xs
xsm
sm
md
lg

วาเลนไทน์ปีนีัคึกคัก โพลชี้ส่วนใหญ่ยังห่วงปัญหาเด็กแอบมีเพศสัมพันธ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โพลชี้ วาเลนไทน์ปีนี้คึกคักเงินสะพัดกว่า 2 พันล้านบาท “ดอกกุหลาบ” ยังครองแชมป์ความนิยม รองลงมาเป็นการมอบของขวัญ ขณะที่ “ยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์-ชูวิทย์” เป็นนักการเมืองที่ต้องการมอบกุหลาบมากที่สุด ยังห่วงปัญหาเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น คาดนิยมไปใช้บริการห้องพักรายวันมากที่สุด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจทัศนคติพฤติกรรมและการใช้จ่ายช่วงวันวาเลนไทน์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์ในระดับปานกลาง แต่พบว่ากลุ่มที่ให้ความสำคัญมาก คือ กลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากเป็นเทศกาลเฉพาะ

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39 ประเมินว่า ในปีนี้จะมีบรรยากาศคึกคักขึ้น เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวมากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น ขณะที่ร้อยละ 29.7 มองว่าจะคึกคักน้อยลง เนื่องจากสินค้าแพงขึ้น และเศรษฐกิจแย่ลง และอีกร้อยละ 31.3 คาดว่า บรรยากาศปีนี้จะไม่เปลี่ยนแปลง โดยวัยทำงานและครอบครัวยังมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง สะท้อนว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

สำหรับพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์ปีนี้ พบว่า จะมีการใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 1,348 บาท โดยเป็นการซื้อของขวัญให้คนรักเฉลี่ย 822 บาท ส่วนใหญ่ยังเน้นการซื้อดอกไม้ โดยเฉพาะดอกกุหลาบ รองลงมาเป็นของขวัญและอาหาร ทำให้คาดว่าปีนี้จะมีเงินสะพัดกว่า 2,791 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 5.13 แต่เป็นการเติบโตต่ำสุดในรอบ 6 ปี โดยปีที่แล้วมีเงินสะพัด 2,655.43 ล้านบาท ซึ่งจากการสำรวจยังพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์เป็นลำดับที่ 5 รองจากวันพ่อและวันแม่ วันปีใหม่ วันเกิด และ วันสงกรานต์
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ขณะที่สีของความรักที่สมหวังส่วนใหญ่มองว่าเป็นสีชมพู รองลงมาเป็นสีแดงและสีขาว ส่วนความหมายของความรักส่วนใหญ่มองว่าคือความสุข รองลงมาเป็นการร่วมทุกข์ร่วมสุขและกำลังใจ ส่วนนักการเมืองที่ต้องการมอบดอกกุหลาบมากที่สุด ร้อยละ 30.4 คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร้อยละ 21.1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และร้อยละ 10.8 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่มีความเป็นห่วงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มนักศึกษา ซึ่งปีนี้ยังพบว่าสถานที่ที่วัยรุ่น จะไปมีเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่เป็นห้องพักรายวัน รองลงมาเป็นอพาร์ตเมนต์และที่บ้าน

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังคงประเมินว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 1 จะขยายตัวร้อยละ 1.5-2 โดยส่วนใหญ่ประชาชนยังมีความเป็นห่วงปัญหาค่าครองชีพ และส่วนใหญ่ร้อยละ 62 เห็นด้วยหากกระทรวงพาณิชย์จะคุมราคาอาหารจานด่วนให้อยู่ในระดับ 25-30 บาท แต่หากมีความจำเป็นต้องปรับราคาอาหารผู้ประกอบการก็ควรค่อยๆ ปรับตามความเหมาะสมของค่าครองชีพไม่เกิน 5 บาท นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 67.8 ยังไม่เห็นด้วยกับการขึ้นราคาพลังงานในช่วงนี้ เนื่องจากค่าครองชีพสูงอยู่แล้วและกลัวราคาสินค้าต่างๆ ขึ้นตามไปด้วย และจะทำให้เกิดภาวะช็อกด้านความเชื่อมั่นด้านพลังงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น