หลังจากมองดูกระทรวงอื่นๆ พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ใช้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ เป็นข้ออ้างในการสร้างโครงการ ตั้งงบประมาณรวมกันแล้วเป็นแสนๆล้านบาท ด้วยเหตุผลแบบครอบจักรวาลว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเหมือนปีที่แล้วอีก ก็ถึงรอบของกระทรวงพาณิชย์ที่จะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสบ้าง โดยยกเอาเรื่อง ของแพง ซึ่งกำลังเป็นความเดือดร้อนของประชาชน ที่นับวันจะรุนแรงขึ้น มาเป็นเงื่อนไขในการทำโครงการ โดยอ้างว่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
การประชุมคณะรัฐมนตรี สัญจร ที่ จังหวัดภูเก็ต เมื่อวานนี้ มีมติอนุมัติค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการลดค่าครองชีพไทยช่วยไทย วงเงิน 1,620 ล้านบาท แยกเป็นโครงการโชห่วยช่วยชาติ "ร้านถูกใจ" (หรือโครงการ 1 ร้านค้า 1 ชุมชน) วงเงิน 1,320 ล้านบาท และโครงการมหกรรมธงฟ้าลดค่าครองชีพไทยช่วยไทย วงเงิน 300 ล้านบาท
โครงการโชห่วยช่วยชาติ หรือโครงการร้านถูกใจนี้ จะเป็นการจัดหาสินค้าจำเป็น 20 รายการ เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำตาลทราย ผงชูรส น้ำปลา ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฯลฯ จำหน่ายให้กับร้านโชห่วยในชุมชุน 10,000 แห่งทั่วประเทศ ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด เพื่อให้ร้านค้าเหล่านี้ ขายสินค้าให้ประชายในราคาถูก เป็นการแก้ไขปัญหาสินค้าแพง ตามสูตร” ธงฟ้า” แต่ขนาดใหญ่กว่า และมูลค่าโครงการสูงกว่าหลายเท่า
ทำครั้งเดียว ได้คุ้ม ไม่ต้องจัดงานบ่อยๆ เก็บทีละสิบล้าน ยี่สิบล้าน เหมือนมหกรรมธงฟ้าทั้งหลายแหล่ ที่ กระทรวงพาณิชย์ชอบงัดมาใช้แก้ปัญหาสินค้าแพง โดยไม่มีตัวชี้วัดเลยว่า แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ มีแต่งบประมาณในการจัดงานครั้งละ หลายร้อยล้านบาท ที่ตกไปอยู่ในมือของผู้รับจ้างจัดงาน หลังจากที่จัดสรรให้กับผู้มีอำนาจในการอนุมัติโครงการแล้ว
เป็นน้ำซึมบ่อทราย ที่ทำให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่กำกับดูแลกรมการค้าภายใน ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง มาต่อเนื่องกันหลายปี
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อ้างว่า โครงการโชห่วยช่วยชาตินี้จะช่วยให้ประชาชนประมาณ 10 ล้านคน ซื้อสินค้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาดประมาณร้อยละ 20 คาดว่าจะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 36,000 ล้านบาท เพิ่มความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีส่วนช่วยเพิ่ม จีดีพีของประเทศ นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังจะมีส่วนช่วยชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าอื่นๆ ในท้องตลาด
ส่วนโครงการธงฟ้า ชะช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนประมาณ 5 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000-1,200 ล้านบาท และเพิ่มเงินหมุนเวียนในการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 2,000-2,500 ล้านบาท
ถ้าหากมันดีจริง ได้ผลจริง อย่างที่เขียนไว้ในเอกสารประกอบการของบประมาณ ทำไมจึงไม่เพิ่มจำนวนร้านค้า ตั้งบประมาณให้มากกว่านี้ ประชาชนที่ได้ซื้อสินค้าราคาถุก แทนที่จะเป็น 10 ล้านคน จะได้เพิ่มเป็น 20 หรือ 30 ล้านคน ภาระค่าใช้จ่ายแทนที่จะลดลง 36,000 ล้านบาท ก้จะลดลงได้ถึง 72,000 หรือถึงแสนล้านบาท
สูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาของแพง ของ กระทรวงพาณิชย์ คือ แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คุมราคาสินค้า และขายของถูก เพราะว่า เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และมีโอกาสที่จะแสวงหาประโยชน์ ในกรณีของการขายของถูกด้วย ปัญหาของแพงทุกวันนี้ สาเหตุสำคัญมาจาก ปล่อยให้ บริษัท ปตท. ซึ่งรัฐบาล เป็นเจ้าของ ขึ้นราคาได้ตามใจชอบ โดยอ้างว่า เป็นระบบตลาดเสรี ทั้งๆที่ ปตท. เป็นผู้ผูกขาดธุรกิจพลังงานครบทุกขั้นตอนเพียงรายเดียวในประเทศ ตลาดพลังงานจึงเป็นตลาดผูกขาด ที่กลไกการแข่งขันที่ไม่ทำงาน แต่เวลาจะขึ้นราคา หรือ ที่กระทรวงพลังงานเลี่ยงไปใช้คำว่า “ ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน” กลับมาอ้างเรื่องกลไกตลาด
