ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เสร็จเรียบร้อยโรงเรียนพาณิชย์ไปแล้ว กับงบเร่งด่วน 1,320 ล้านบาท ที่ครม.เมื่อวันที่ 20 มี.ค.อนุมัติให้ใช้สำหรับจัดทำ “โครงการโชวห่วยช่วยชาติ” ภายใต้ชื่อ “ร้านถูกใจ” หรือโครงการ 1 ร้านค้า 1 ชุมชน ที่คิดไว้เดิม แถมยังได้เงินแถมอีก 300 ล้าน ไว้จัดมหกรรมธงฟ้าลดค่าครองชีพไทยช่วยไทย
ร้านถูกใจที่ว่า จะเป็นโครงการที่ให้การสนับสนุนร้านโชวห่วย ร้านอาหารธงฟ้า ให้มีมุมขายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ 20 รายการ ได้แก่ ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำตาลทราย ผงชูรส น้ำปลา ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมยูเอชที ซอสปรุงรส เนื้อสุกร เนื้อไก่ สบู่ ยาสีฟัน แชมพู ผงซักฟอก แป้งผงโรยตัว น้ำยาล้างจาน ผ้าอนามัย ยากำจัดยุงและแมลง ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด โดยจะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงชนิดของสินค้า ตามความจำเป็นและการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าแต่ละชนิด และตามสภาวะเศรษฐกิจ
และยังจะให้มีการจัดทำสินค้าภายใต้แบรนด์ “ร้านถูกใจ” เพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนในชุมชนในราคาถูกกว่าสินค้ามีแบรนด์ ซึ่งนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ตอนนี้ได้ติดต่อไว้ 5-6 รายแล้ว พร้อมที่จะผลิตให้ แต่เฉพาะข้าวสาร กระทรวงพาณิชย์จะดูแลเอง โดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) และยืนยันได้ว่า ราคาจะถูกกว่าปกติแน่นอน
ทั้งหมดนี้ มีแผนการดำเนินการแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก จะเริ่มในช่วงเดือนเม.ย.2555 ในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดใหญ่ 15 จังหวัด (ในเขตอำเภอเมือง) รวม 2,000 แห่ง และระยะที่ 2 เริ่มในเดือนพ.ค.2555 ในทุกจังหวัดอีก 8,000 แห่ง รวมเป็น 10,000 แห่งทั่วประเทศตามเป้าหมาย
นายบุญทรงคุยฟุ้งเอาไว้อย่างใหญ่โตว่า โครงการนี้ เมื่อดำเนินได้แล้ว จะสามารถช่วยให้ประชาชนประมาณ 10 ล้านคน สามารถซื้อสินค้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาดประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ หรือในภาพรวมคาดว่าจะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 36,000 ล้านบาท เพิ่มความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยให้ประชาชน ก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีส่วนช่วยเพิ่มจีดีพีของประเทศ นอกจากนี้ยังจะมีส่วนช่วยชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าอื่นๆ ในท้องตลาด และจะส่งผลให้รายได้สุทธิของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ฟังแล้วก็ดูดี เคลิ้มเชียวละ
แต่ลองมาดูงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการกันดูบ้าง เพราะเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อเห็นตัวเลขแล้วจะอึ้งและสั่นสะท้านไปทั่วสรรพางค์กายกันเลยทีเดียว
งบประมาณคร่าวๆ จาก 1,320 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าตกแต่งร้านๆ ละ 1 หมื่นบาท รวม 100 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการ 1 หมื่นต่อร้าน รวม 100 ล้านบาท ค่าจัดหาวัตถุดิบ 100 ล้านบาท ค่าโลจิสติกส์ 500 ล้านบาท ค่าจ้างคน 1 พันคนรวม 100 ล้านบาท ค่าประชาสัมพันธ์ 100 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายของจังหวัดต่างๆ ที่เข้ามาดูแลโครงการ 100 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการของกรมการค้าภายใน 9 ล้านบาท
