xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนจับตาแปรรูป ปตท. ชี้สถานการณ์พลิกง่ายมาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา
“อิฐบูรณ์” เตือนจับตาแปรรูป ปตท.ใกล้ชิด เนื่องจากหุ้นแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ มีมูลค่าเล็กน้อยถ้าเทียบกับความมั่งคั่งของ ปตท. ระบุใช้คนแค่ 10-20 คน ก็จัดการเรื่องนี้ได้ง่ายมาก อีกทั้งทรัพย์สินที่ยังคืนรัฐไม่หมด ตามคำพิพากษาศาลปกครองปี 50 ก็จะจบลงทันที ด้าน “ศาสตรา” ชี้จะเป็นการผูกขาดโดยเอกชนสมบูรณ์แบบ และอาจนำไปสู่การยึดประเทศผ่านทางการเลือกตั้ง


วันที่ 31 ม.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายศาสตรา โตอ่อน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ร่วมรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

โดย นายอิฐบูรณ์กล่าวว่า อยากพูดถึงต้นทุนเนื้อก๊าซ NGV ที่ ปตท.แสดงอยู่ที่ 8 บาทเศษๆ พอไปตรวจสอบ ตลาดที่มีการแข่งขัน เช่น อเมริกา อยู่ที่ 4 บาท/กก. อีกทั้งพบว่ามีระบบผลิตก๊าซมี 2 เส้นทาง คือจากฝั่งอ่าวไทย และมีอีกเส้นทางเพิ่มเติมมา ในช่วงปี 41-42 คือจากฝั่งพม่า ซึ่งราคา 2 ฝั่งต่างกัน โดยรัฐไทยกลัวไม่มีคนมาลงทุนเลยตั้งค่าภาคหลวงในอัตราที่ต่ำ ส่วนฝั่งพม่าตั้งราคาที่สูงกว่า แต่อย่างไรก็ดีปตท.สผ.ก็ได้เข้าไปมีหุ้นด้วย อย่างน้อย 10-20 เปอร์เซ็นต์ สมมติราคาที่อ่าวไทยอยู่ที่ 2 บาท/กก. ฝั่งพม่าอยู่ที่ 7 บาท/กก. โครงสร้างที่ขุนชง (ข้าราชการระดับสูงที่เข้าไปนั่งตำแหน่งประธานบอร์ด) ชงกัน คือมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง สูตรคำนวณต้นทุนเนื้อก๊าซ และสูตรตัวท่อก๊าซ ทำกันตอนปี 50 ก่อนมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในการให้คืนท่อก๊าซ ปรากฏว่าเขาใช้ราคาจาก 2 ฝั่งมารวมกัน คือ จากทางอ่าวไทยและพม่า และถัวเฉลี่ย ซึ่งราคามันก็ตั้งขยับขึ้น แล้วก็ใช้วิธีการต่างๆ ที่ถูกกฎหมาย ถูกขั้นตอน ฟอกผิดให้เป็นถูกได้

นอกจากนี้ มีการเร่งเร้าเศรษฐกิจบนกระดาษเกิดขึ้น เช่นรัฐบาลประกาศจะให้จีดีพีโตเพิ่มขึ้น มันก็มีผลไปสู่คนเขียนแผนต่างๆ ก็เสนอต้องมีโรงไฟฟ้า ต้องซื้อก๊าซเพิ่ม ต้องกู้เงิน ชงกันแบบนี้ จากนั้นก็ไปทำสัญญากับฝั่งพม่า แต่ทางโรงไฟฟ้าราชบุรีก็ไม่เรียบร้อย ท่อก๊าซตัวเองก็ยังไม่เรียบร้อย ฝั่งพม่าแค่ตั้งแท่นขุดเจาะ พร้อมสั่งจ่าย แต่พอตัวเองยังไม่พร้อม จึงเกิดค่าไม่ต้องใช้ก็ต้องจ่าย ซึ่งรวบรวมภายในปี 41-43 รวมแล้วเสียไป 3.6 หมื่นล้านบาท เงินที่เสียไปทุกอย่างถูกยัดอยู่ในราคาเนื้อก๊าซและก็ผลักภาระมาให้ผู้ซื้อก๊าซรายใหญ่ นั่นก็คือโรงไฟฟ้าราชบุรี ซึ่งก็คือ กฟผ.(การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ซึ่ง กฟผ.ก็ยอมจ่าย แต่หลักภาระมาที่ค่า FT ของประชาชน นี่คือ 8 บาทเศษที่ ปตท.ขายให้ กฟผ. ที่เขานำมาอ้างอิงราคา ซึ่งมาจากโครงสร้าง-วิธีการที่พิกลพิการ

