xs
xsm
sm
md
lg

32 ปี รอยเศรษฐกิจ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์


ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดร.โกร่ง เกิดวันที่ 1 สิงหาคม 2586 (68 ปี) ศึกษาชั้นประถมศึกษาที่จังหวัดนครพนม ระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแผนกวิชาการคลัง เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง (ต่อมาคือ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

เป็นอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช

ปัจจุบัน มีตำแหน่งสำคัญทางภาคเอกชนหลายตำแหน่งโดยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ 8 บริษัท และกรรมการหรือที่ปรึกษาอีก 20 บริษัท และหนึ่งในนั้นคือ ตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) เจ้าของผลิตภัณฑ์ กระดาษดั๊บเบิ้ลเอ

ปัจจุบัน เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ที่มา: วิกิพีเดีย

ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ธปท.(14 พฤษภาคม 2555) ที่มีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธานก็มีมติเห็นชอบให้นายวีรพงษ์ รามางกูร ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ธปท.

ช่วงที่น่ากล่าวถึง คือ ช่วงการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ระหว่างวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 (1980)-4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 (1988) และช่วงเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 (2001)-19 กันยายน พ.ศ. 2549 (2006)

หากนับจากการเป็นที่ปรึกษาในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2523 นับถึงปัจจุบัน ที่จะได้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2555 เป็นระยะเวลา 32 ปี

SET index ย้อนหลังตั้งแต่เปิดตลาดในปี 2518 ถึงปัจจุบันปี 2555 นับเป็นเวลา 37 ปี เป็นตัวสะท้อนภาพเศรษฐกิจของในแต่ละช่วงได้ แสดงให้เห็นว่า ช่วงรัฐบาลของ พล.อ.เปรม และช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอย่างไร มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ตลาดเงินตราในช่วงรัฐบาล พล.อ.เปรม มีการลดค่าเงินบาทหลายครั้ง รวมแล้วค่าเงินบาทลดลง 27 เปอร์เซ็นต์ ต้องเข้าไอเอ็มเอฟเป็นครั้งแรก เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง ต้องเข้าควบกิจการ 25 ไฟแนนซ์และเครดิตฟองซิเอร์ และมีการตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินมาช่วยในการแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ตลาดเงินตราในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ พบว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากการพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐในปี 2000 ทำให้เงินไหลออกสหรัฐอเมริกามายังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งไหลเข้ามายังประเทศไทย และทุนสำรองก็พุ่งสูงขึ้น

พบว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมากในปี 2549 รัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 อีก 3 เดือนถัดมา คือวันที่ 19 ธันวาคม 2549 กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า แสดงว่าเงินทุนไหลเข้าอย่างรุนแรง จึงส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างผิดปกติ แต่น่าจะเป็นมาตรการที่ไม่รอบคอบ เมื่อออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้าวันเดียว ตลาดหุ้นตกในวันเดียวมากกว่า 100 จุด มูลค่าตลาดตกลงกว่า 8 แสนล้านบาท ต้องยุติมาตรการดังกล่าวในเย็นวันเดียวกัน ด้วยประกาศว่าจะไม่กันสำรองเงินที่นำมาลงทุนในตลาดหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นคืนตัวขึ้นมาได้

ช่วงต้นของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 45 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งขึ้นถึง 15 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ไม่มีข้อมูลทุนสำรองการเงินระหว่างประเทศในช่วงรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีแต่ข้อมูลทุนสำรองการเงินระหว่างประเทศในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเห็นว่าค่าเงินบาทและทุนสำรองในแต่ละช่วง มีความสัมพันธ์ต่อกัน ขึ้นและตกในช่วงเวลาเดียวกัน เงินทุนไหลเข้าอย่างผิดปกติในปี 2549 (2006) หรือปีที่เกิดรัฐประหาร กระทั่งต้องออกมาตรการกันสำรองเงินทุนไหลเข้าเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 วันที่ออกมาตรการกันสำรองเงินทุนไหลเข้า ทุนสำรองสุทธิอยู่ที่ระดับ 73 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันนี้อยู่ระดับสูงกว่า 200 พันล้านเหรียญสหรัฐ เงินไหลเข้าไทยมากยิ่งขึ้นไปอีก

ทางการพยายามแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้าทุกทาง ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย 2 ฉบับ อนุมัติ ก.ล.ต.ให้เอกชนนำเงินไปลงทุนยังต่างประเทศรวม 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในช่วงหาเสียงเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย บอกว่าจะเข้ามาแก้กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ แต่เมื่อได้มาเป็นรัฐบาลแล้ว กลับมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมากเป็นประวัติการณ์ 4 บริษัท หนึ่งในนั้นมี ปตท. (PTT) รวมอยู่ด้วย ปตท.เป็นหุ้นที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาด พบว่าได้มีการแปรรูป ปตท.ได้อย่างรวดเร็ว จงใจจะแปรรูปตัวนี้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นรัฐบาลต้นปี 2544 ปลายปีก็แปรรูป ปตท.ได้แล้ว

