ผอ.สาธิตจุฬาฯ ยันเด็กป่วยมือเท้าปาก 22 ราย อาการไม่รุนแรง นักวิชาการไวรัสวิทยา เผย เด็กไทยต่ำกว่า 5 ปี ยังไม่มีภูมิต้านทานโรคถึง 60% พบปี 55 ไทยแพร่เชื้อหนักสุดรอบ 30 ปี มีการเปลี่ยนสายพันธุ์จาก CA16 เป็น CA6 แต่อาการและความรุนแรงไม่แตกต่าง ด้านอธิการบดีจุฬาฯ แนะ ทำตามมาตรการของ สธ. ช่วยสกัดโรคได้
วันนี้ (17 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.สุปราณี จิราณรงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ร่วมกันแถลงข่าวโรคมือเท้าปากในประเทศไทย
ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า จากกรณีที่พบนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม จำนวน 22 ราย ป่วยเป็นโรคมือเท้าปากจนสั่งปิดโรงเรียนเป็นเวลา 2 วัน คือ วันที่ 17-18 ก.ค.และหยุดต่อเนื่องในวันที่ 19-20 ก.ค.ซึ่งเป็นวันพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาฯ นั้น เชื่อว่า จะไม่กระทบต่อการเรียนการสอนของนักเรียน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกจนเกินไป แต่ต้องไม่ประมาท เพราะหากดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างเคร่งครัดแล้ว เชื่อว่า จะสามารถสกัดโรคได้
รศ.สุปราณี กล่าวว่า พบนักเรียนสาธิตจุฬาฯ ป่วยครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ก.ค.จำนวน 4 ราย จนกระทั่งเมื่อวันจันทร์ที่ 16 ก.ค.พบป่วยเพิ่มอีก 18 ราย จึงได้ดำเนินการปิดโรงเรียน และให้ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 5 จุฬาลงกรณ์ สังกัดสำนักอนามัยกทม.เข้าดำเนินการพ่นยาฆ่าเชื้อทุกห้องภายในโรงเรียน อย่างไรก็ตาม โดยปกติ โรงเรียนมีมาตรการในการทำความสะอาดโรงเรียนเป็นประจำอยู่แล้ว โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อแบบไม่เข้มข้น และจะเข้มข้นขึ้นในช่วงมีการระบาดของโรค รวมทั้งมีการกำจัดขยะ ดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อมให้มีความสะอาด สำหรับอาการป่วยของนักเรียนทั้ง 22 ราย จากการติดตามของอาจารย์พบว่า ยังไม่มีอาการรุนแรง
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า โรคมือเท้าปากไม่ใช่โรคใหม่ โดยไทยมีการพบมานาน 40-50 ปีก่อน มีผู้ป่วยทุกปี อัตราป่วย 10 ต่อแสนประชากร จำนวนผู้ป่วยพบบ่อยในช่วงเปิดเทอมและฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กมาอยู่รวมกันจำนวนมาก ทำให้เชื้อติดต่อกันได้ง่าย ทั้งนี้ โรคมือเท้าปากเกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (EV71)และค็อกซากี ซึ่งจากการศึกษาของศูนย์ฯ ตั้งแต่ปี 2551-2555 พบว่า ในปี 2551 เชื้อที่ทำให้เกิดโรคคือ EV71-C4 ปี 2552 คือเชื้อ EV71-C4 และค็อกซากี A16 (CA16) ปี 2553 คือ เชื้อ CA16 ปี 2554 คือ เชื้อ EV71-B5 และ CA16 และในปี 2555 คือ เชื้อ EV71-B5 และ CA6
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ผลจากการแยกเชื้อในห้องปฏิบัติการ จากจำนวน 400 ตัวอย่างในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่า 80% เป็นเชื้อ CA6 และ 20% เป็นเชื้อ EV71-B5 ซึ่งแสดงว่า ในปีนี้เชื้อที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปากมากในประเทศไทยได้เปลี่ยนสายพันธุ์จาก CA16 เป็น CA6 แม้ว่าอาการของโรคหรือความรุนแรง รวมทั้งแนวทางในการป้องกันโรคจะไม่แตกต่างกัน แต่การรู้ว่าป่วยจากเชื้อสายพันธุ์ไหนจะมีประโยชน์ในทางระบาดวิทยา โดยเชื้อ CA6 ในปี 2554 พบระบาดในประเทศญี่ปุ่น และปี 2555 พบระบาดในสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศไทยพบผู้ป่วยจากเชื้อ CA6 เมื่อปี 2551 แต่นานๆ จะพบผู้ป่วย 1 ราย
