xs
xsm
sm
md
lg

สองมาตรฐานระหว่าง ชนชั้น แม่ค้าข้าวแกงกับ ปตท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บุญทรง เตริยาภิรมย์
ราคาข้าวแกง เป็นดัชนี สะท้อนภาวะค่าครองชีพของประชาชนส่วนใหญ่ได้เที่ยงตรง และทันสมัยที่สุด เพราะข้าวแกง เป็นสินค้าพื้นฐานที่ทุกคนต้องบริโภค ข้าวแกงยังเป็นสินค้าที่มีสินค้าอื่นทดแทนได้เป็นจำนวนมาก และทดแทนได้โดยง่าย หากมีราคาหรือคุณภาพที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนั้น ข้าวแกงเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์ในตลาด เพราะมีทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค จำนวนมากแข่งกันขาย แข่งกันกิน ไม่มีใครที่มีอำนาจผูกขาด สามารถกำหนดราคาได้ตามใจชอบ

ตามหลักพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ ข้าวแกงจึงป็นสินค้าที่กลไกตลาด ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ราคาข้าวแกง จึงสะท้อนความเป็นจริงในทางเศรษฐกิจได้ดีที่สุด การควบคุมราคาข้าวแกง ของกระทรวงพาณิชย์ ถ้าพูดด้วยภาษาของลัทธิตลาดเสรีก็คือ การบิดเบือนกลไกตลาดนั่นเอง

กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยความเห็นชอบของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการ ได้ประกาศราคาจำหน่ายปลีกอาหารสำเร็จรูปแนะนำ หรือข้าวแกง ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ เป็นต้นไป โดยราคาที่กำหนดในร้านอาหารที่มีธงฟ้า ให้จำหน่ายจานละ 25 -30 บาท ส่วนร้านข้าวแกงริมถนน ให้จำหน่ายจานละไม่เกิน 30 บาท ศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้า ห้าง หรือห้างโมเดิร์นเทรด อาคารสำนักงาน ไม่เกินจานละ 35 บาท

นอกจากข้าวแกงแล้ว อาหารจานเดียว จานด่วนอื่นๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวหมูแดง ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ เป็นต้น ก็อยู่ภายใต้ราคาควบคุมนี้เช่นกัน นอกจากนี้ กรมการค้าภายใน ยังจะประกาศว่า อาหารแต่ละชนิดมีต้นทุนและกำไรเท่าไรเพื่อให้ประชาชนใช้เป็นข้อมูล ในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหาร

ราคาข้าวแกงที่แพงขึ้นเป็นจานละ 30 ถึง 35 และ 40 บาท นั้น มีสาเหตุมาจากต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบทั้งหลาย ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจ และนโยบาย การขึ้นค่าจ้างแรงงาน เงินเดือน ค่าครองชีพข้าราชการ ที่มีผลทางจิตวิทยา

แม่ค้าข้าวแกงรายย่อย ถูกรัฐบาลผลักภาระแห่ง ความล้มเหลวในทางนโยบาย ทั้งๆที่ในตลาดข้าวแกง ผู้บริโภคมีอำนาจการตัดสินใจเหนือผุ้ขายว่า จะบริโภค หรือไม่ และจะบริโภคอย่างดี แต่การปล่อยให้ราคาข้าวแกงแพงขึ้นกว่าเดิม เป็นการประจาน ความล้มเหลวของ นโยบาย กระชากค่าครองชีพของรัฐบาลนกแก้ว ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ จึงต้องทำหน้าที่ ผักชีโรยหน้า ออกประกาศควบคุมราคาข้าวแกง เพื่อจะได้อ้างได้ว่า รัฐบาลสามารถควบคุมค่าครองชีพ ไม่ให้สูงขึ้นได้

ในขณะที่รัฐบาลบิดเบือนกลไกตลาด ในตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์อย่าง ตลาดข้าวแกง ด้วยการออกประกาศควบคุมราคา แต่ในตลาดที่มีการผูกขาดอย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ลงมาจนถึงปลายน้ำ โดยผู้ผลิตรายใหญ่เพียงรายเดียว คือ ตลาดพลังงานที่ถูกผูกขาดโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รัฐบาลกลับอ้างเหตุผลเรื่อง กลไกตลาด ในการขึ้นราคาพลังงาน โดยเฉพาะ การขึ้นราคาแก๊สแอลพีจี และเอ็นจีวี

ในขณะที่รัฐบาลตั้งท่าเอาเป็นเอาตายกัยแม่ค้าขายข้าวแกงริมทาง ทั้งประกาศราคาควบคุม หรือราคาแนะนำ ทั้งจะจำแนกแจกแจงว่า ข้าวแกงหนึ่งจานมีต้นทุนประกอบด้วยอะไรบ้าง รัฐบาลกลับไม่ยอม เปิดเผยราคาต้นทุนแก๊สธรรมชาติที่แท้จริงออกมา ปล่อยให้ ปตท. เป็นผู้ตั้งตัวเลขเอาตามใจชอบ และยังยอมให้บวกภาระต้นทุน ค่าใช้จ่ายทุกอย่างเข้าไปในราคาพลังงาน ตั้งแต่ค่าขนส่ง ค่าสร้างปั๊ม ค่าบริหารจัดการ ต้นทุนทางการเงิน แต่ไม่คิดบ้างว่า ต้นทุนของแม่ค้าข้าวแกงไม่ได้ มีเพียงหมู ผัก ปลา เท่านั้น แต่ยังมีค่าเช่าที่ ทั้งที่ถูกกฎหมาย และจ่ายใต้โต๊ะ ค่าดอกเบี้ยรายวัน ฯลฯ

แทนที่จะควบคุมการกำหนดราคาพลังงาน ในตลาดที่กลไกตลาดไม่ทำงาน เพราะมีการผูกขาดตัดตอนโดยผุ้ผลิตรายใหญ่เพียงรายเดียว ซี่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ข้าวแกงแพงขึ้น ก็กลับไปควบคุมราคา ในตลาดที่กลไกตลาดทำงานได้ดี เพราะมีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ อย่างตลาดข้าวแกง

นี่คือ ระบบสองมาตรฐานอย่างแท้จริง ในสังคมไทย ไม่ใช่สองมาตราฐานระหว่าง อำมาตย์กับไพร่ เพราะทั้งอำมาตย์และหัวหน้าไพร่ ได้จับมือปรองดองกันแล้ว แต่เป็นสองมาตรฐานระหว่างทุนผูกขาดยักษ์ใหญ่ อย่างเช่น ปตท. กับ คนหาเช้ากินค่ำ อย่าง แม่ค้าข้าวแกงริมถนน
กำลังโหลดความคิดเห็น