีร้านของตัวเอง ซึ่งลูกค้าเคยได้ไปชิมรส และชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อถือ” นูรอ สรุปถึงความแข็งแรงของแบรนด์“บลูเอเลเฟ่นท์” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญช่วยให้ขยายธุรกิจได้สำเร็จ
ร้านสาขากรุงเทพฯ อยู่ที่ ถ.สาทร
@@@@ In the name of แม่ครัวอาหารไทย @@@@

เจ้าของร้านอาหารไทยชื่อดัง เล่าด้วยว่า ร้าน “บลูเอเลเฟ่นท์” ได้พัฒนาเรื่อยมา ตั้งแต่ยุคแรกที่ทำลักษณะครัวบ้าน โดยรับผิดชอบลงมือหยิบจับทำเองแทบทั้งหมด ค่อยๆ ปรับรูปแบบสู่การสร้างมาตรฐาน เช่น มีห้องแล็บของตัวเองในการควบคุมวัตถุดิบ มีการกำหนดสูตรเครื่องปรุงให้ได้รสชาติมาตรฐานเหมือนเดิมทุกครั้ง มีโรงงานผลิตวัตถุดิบต่างๆ ได้มาตรฐานระดับสากล เป็นต้น โดยมีเป้าหมายหลัก พยายามรักษาชื่อเสียงของร้าน เพื่อให้เป็นตัวแทนประเทศไทยด้านการทำอาหาร และวัฒนธรรมไทย สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของอาหารไทยให้ชาวโลกจดจำ

อย่างไรก็ตาม นูรอระบุว่า โดยส่วนตัวแล้ว เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทอง ชื่อเสียง หรือความสำเร็จต่างๆ แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดของอาชีพ คือ ความสุขจากการเป็นแม่ครัว ซึ่งทุกวันนี้ เธอยังคงเข้าครัว ตำพริก ผัดเครื่องแกง คิดค้นสูตรอาหารด้วยตัวเองเสมอ รวมถึง ทุกครั้งที่ออกงานแฟร์หรือไปโชว์ทำอาหารต่างๆ จะลงมือปรุงอาหารเองตลอด เพราะยังคงมีความสุขเสมอ เมื่อได้ทำอาหารอร่อยให้คนกิน

ต้องบอกตามตรงว่า ทุกวันนี้ เรื่องของธุรกิจต่างๆ ดิฉันมีความรู้น้อยมาก ตัวเลขรายรับรายจ่ายแทบไม่เคยสนใจ อาศัยสามี และทีมงานที่ดีคอยช่วยเหลือ ซึ่งเราอยู่กับมานาน เหมือนเป็นพี่น้องมากกว่า เพราะการทำธุรกิจร้านอาหารเป็นเรื่องที่จุกจิกมาก คนที่ทำต้องมีความรัก และเอาใจใส่อย่างสูง และถึงที่สุดแล้ว ร้านอาหารที่จะประสบความสำเร็จได้ อาหารก็ต้องอร่อย ซึ่งส่วนตัวของดิฉันแล้ว ทุกวันนี้ ก็ยังชอบทำอาหาร และจะมีความสุขที่สุด เวลาคนที่กินอาหารที่เราทำแล้วบอกว่า อร่อย” นูรอ ปิดท้าย

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
กำลังโหลดความคิดเห็น