xs
xsm
sm
md
lg

ต้นเหตุเงินท่วมประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์


คำว่า “สภาพคล่อง” มักจะได้ยินที่เกี่ยวกับเรื่องจราจร โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ หากมีรถบนถนนมาก ทำให้รถติด หรือการจราจรติดขัด เรียกว่าสภาพคล่องไม่ดี คำว่า “สภาพคล่อง” มีใช้ในทางการเงินด้วย ไม่ว่าของส่วนบุคคลหรือของระบบ แต่เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับเรื่องจราจร หากมีเงินน้อย เรียกว่าสภาพคล่องไม่ดี หากมีเงินมากเรียกว่าสภาพคล่องดี

“สภาพคล่อง พอดี พอดี จึงจะดี” ดูไม่ใช่เรื่องยาก แต่กิเลสคน อวิชชาของระบบ ทำให้คนยากที่จะทำให้สภาพคล่องแบบพอดี พอดีได้

เป็นธรรมดา คนส่วนใหญ่คิดว่า ยิ่งมีเงินมาก ยิ่งสภาพคล่องมากยิ่งดี แต่การคิดมีเงินมากแบบสุดโต่ง จะไม่พ้นคิดเบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม คิดถึงแต่ตัวเอง ความคิดเช่นนี้ทำให้ระบบเดือดร้อน ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

ในทางพุทธศาสนา มีคำว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” แปลว่า ทางสายกลาง ประกอบด้วยข้อคิด ข้อปฏิบัติ ด้วยมรรคองค์ 8 ได้แก่ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ

เงินท่วมประเทศ หรือสภาพคล่องท่วมประเทศ คือความหมายเดียวกัน

ความเป็นไปของสภาพคล่องทางการเงิน

วิกฤตเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกา การพังทลายของตลาดแนสแดกซ์ในปี 2543 ทำให้เงินเหรียญสหรัฐเสียหาย ไม่ได้รับความเชื่อมั่น เงินไหลออกจากประเทศ ทำให้สภาพคล่องของระบบเสียหาย ทำให้เอกชนล้มลงแทบทั้งประเทศ ทำให้คนตกงานมาก ทำให้เกิดหนี้เสีย ประเทศสหรัฐอเมริกาต้องพิมพ์เงินมาใช้ (Quantitative Easing QE) 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

การพังทลายของตลาดแนสแดกซ์ในปี 2543 พบว่าเพดานหนี้ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องขออนุมัติจากรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มเพดานหนี้ไปจนถึงปี 2555 เป็นจำนวน 2.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าถึงปี 2559 เพดานหนี้สหรัฐฯ จะสูงกว่า 20 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

วิกฤตเศรษฐกิจประเทศยุโรป เงินเหรียญสหรัฐเป็นสกุลเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีส่วนแบ่งในตลาดมากที่สุดในโลก เงินที่ไหลออกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ไหลไปยังประเทศต่าง รวมไหลเข้าไปยังภูมิภาคยุโรป ทำให้ตลาดหุ้นยุโรปสูงขึ้นจากปี 2544 จนถึงปลายปี 2550 และพังทลายลงในปี 2551 ที่เรียกกันว่า Hamburger crisis ซึ่งส่งผลให้เกิดเป็นผลร้ายทางเศรษฐกิจแก่ยุโรป แบบเดียวกับที่เคยเกิดกับประเทศสหรัฐอเมริกาเนื่องจากการทลายของตลาดหุ้นแนสแดกซ์ในปี 2543 นั่นเอง ทำให้สภาพคล่องของภูมิภาคยุโรปเสียหาย ทำให้เอกชนในยุโรปและกลุ่มยูโรโซนล้มลง คนตกงานมาก และเกิดหนี้เสียสูงมาก ประเทศต่างๆ ต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากอียูและไอเอ็มเอฟมากกว่า 10 ประเทศ

ย้อนอดีตประเทศไทย ประเทศไทยเปิดตลาดหุ้นในปี 2518 การพังทลายของตลาดหุ้นในปี 2521 ทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย สภาพคล่องของระบบเสียหาย ภาคการผลิตและภาคการเงินล้มลง คนตกงาน เกิดหนี้เสีย ต้องลดค่าเงินบาท เกิดโครงการ 4 เมษา ทางการต้องเข้าควบกิจการไฟแนนซ์และเครดิตฟองซิเอร์ 25 แห่ง และเข้าโครงการไอเอ็มเอฟเป็นครั้งแรก

