xs
xsm
sm
md
lg

“ข้าวแกงธงแดง”ประกบธงฟ้า “เพื่อไทย” เอาแน่ 25บาท ดีเดย์ 9 ก.พ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย มีการหารือถึงปัญหาปากท้องของประชาชน ส่วนใหญ่ เห็นควรจะส่งสัญญานไปถึงนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เพื่อให้ลงไปดูสถานการณ์จริงในตลาดสดผักผลไม้ต่างๆ ว่าราคาถูกหรือแพงขนาดไหน และเร็วที่สุด
มีรายงานด้วยว่า ในวันที่ 9 ก.พ.นี้ หลังจากอธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เสนอให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เห็นชอบการประกาศใช้ราคาแนะนำอาหารสำเร็จรูปจานเดียว เพื่อแก้ปัญหาอาหารจานด่วนราคาแพง ด้วยนั้น
พรรคฯ มีแนวคิดที่จะตั้งร้าน “ข้าวแกงธงแดง” ขึ้นภายใต้สโลแกนที่คิดไว้เบื้องต้นว่า “เราทำได้ กำไรมี” โดยเบื้องต้นอาจจะมีทั้งหมด 9 จุด อยู่ฝั่งพระนคร 6 จุดและฝั่งธนบุรี 3 จุด ซึ่งจะจำหน่ายอาหารราคาถูกเพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน อาทิ ข้าวแกง 1 อย่างราคา 20 บาทพร้อมน้ำดื่ม และข้าวแกง 2 อย่างราคา 25 บาทพร้อมน้ำดื่ม เป็นต้น
วันเดียวกัน นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เตรียมเสนอให้นายบุญทรง เห็นชอบการประกาศใช้ราคาแนะนำอาหารสำเร็จรูปจานเดียว เพื่อแก้ปัญหาอาหารจานด่วนราคาแพง โดยจะประกาศใช้ราคาแนะนำได้วันที่ 9 ก.พ. 55 หรืออย่างช้าภายในสัปดาห์นี้ โดยราคาแนะนำจะแยกเป็นร้านในกลุ่มมิตรธงฟ้าไม่เกินจานละ 25-30 บาท ร้านอาหารริมทางทั่วไปไม่เกินจานละ 30 บาท และร้านในศูนย์อาหารตามห้างค้าปลีกสมัยใหม่ หรือห้างโมเดิร์นเทรด อาคารสำนักงานไม่เกินจานละ 35 บาท โดยจะใช้ดูแลเฉพาะอาหารจานเดียว เช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวหมูแดง ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ เป็นต้น
นอกจากนี้กรมจะประกาศรายละเอียดหลักเกณฑ์ ของต้นทุนอาหารจานด่วนให้ประชาชนรับทราบด้วย ว่าอาหารแต่ละชนิดมีต้นทุน และกำไรเท่าไรเพื่อให้ประชาชนใช้เป็นเครื่องมือตัดสินใจเลือกซื้ออาหาร ว่าร้านใดขายเหมาะสม หรือราคาแพงเกินไป อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นกรมฯจะให้เวลาร้านอาหารได้ปรับตัว ในการลดราคาไปก่อน 1-2 สัปดาห์ ส่วนการหารือกับศูนย์อาหารในห้างโมเดิร์นเทรด ทั้งหมดยินยอมจะขายในราคาที่กำหนดไม่เกินจาน 35 บาท แต่ต้องใช้เวลาในการปรับลดราคาเช่นกัน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้จ่ายและค่าครองชีพ ต่อการควบคุมราคาอาหารจานเดียวไม่เกินจานละ 25-30 บาท กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.7 เห็นด้วย ร้อยละ 32.1 ไม่เห็นด้วย และ ร้อยละ 5.2 ไม่มีความเห็น แต่หากจะปรับขึ้นราคาควรปรับขึ้นให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ โดยไม่เกินจานละ 3-5 บาท หรืออาจไม่ต้องปรับขึ้นเลย เพราะขณะนี้ค่าครองชีพของประชาชนสูงอยู่แล้ว ส่วนการดูแลราคาพลังงานในช่วงนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 67.8 ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะปรับขึ้นอีก ร้อยละ 12.1 เห็นด้วยให้ปรับ และร้อยละ 20.1 ไม่มีความเห็น แต่หากขึ้นราคาจริง ควรทยอยปรับขึ้นเพื่อไม่ให้เดือดร้อน หรือขึ้นรวมกันสูงสุดไม่เกิน 2-3 บาทต่อลิตร
อีกด้าน ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) พบว่า"ดัชนีความเสี่ยงของคนกรุงเทพฯ ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์" พบสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหามากที่สุดคือ สินค้าราคาแพง ค่าครองชีพสูง 40.9% .
กำลังโหลดความคิดเห็น