ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปัจจุบันครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ต่างใช้ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)ในการประกอบอาหาร โดยคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 20 ล้านครัวเรือน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ”แอลพีจี” ในภาคครัวเรือนกลายเป็นสินค้าทางการเมืองที่จะต้องดูแลเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเพราะทุกครั้งที่แอลพีจีขึ้นราคาบรรดาอาหารจานด่วนก็จะขยับกันไปไกลกว่าที่แอลพีจีขึ้นเป็นส่วนใหญ่เพราะกลไกรัฐไม่สามารถดูแลราคาอาหารเหล่านั้นได้
...การแก้ปัญหาที่ง่ายสุดคือการตรึงราคาแอลพีจีเอาไว้
ทั้งนี้ หลังรัฐบาล ”ยิ่งลักษณ์” เข้ามาบริหารประเทศมีนโยบายชัดเจนว่าจะปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนกลไกตลาดโลกโดยอ้างถึงการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ปี 2558 ที่หากไทยยังอุดหนุนราคาพลังงานจะต้องสูญเงินจำนวนมากเพราะเท่ากับจะต้องอุดหนุนให้ประเทศเพื่อนบ้านไปด้วย ดังนั้นจึงเริ่มด้วยการทยอยขึ้นราคาเอ็นจีวีเดือนละ 0.50บาทต่อกิโลกรัมเป็นเวลา 12 เดือนจนครบ 6 บาทต่อกก.
ปรับขึ้นแอลพีจีภาคขนส่งเดือนละ 0.75 บาทต่อกก.(0.41บาทต่อลิตร) รวม 12 เดือนหรือครบ 9 บาทต่อกก. โดยเริ่มทยอยปรับขึ้น 16 ม.ค. 55 เป็นเดือนแรก ส่วนแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมที่ปรับขึ้นไตรมาสละ 3 บาทต่อกก.รวม 4 ครั้งนั้นได้มีมติตั้งแต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ที่เริ่มปรับขึ้นไตรมาสแรกเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2554 และต่อมารัฐบาล”ยิ่งลักษณ์”ก็มาสานต่อ นโยบายดังกล่าวน่าจะไปได้สวย
ทว่า ผลพวงของนโยบายประชานิยมการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่มีผล 1 ม.ค. 56 นำร่องใน 7 จังหวัดผสมกับราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ได้กลับ ผลักดันให้ราคาสินค้าต่างๆ ดาหน้ากันขึ้นราคาตั้งแต่ อาหารจานด่วนที่ขยับกันที 5-10บาทต่อจาน รถมอเตอร์ไซด์รับจ้างหน้าปากซอยที่ขึ้นกันที 5 บาทแต่น้ำมันลงกลับไม่ลง ฯลฯขณะที่รถบรรทุกแท็กซี่ก็คัดค้านหนักถึงขั้นชุมนุมปิด ถนนไม่ยอมรับขึ้นราคา NGV เกินกว่าที่ตนเองรับได้
เมื่อเสียงบ่นประชาชนดังขึ้นต่อเนื่องที่สุดรัฐบาล”ปู”ไม่สามารถนิ่งเฉยมติคณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กพช.) 14 พ.ค. 55 จึงสั่งถอยการขึ้นราคาพลังงานยกแผงโดยให้ตรึงราคาไว้ 3 เดือนหรือจนถึง 16 ส.ค. 55 ในส่วนของเอ็นจีวีและแอลพีจีขนส่งทำให้เอ็นจีวีราคาหยุดไว้ที่ 10.50 บาทต่อกก. แอลพีจีขนส่งอยู่ที่ 21.13 บาทต่อกก.