ลองมาคิดกันแบบคนไม่มีสมองก็แล้วกัน ค่าตกแต่งร้าน คิดร้านละ 1 หมื่นบาท ถ้าหากทำจริงๆ อยู่ที่ประมาณ 100-200 ร้านพอให้เห็นภาพ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือแล้วเงินที่เหลือไปไหน ขณะที่ค่าบริหารจัดการต่อร้าน ก็เรียกว่าอิ่มอร่อยกันอย่างนิ่มๆ เพราะไม่ต้องมีใบเสร็จ ส่วนค่าโลจิสติกส์ 500 ล้าน นายบุญทรงบอกว่าเป็นค่าวางระบบไอทีเชื่อมต่อร้านค้ากับไปรษณีย์ ประมาณว่า สามารถเช็กดูได้หมด วันนี้ขายอะไรไปบ้าง สินค้าอะไรหมด จะได้สั่งซื้อกันออนไลน์ได้ทันที
ลงทุนกันขนาดนี้ ยิ่งกว่าเปิดเซเว่นอีเลฟเว่นเสียอีก
แพงไปหรือเปล่า ยังเป็นคำถามที่จะต้องหาคำตอบและพิสูจน์กันต่อไป
ไหนจะค่าจ้างคนทำงาน 1 พันคน จ่ายคนละ 1.5 หมื่นบาท ถ้าไม่จ้างจริง แต่หาชื่อคนมาใส่ในบัญชีเบิกเงิน ใครจะไปตรวจสอบได้ นี่ยังไม่รวมงบทำประชาสัมพันธ์อีกเป็น 100 ล้านบาท
ก็ดูๆ กันเอาเองว่า โครงการนี้เป็นโชวห่วย ช่วยชาติ หรือโชวห่วย ช่วยใคร?
ส่วนโครงการมหกรรมธงฟ้า ลดค่าครองชีพไทยช่วยไทย แม้จะเป็นเงินแถม แต่ก็ทำเงินได้ไม่ยาก หาใครมาทำก็ได้ แต่ขอหักเปอร์เซ็นต์ซัก 20-30 เปอร์เซ็นต์ ขี้คร้านจะมีคนเสนอตัวกันให้เพียบ คิดง่ายๆ 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ 60 ล้าน 30 เปอร์เซ็นต์ ก็ 90 ล้านบาท เหลือจัดงานจริงเท่าไร ก็หยวนๆ กันไป
ที่พูดอย่างนี้ ไม่ใช่จะกล่าวหาใคร แต่อดีตมันเคยมีให้เห็น ก็แค่นั้น
สำหรับโครงการธงฟ้า เป็นโครงการที่จะช่วยลดค่าครองชีพประชาชน ที่กำลังได้รับผลการกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยจะมีการจัดงานจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพในราคาประหยัด ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในทุกระดับ ได้แก่ การจัดงานระดับประเทศ 3 ครั้ง ระดับภาคๆ ละ 2-4 ครั้ง รวม 12 ครั้ง ระดับจังหวัดทุกจังหวัดรวม 76 ครั้งและระดับอำเภอทุกอำเภอรวม 878 ครั้ง
ผลที่จะเกิดขึ้นจากการจัดโครงการธงฟ้า ประเมินไว้สวยหรูว่า จะสามารถลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนประมาณ 5 ล้านคน คิดเป็นมูลค่า 1,000-1,200 ล้านบาท และเพิ่มเงินหมุนเวียนในการจับจ่ายใช้สอยได้อีก 2,000-2,500 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าของผู้ผลิต ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) และเกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะทำให้ผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้น 400-500 ล้านบาท และเป็นการสร้างรายได้ต่อเนื่องไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เพิ่มการจ้างงาน ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ วิธีการกำกับดูแล ทั้ง 2 โครงการนั้น ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน โดยจะพิจารณากำหนดกรอบนโยบายและหลักเกณฑ์ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชนเพื่อดำเนินการตามโครงการฯ ในส่วนกลาง มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชนระดับจังหวัด เพื่อดำเนินการตามโครงการในแต่ละจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
ดูเหมือนจะดูดี แต่ก็ไม่รู้ว่าในทางปฏิบัติ จะดูดีอย่างที่ว่าหรือไม่ เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่าที่ใดมีวิกฤต ที่นั่นยอมมีโอกาส และวิกฤตของแพงในครั้งนี้ คงเป็นโอกาสทำเงินให้กับใครได้หลายๆ คนเลยทีเดียว