การนำระบบ Maintenance margin และ force sell มาใช้ในปี 2536 ทำให้ตลาดหุ้นพังทลายลงในปี 2537 ทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย สภาพคล่องของระบบเสียหาย ภาคการผลิตและภาคการเงินล้มลง คนตกงาน เกิดหนี้เสีย ต้องลอยค่าเงินบาท เกิดโครงการ 14 สิงหาคม 2541 ทางการต้องปิดสถาบันการเงิน 56 แห่ง และเข้าโครงการไอเอ็มเอฟเป็นครั้งที่ 2 หนี้เสียดังกล่าวปรากฏไว้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.4 ล้านล้านบาท

ตลาดหุ้นคือสิ่งผิดปกติในระบบเศรษฐกิจโลก เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ตามกลไกที่นำเสนอข้างล่างนี้

ผู้เขียนนำข้อมูลของตลาดหุ้นมานำเสนอ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ตลาดหุ้น ตลาดเงิน และตลาดเงินตรา มีความสัมพันธ์ต่อกัน

สภาพคล่องของระบบเสียหาย ทำให้ประเทศไทยต้องเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มาแล้วถึง 2 ครั้ง

แต่ตอนนี้ สภาพคล่องกำลังท่วมประเทศไทย

สภาพคล่องของระบบหรือของประเทศไทย สามารถดูได้จาก “ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ” ที่ดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อทุนสำรองต่ำลง แสดงว่าสภาพคล่องลดลง เมื่อทุนสำรองสูงขึ้น แสดงว่าสภาพคล่องสูงขึ้น

น้ำท่วมประเทศทุกปี แต่ก็ท่วมแค่ปีละ 3-4 เดือน ก็หยุดท่วม น้ำท่วมประเทศ ท่วมเป็นบางจังหวัดเท่านั้น อย่างเช่นปี 2554 น้ำท่วมใหญ่ ก็ท่วมประมาณ 30 จังหวัดเท่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง

สภาพคล่องทางการเงินเริ่มท่วมประเทศไทยเมื่อปี 2549 ท่วมทั้งประเทศ ทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทย ท่วมตลอดทั้งปี ท่วมมาเป็นเวลา 6 ปีติดต่อกันแล้ว จังหวัดบึงกาฬ ที่ได้รับการประกาศให้เป็นจังหวัดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2554 ก็ไม่เว้น ก็ถูกสภาพคล่องทางการเงินท่วมเช่นกัน

ค่าเงินบาทหลังปี 2543 (2000) แสดงให้เห็นว่าเงินบาทแข็งขึ้นด้วย 2 สาเหตุ ที่เป็นสาเหตุให้สภาพคล่องท่วมประเทศไทย การแข็งค่าเงินบาท สอดคล้องกับการสูงขึ้นของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ซึ่งได้นำเสนอกราฟไว้ด้านล่าง

สภาพคล่องท่วมประเทศไทย มาจาก 2 สาเหตุหลัก

เกิดจากความเสียหายของค่าเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้เงินเหรียญสหรัฐดังกล่าวไหลเข้ามาประเทศไทยประมาณปี 2544 จนทำให้ประเทศไทยสามารถใช้หนี้ไอเอ็มเอฟประมาณ 1.2 หมื่นล้านหมดในกลางปี 2546

เกิดจากการเปิดตลาดอนุพันธ์ หรือการซื้อขายตัวเลขอ้างอิงต่างๆ ล่วงหน้า เช่นตัวเลขราคาสินค้าเกษตรล่วงหน้า ดัชนีตลาดหุ้น SET50 ล่วงหน้า ฯลฯ ดูจากตารางนี้


ตัวเลขอ้างอิงบางตัวไม่น่าสนใจ เช่น ตัวเลขอ้างอิงราคาสินค้าเกษตรล่วงหน้า(AFET) ซึ่งนำมาเปิดตัวนำร่องเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2547

ตัวที่น่าสนใจ คือตัวที่ปรากฏในตาราง “อนุพันธ์ตลาดทุน” เนื่องจากเก็งกำไรได้ง่ายกว่า ไม่ว่าตัวเลขดัชนี SET50 อ้างอิง ราคาหุ้นอ้างอิง ราคาทองคำอ้างอิง ราคาน้ำมันอ้างอิง

SET50 index futures ที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 มีผลให้เงินไหลเข้ามาเก็งกำไรอย่างรุนแรง ประเทศไทยเกิดรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 อีก 3 เดือนถัดมา คือวันที่ 19 ธันวาคม 2549 กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า คือแทนที่การรัฐประหารจะทำให้คนไม่เชื่อมั่น ทำให้เงินไหลออก แต่ปรากฏว่าเงินไหลเข้าอย่างรุนแรง จึงต้องออกมาตรการดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยยังอนุมัติ กลต.ให้เอกชนไทย สามารถนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศถึง 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