นายอิฐบูรณ์กล่าวถึงแนวคิดที่จะให้กองทุนวายุภักษ์ไปซื้อหุ้น ปตท.2 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ขาดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ว่า กรณีฟ้องศาลปกครองสูงสุดเรื่องการแปรรูป ปตท. ถึงแม้ว่าแพ้ในส่วนที่ศาลเห็นว่าให้ ปตท.แปรรูปได้ เพราะเกรงว่าจะเกิดความเสียหายหากให้คืนมา แต่สาระสำคัญของศาลปกครองสูงสุด คือ พิพากษาให้ “กระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ บมจ.ปตท.” นี่คือหัวใจสำคัญ แต่ถ้าวันนี้ขาย 2 เปอร์เซ็นต์ไป ทั้งหมดที่ศาลว่ามาก็หลุดติดตามไปด้วย ทั้งสิทธิ ทรัพย์สินต่างๆ

ทั้งนี้ สตง.(สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ก็ได้ติดตามเรื่องนี้ และรายงานว่า มีการคืนทรัพย์สินที่ไม่ครบอยู่ เท่ากับว่ายังมีการยักยอกสมบัติของแผ่นดิน แล้วยังค้างคา ถ้าปตท.แปรรูปได้เมื่อไหร่ ตรงนี้จบหมด มูลค่าท่อนับหมื่น นับแสนล้านหลุดทั้งยวง และการเปลี่ยนรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชน มีผลเปลี่ยนคือสิทธิที่ได้ เช่น สิทธิเล็กๆ ที่บังคับให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ที่ซื้อนำมันสำเร็จรูปตั้งแต่ 1 หมื่นลิตรขึ้นไป ต้องซื้อกับ ปตท.เท่านั้น สิทธินี้จะคืนหรือไม่ ปกติการซื้อขายของภาครัฐต้องมีการประมูล แต่นี่ไม่ต้อง เพราะอาศัยความเป็นรัฐวิสาหกิจมากอบโกยผลประโยชน์ และเมื่อเติบโตเต็มที่ คงรู้ดีว่ากินจนเราแทบเหลือกระดูกแล้ว เลยกำลังจะโบยบินไปเกาะกินที่อื่น

หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคกล่าวอีกว่า ขอเรียกร้องประชาชนต้องติดตามการแปรรูปปตท.ใกล้ชิด เพราะสถานการณ์พลิกง่ายมาก เพราะหุ้นของกระทรวงการคลังที่ถืออยู่ 51 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 1,460 ล้านหุ้น ถ้า 2 เปอร์เซ็นต์ ก็อยู่ที่ 29-30 ล้านหุ้นเท่านั้น และเป็นหุ้นแช่แข็ง คือล็อคที่ 10 บาท 30 ล้านหุ้น ก็แค่ 300 ล้านบาท เงินที่ให้ตอบแทนผู้บริหารระดับสูงรวมแล้ว 300 ล้านบาทต่อปี ใช้คนแค่ 10-20 คน ก็จัดการตรงนี้ได้ง่ายมาก ที่จะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนได้ทันที แต่ชีวิตพี่น้องประชาชนจะถึงจุดที่เรียกว่ามหาวิบัติ

ด้าน นายศาสตรากล่าวว่า ก่อนแปรรูป ตามระบบสากลของโลกใบนี้ สิ่งที่ต้องทำอย่างแรก คือ 1. ต้องสร้างตลาดพลังงานให้เกิดขึ้น 2. ต้องแบ่งแยกตลาดพลังงานให้ชัดเจน เป็นตลาดโครงข่าย กับตลาดบริการ 3. ต้องมีระบบกำกับการที่เข้มแข็ง เพราะถ้าปล่อยไปโดยที่ยังไม่เรียบร้อยเสร็จเลย จะเป็นการเปลี่ยนจากการผูกขาดโดยรัฐ กลายเป็นผูกขาดโดยเอกชนแบบสมบูรณ์แบบ ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่ากลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลัง ก็คือกลุ่มที่ถนัดการผูกขาด และกลุ่มนี้อาจอยู่ในประเทศที่เป็นแหล่งพลังงานก็ได้ จึงเห็นถึงมูลค่าพลังงานว่ามันมากมายมหาศาล ซึ่งถ้าผูกขาดโดยเอกชนไม่ใช่ระบบเสรีนิยม แต่คือทุนสามานย์ การผูกขาดที่ผ่านมาของไทยคือการผูกขาดโดยสัมปทานโทรคมนาคม คราวนี้ทุนสามานย์จากโทรคมนาคมกำลังจะเปลี่ยนวิธีการ โดยเอาเงินมาซื้อบริษัทของรัฐ ซึ่งบริษัทอันนี้มีโครงข่ายด้วย ซึ่งใครที่มาซื้อบริษัทนี้ไปจะเป็นอภิมหาผูกขาด และอาจนำไปสู่การยึดประเทศผ่านทางการเลือกตั้งได้




ศาสตรา โตอ่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น