ของแพง นอกจากเพราะราคาน้ำมันสูงขึ้นตามใจชอบ ของ ปตท. แล้ว ยังเป็นเพราะระบบการผูกขาดตัดตอน ของผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ซึ่งมีอยู่ เพียงไม่กี่รายที่มีอำนาจเหนือตลาด การควบคุมช่องทางการจัดจำหน่ายของธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ ทั้งทีเป็นของไทยและต่างชาติ กระทรวงพาณิชย์ มีพรบ. การแข่งขันทางการค้า เป็นเครื่องมือ ในการกำกับดูแล ไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ รังแกผู้ประกอบการรายเล็กๆ ไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย รวมกันกันตั้งราคาที่เอาเปรียบผู้บริโภค แต่กฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้มาแล้ว 13 ปี กระทรวงพาณิชย์ ไม่เคยใช้กฎหมายฉบับนี้ ดูแลผู้บริโภคเลยแม้แต่ครั้งเดียว
โครงการโชห่วยช่วยชาติ ที่ใช้งบประมาณถึง 1,320 ล้านบาท ไม่มีระยะเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน มีแต่เวลาเริ่มต้นโครงการคือ สำหรับกรุงเทพ และจังหวัดใหญ่ๆ 15 จังหวัด เริ่มวันที่ 1 เมษายนนี้ ส่วนจังหวัดอื่นๆ จะเริ่มในเดือนพฤษภาคม ส่วนวิธีการบริหารจัดการ การใช้งบประมาณ ไม่มีรายละเอียดเลยว่า จะใช้เงินอย่างไร
ขอทายว่า งบประมาณส่วนใหญ่จะหมดไปกับ ค่าบริหารจัดการ ค่าที่ปรึกษา ค่าจัดซื้อ วางระบบไอที เพื่อบริหารการจัดส่งสินค้า ฯลฯ
เมื่อ 10 ปีก่อน สมัยนายเนวิน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลทักษิณ 1 เกิดปัญหา ร้านโชห่วย ร้องเรียนว่า ถูกธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ หรือ โมเดิร์นเทรด รุกเขามาเปิดสาขาทั่วทุกมุมเมือง ร้านโชห่วยแบบเก่าสู้ไม่ได้ นายเนวิน สบช่อง พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ตั้งบริษัทรวมค้าปลีกเข้มแข็ง เพื่อฝึกอบรม พัฒนาร้านโชห่วยแบบเก่า ให้มีการบริหารจัดการที่ทันสมัย เพื่อสู้กับโมเดิร์นเทรด และเป็นยี่ปั๊วซื้อสินค้าจากผู้ผลิตรายใหญ่ ไปขายให้ร้านโชห่วยในราคาถูกกว่าท้องตลาด มีการตั้งผู้บริหารจากกลุ่มสหพัฒน์ มาเป็นประธาน มีที่ปรึกษา ซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้บริหารจากภาคเอกชน ที่มีชื่อเสียงหลายคน ตั้งเป้าไว้อย่างสวยหรูว่า จะมีร้านโชห่วยเป็นสมาชิกปีแรก 10,000 ราย ปีที่สอง 50,000 ราย และเพิ่มขึ้นเป็น 1แสนรายในปีที่ 3
เวลาผ่านไปหลายปี ไม่ปรากฎว่า บริษัทรวมค้าปลีกเข้มแข้ง มีสมาชิกกี่ราย และมีการดำเนินงานอย่างไรบ้าง แต่มียอดขาดทุนสะสมถึง 400 ล้านบาท งบประมาณที่ได้รับมาในตอนแรก 395 ล้านบาม หมดไปกับ ค่าใช้จ่าย ที่อ้างว่า เป็นการซื้อระบบคอมพิวเตอรื เพื่อใช้ในการบริหารจัดการคำสั่งซื้อ และกระจายสินค้า รวมทั้งค่าจ้างเงินเดือน ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน จนในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรี ยุค พลเอก สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติให้ยุบทิ้ง และรับภาระใช้หนี้ตกค้าง 11 ล้านบาท
โครงการโชห่วยช่วยชาติ ของนายบุญทรง โดยเนื้อหาแล้ว ไม่มี อะไรแตกต่างจาก บริษัทรวมค้าปลีกเข้มแข็ง ของนายเนวินเลย คือ กระทรวงพาณิชย์ จะเป็นยี่ปั๊ว ขายสินค้าราคาถูกให้กับร้านค้าย่อย เพื่อไปจำหน่ายต่อให้ประชาชนในราคาย่อมเยา ต่างกันเพียงแต่ นายเนวิน ใช้ปัญหาร้านโชห่วยเดือดร้อนจากการขยายตัวของโมเดิร์น เทรด เป็นโอกาสในการทำโครงการจัดซื้อ จัดจ้าง ในขณะที่นายบุญทรง ใช้ปัญหาความเดือดร้อนของแพง ของประชาชน สร้างโอกาสให้กับตัวเอง
ที่ต่างกันมากๆคือ บริษัทรวมค้าปลีกเข้มแข็ง ผลาญภาษีประชาชนไป 400 ล้านบาท ส่วนโครงการโชห่วยช่วยชาติ ตั้งเป้าว่า จะถลุงเงินแผ่นดินถึง 1,320 ล้านบาท เวลาผ่านไป 10 ปี ค่าตอบแทนของนักเลือกตั้ง สูงขึ้นถึง 3 เท่าตัว รัฐบาลนกแก้วยังมีหน้าบอกว่า สินค้าราคาถูกลง ประชาชนคิดกันไปเองว่าของแพง