เงินที่ไหลเข้ามาในประเทศไทย นอกจากจะมาเก็งกำไรในหุ้นสามัญ และตัวเลขอ้างอิงล่วงหน้าแล้ว ก็ยังเข้ามาซื้อตราสารหนี้ด้วย ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรค่าเงินบาทไปพร้อมกัน

ตัวเลขอ้างอิงล่าสุด ที่เปิดซื้อขาย คือ ตัวเลข Dollar futures ซึ่งเปิดให้ซื้อขายเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมานี้

เกษตรกรดำนา ทำให้เกิดเมล็ดข้าว เรียกว่าเกิดผลผลิตจริงต่อระบบ

แต่การซื้อขาย Futures คือการซื้อขายตัวเลขอย่างเดียว ไม่มีตัวสินค้าจริง ซึ่งไม่ต่างกับการซื้อลอตเตอรี่ หวยบนดิน หวยใต้ดิน เป็นการใช้เงินต่อเงิน ซึ่งทำให้ไม่เกิดผลผลิตจริงต่อระบบ มันจึงเป็นอบายมุขอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอบายมุขกองโตที่สุดในโลก

การออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ทำให้ SET index ตกลงในวันเดียวประมาณ 100 จุด ต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าวในวันรุ่งขึ้น แสดงถึงความล้มเหลวในการออกมาตรการ พ่ายแพ้ต่อการสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้า ณ วันนั้นทุนสำรองอยู่ที่ระดับ 74,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทุกวันนี้ทุนสำรองสูงกว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่ออกมาตรการวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เป็นการตระหนักแล้วว่าสภาพคล่องท่วมประเทศ ทุนสำรองอยู่ที่ระดับ 74,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทุกวันนี้ทุนสำรองสูงกว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นตัวบอกว่าสภาพคล่องท่วมประเทศไทย หรือเงินท่วมประเทศไทย

มีการเข้าใจผิด คิดว่าเงินทุนสำรองดังกล่าวเป็นเงินออมของประเทศ จึงพยายามที่จะเอาเงินดังกล่าวออกมาใช้ เช่น การคิดเอามาตั้งเป็นกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ ครม.อนุมัติ การกู้เงิน ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการบริหารจัดการ โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับน้ำภายในกรอบวงเงิน 350,000 ล้านบาท ครม.อนุมัติโอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมาให้ธนาคารแห่งประเทศไทยบริหารจัดการทั้งหมด เพื่อทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีลดลง เพื่อจะทำให้กู้เงินได้มากขึ้น ซึ่งก็ได้ออกพ.ร.บ.กู้เงินไปแล้ว 1.6 - 2.0 ล้านล้านบาท

รัฐบาลก่อนหน้านี้ก็มีการกู้เงินเกือบล้านล้านบาท

ทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการใช้เงินอย่างคล่องมือในโครงการประชานิยม การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจรอบแล้วรอบเล่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองกว่า 14 เปอร์เซ็นต์

ดังที่นำเสนอไว้ในช่วงต้น “สภาพคล่อง พอดี พอดี จึงจะดี” รัฐบาลไม่ทราบว่าต้นเหตุอะไรที่ทำให้สภาพคล่องท่วมระบบ ได้แต่ใช้วิธีดำน้ำบริหารตลาดเงิน ไม่คิดจะใช้หนี้ที่มีอยู่ให้หมดไป มีแต่เพิ่มหนี้มากขึ้นไปอีก เมื่อสภาพคล่องเสียหาย จะทำให้เกิดปัญหามากขึ้นกว่าเดิม

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มีหนี้เหลืออยู่ 1 ล้านล้านบาท จากช่วงประมาณ 13 ปีที่ผ่านมา ที่ธปท.เคยใช้หนี้เงินต้นปีละ 20,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังชำระดอกเบี้ยปีละ 50,000 ล้านบาท

เมื่อโอนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูมาให้ ธปท.บริหารจัดการทั้งหมด เป็นเรื่องยากที่ ธปท.จะบริการจัดการได้ตามลำพัง แม้จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝาก 0.46 เปอร์เซ็นต์ จากธนาคารเฉพาะกิจเพิ่มมาช่วยชำระหนี้ก็ตาม อนาคตอาจจะทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งอาจจะกดดันให้มีการพิมพ์เงินออกมาชำระหนี้ ซึ่งก็จะทำให้ขาดความเชื่อมั่นต่อค่าเงินบาท จะทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ ทำให้สภาพคล่องของระบบเสียหาย อาจจะทำให้เกิดวิกฤตจนต้องเข้าโครงการไอเอ็มเอฟอีกรอบได้
กำลังโหลดความคิดเห็น