“ปี 2555 พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากมากที่สุดในรอบ 30 ปี จะเห็นได้จากการที่มีสิ่งส่งตรวจเพื่อแยกสายพันธุ์เชื้อมายังศูนย์ฯ 40-50 ตัวอย่างต่อวัน อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าถึงจุดสูงสุดของการแพร่เชื้อแล้วหรือไม่ เพราะในเดือนกรกฎาคมก็ยังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยโรคนี้ส่วนใหญ่พบในเด็กเล็ก แต่ในปีนี้พบการกระจายเชื้อในเด็กโตอายุไม่เกิน 12 ปีด้วย ซึ่งการเปลี่ยนสายพันธุ์จาก CA16 เป็น CA6 อาจมีผลต่อการติดเชื้อให้ขยายกลุ่มอายุกว้างขึ้น ซึ่งจะต้องมีการศึกษาต่อไป” ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.ยง กล่าวต่อไปว่า หากป่วยด้วยโรคมือเท้าปากจากเชื้อ EV71 จะมีความรุนแรงของโรคมากกว่าเชื้อค็อกซากี ซึ่งหากเชื้อ EV71 ติดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ จะมีโอกาสเสียชีวิตจากการที่เชื้อเข้าสู่สมอง ทำให้เกิดภาวะสมองสมองอักเสบและภาวะหายใจล้มเหลว 1 ใน 100 แต่ถ้าเกิดในเด็กโต จะมีโอกาสเพียง 1 ใน 1,000 เท่านั้น ส่วนถ้าเป็นเชื้อค็อกซากี แม้จะเกิดในเด็กเล็ก อัตราการเสียชีวิตก็น้อยอยู่แล้ว
ศ.นพ.ยง กล่าวด้วยว่า จากการศึกษาภูมิต้านทานของโรคที่เกิดจากเชื้อ EV71-B5 พบว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี ถึง 60% ยังไม่มีภูมิต้านทานของโรคนี้ ขณะที่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป มีภูมิต้านทานแล้วถึง 90% แสดงว่า เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยเพียง 10% ซึ่งการที่เด็กมีภูมิต้านทานเชื้อ EV71-B5 จะสามารถป้องกันเชื้อ EV71-C4 ได้ด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ต้องตกใจ แม้เชื้อที่แพร่กระจายจะเป็นคนละสายพันธุ์ ทั้งนี้ การที่เด็กมีภูมิไม่ได้หมายความว่าเคยป่วยโรคนี้มาก่อน อาจติดเชื้อโดยไม่มีอาการและทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันได้
“เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมีประมาณ 4 ล้านคน ในจำนวนนี้ 2 ล้านคนมีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคนี้ได้ ซึ่งตามหลักวิชาการ ผู้ติดเชื้อ 1 คน จะแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ 3 คน เพราะฉะนั้นหากปล่อยไปตามธรรมชาติของโรค ไม่มีการดำเนินการป้องกันใดๆ โรคนี้จะหยุดการระบาดต่อเมื่อมีคนติดเชื้อแล้ว 2 ใน 3 หรือประมาณ 1.2 ล้านคน แต่จะไม่มีการปล่อยให้มีการแพร่กระจายเชื้อรุนแรงถึงขนาดนี้” ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกด้วยว่า ลักษณะอาการของผู้ป่วยจะมีไข้ น้ำลายยืด ไม่กลืนน้ำลาย เพราะมีแผลในคอและเพดานปาก คล้ายแผลร้อนใน ฝ่ามือ ฝ่าเท้า มีตุ่มน้ำใส บางรายอาจมีตุ่มใสขึ้นตามข้อเข่า ข้อศอก และง่ามก้น ส่วนบริเวณตัวจะมีน้อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มอายุ 1-2 ปี อายุ 5 ปีขึ้นไป พบน้อย ปัจจุบันไม่มียาต้านไวรัส การรักษาจะดำเนินการรักษาตามอาการ และไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อ แต่มีการวิจัยอยู่ในขั้นทดลองที่ประเทศไต้หวัน
“ขณะนี้ มีโรคเฮอร์แปงไจน่า (Herpangina) ที่มีลักษณะอาการคล้ายโรคมือเท้าปากเกิดขึ้นในเด็กเช่นกัน อาการของโรคจะไม่มีโอกาสที่เชื้อเข้าสู่สมอง และจะเกิดตุ่มใสเหมือนแผลร้อนในที่บริเวณปาก ไม่เกิดที่บริเวณมือและเท้า แต่จะต้องพาเด็กที่ป่วยไปพบแพทย์” ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.ยง กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันจะต้องเน้นในเรื่องสุขอนามัย ทั้งของเด็กและสิ่งแวดล้อมให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่และสิ่งของที่เด็กจะต้องใช้ร่วมกัน เช่น ของเล่นในห้างสรรพสินค้า ในระยะนี้ อาจจำเป็นต้องรณรงค์ให้มีการดูแลความสะอดามากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กที่ป่วยแพร่เชื้อ จะช่วยลดอัตราผู้ป่วยของโรคลงได้
ศ.นพ.ยง กล่าวถึงกรณีที่มีการระบาดของโรคมือเท้าปากในประเทศกัมพูชา ว่า ที่มีการระบุว่าเกิดจากเชื้อ EV761-D4 ไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะปัจจุบันยังไม่มีสายพันธุ์นี้ ตัวสุดท้ายที่มีการระบุคือ EV71-B5 ซึ่งเชื้อที่ระบาดอยู่ในประเทศกัมพูชาไม่ทราบว่าเป็นสายพันรธุ์ไหน แต่น่าจะติดจากประเทศเวียดนามที่มีการระบาดของเชื้อ EV71-C4 ในปี 2554 จนทำให้เด็กเวียดนามตายถึง 500 คน เชื้อในประเทศกัมพูชาจึงน่าจะเป็นเชื้อ EV71-C4 ด้วย