ขณะที่ราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมที่ขึ้นมาตามนโยบายจนครบ 12 บาทต่อกก.ก็ต้องถอยกลับสู่คำว่าลอยตัวก ล่าวคือเมื่อราคาโลกลดก็ต้องลด ขึ้นก็ต้องขึ้นซึ่งปรากฏว่าสิ่งที่ขึ้นมานั้นสูงกว่าราคาโลกทำให้รัฐต้องลดราคาลงมาโดยในเดือนมิถุนายนราคาดลง 3 บาทต่อกก.มาอยู่ที่ 27.98 บาทต่อกก. และก.ค.ลงอีก 3 บาทต่อกก.มาอยู่ที่ 24.86 บาทต่อกก.
นโยบายพลังงานดูเหมือนจะนิ่งไปแต่จู่ๆ ด้วยเหตุผลใดยังไม่เป็นที่แน่ชัด นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ของขึ้นให้ข่าวกับบรรดาสื่อมวลชนในวันที่ 12 ก.ค. ว่า วันที่ 16 ส.ค. 55 ที่ครบกำหนดตรึงราคาแอลพีจีขนส่งและเอ็นจีวีว่าจะต้องขึ้นแน่นอนแถมยังจะขึ้นภาคครัวเรือนไปพร้อมๆ กันเพื่อให้เป็นราคาเดียวป้องกันการใช้ผิดประเภท แต่จะมีมาตรการดูแลประชาชนที่มีรายได้ต่ำเช่นอาจจะดูจากบิลใช้ไฟฟรีไม่เกิน 50 หน่วย ซึ่งข่าวนี้เปิดขึ้นมาในวันศุกร์ที่ 13 ก.ค. ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยประเด็นว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลพอดี
ต่อมาข่าวนี้ก็ยังคงเป็นกระแสต่ออีก 1-2 วันแต่กลับพลิกประเด็นเป็นการออกมาปฏิเสธจากทุกส่วนรวมถึงนายอารักษ์เองว่าจะไม่ขึ้นภาคครัวเรือนแน่นอน 16 ส.ค.นี้ โดยยังคงยึดมติเดิมตรึงที่ 18.13 บาทต่อกก.ไปจนถึงสิ้นปีแต่ที่สุดต้องขึ้นแน่นอนโดยจะยึดที่ภาวะเงินเฟ้อ แถม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการโยนหินถามทางไปซะงั้น
จะด้วยเหตุผลใดไม่แน่ชัด แต่ที่แน่ๆ ข่าวนี้ทำให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้า แม่บ้านทั้งหลายร้อนใจหนักถึงกับมีการออกมาแสดงความเห็นคัดค้านจำนวนมาก ซึ่งยังรวมถึงกระทรวงพาณิชย์ที่กำลังขะมักเขม้นคุมราคาอาหารจานด่วนว่าคุมยากแน่ถ้าแอลพีจีครัวเรือนปรับราคา
นอกจากนี้ยังถูดอัดกลับจากพรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ว่าการขึ้นราคาแอลพีจีครัวเรือนจะทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นอีกอย่างมาก แถมลากยาวไปไกลโดยระบุว่าการขึ้นราคาครั้งนี้เพราะพรรคเพื่อไทยมีผู้ได้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซอีกด้วย
รมว.พลังงานสายตรงทักษิณมีหรือจะถูกโจมตีฝ่ายเดียว ว่าแล้วครั้นเมื่อแถลงชี้แจงกับนักข่าว นอกจากจะยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้เกี่ยวข้องผลประโยชน์จากแหล่งก๊าซ แต่กลับมีคำถามย้อนไปที่ฝ่ายค้านว่า “อยากถามกลับไปว่าหากปรับราคาแอลพีจีเป็นราคาเดียวกันผู้เสียประโยชน์จากการขโมยแอลพีจีจากภาคครัวเรือนไปใช้ภาคอุตสาหกรรมและขนส่งไม่ใช่คนฝั่งพรรรคเพื่อไทยแน่นอน “ เห็นการโต้เถียงกันเช่นนี้แล้วจึงอดเชื่อไม่ได้เลยว่า ”แอลพีจีครัวเรือน” เป็นสินค้าการเมืองและมีผลต่อคะแนนเสียงและประโยชน์ทับซ้อนจริงๆ