ช่วงแรกมีข่าวว่าจะ IPO ที่ราคา 50 บาท ต่อมามีข่าวอีกว่าจะ IPO ที่ 50 บาท ราคาสูงไป จะไม่เป็นที่สนใจของต่างชาติ จะทำให้การแปรรูปไม่สำเร็จ (จะทำให้ขายสมบัติชาติไม่ได้) สุดท้าย IPO ที่ราคา 35 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำมาก ทำให้กระทรวงการคลังได้เงินน้อย และคนจองซื้อรวมทั้งต่างชาติเหมือนได้ของเปล่า มองได้ว่าคนที่เกี่ยวข้องตั้งใจจะเอาหุ้น ปตท.ไปเป็นของส่วนตน และเอาที่ราคาต่ำด้วย คนส่วนมากรู้ว่าเป็นการปล้น หุ้นจำนวนหนึ่งจัดสรรให้แก่ผู้อุปการคุณ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใคร นอกจากการปล้นใบหุ้นไปแล้ว ก็เอามาขายเอากำไรราคาน้ำมันสูงอย่างผิดปกติ เป็นการปล้นต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน

วันแรกที่ปตท.เข้าตลาด SET index ปิดที่ 305 จุด ลองเปรียบเทียบกับรัฐวิสาหกิจตัวอื่น ที่แปรรูปและเข้าตลาดช่วง 2-3 ปีถัดมา SET index อยู่ที่ระดับ 644 - 708 ทำให้ IPO ได้ที่ราคาสูง ที่จุดสูงสุด ปตท.มีกำไรถึง 1,157 เปอร์เซ็นต์ ตัวอื่นๆ มีกำไรน้อยกว่ามาก

มีคำถามว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือปรัชญาทางเศรษฐกิจของระบบที่ถูกต้องหรือไม่ เอารัฐวิสาหกิจไปเป็นสมบัติส่วนตน อย่างที่ ผศ.ประสาท มีแต้มว่าไว้ “ล้างสมองแล้วปล้น” สร้างวาทกรรมขึ้นมาให้คนหลงเชื่อว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือสิ่งที่ถูกต้อง คือสิ่งที่ต้องทำ รัฐวิสาหกิจแม้หุ้นเดียวก็ไม่ควรตกเป็นสมบัติของใคร เพื่อไม่ให้ใครเอาไปหาประโยชน์จากประชาชนของรัฐ

และก็เป็นจริง การแปรรูป ปตท.ทำให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊มสูง ทำให้เงินเฟ้อสูง ข้าวของเครื่องใช้ราคาสูงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น เดือดร้อนกันทั่วประเทศ

เรื่องราวทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นในรัฐบาล หรือจากรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นช่วงที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูรเป็นที่ปรึกษาด้วยกันทั้ง 2 แห่ง ดร.วีรพงษ์อาจจะลืมไปแล้วว่าได้เกี่ยวข้องกับเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้มาแต่ต้น

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เกิดขึ้นหลังการเกิดวิกฤตที่เข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟครั้งแรก โดยมีการเข้าควบกิจการไฟแนนซ์และเครดิตฟองซิเอร์ 25 แห่ง ที่รู้จักกันในชื่อโครงการ 4 เมษายน เป็นช่วงที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นที่ปรึกษา

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูคือวิสัยทัศน์ที่ล้มเหลวอย่างมีนัยสำคัญ เป็นการคิดแก้หรือคิดป้องกันปัญหาที่ปลายเหตุ โดยทุกวันนี้ก็ยังไม่ทราบ ว่าต้นเหตุของวิกฤตระหว่างปี 2524- 2527 เกิดจากอะไร

กองทุนเพื่อการฟื้นฟู นอกจากไม่สามารถช่วยฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินขึ้นมาได้ ยังทำให้สถาบันการเงินล้มลงซ้ำรอยหลังวิกฤตเข้าไอเอ็มเอฟเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2540 ช่วงแรกสถาบันการเงินและธนาคารถูกปิดกิจการ 54 แห่ง ก่อให้เกิดหนี้ไว้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟู 1.4 ล้านล้านบาท ทุกวันนี้รับทราบกันแล้วว่าสถาบันการเงินเอกชนล้มลงทั้งระบบ

เวลาผ่านไป 13-14 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้ช่วยกันชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แต่ทำได้ค่อนข้างน้อย ยังคงมีหนี้เหลืออยู่ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ก็มาถึงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมี ดร.วีรพงษ์ รามางกูรเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) แล้วผลักภาระการบริหารจัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูไปไว้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ฝ่ายเดียว

การเพิ่มขึ้นของทุนสำรอง และการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ปี 2549 พบว่าเงินทุนไหลเข้ารุนแรง ทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น กระทั่งต้องออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้าในเวลาต่อมา และมีการอนุมัติให้เอกชนนำเงินไปลงทุนยังต่างประเทศ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เงินทุนก็ไหลเข้าอย่างผิดปกติ

ประธาน กยอ.ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่หาสาเหตุว่าทำไมเงินทุนจึงไหลเข้ารุนแรง แต่กลับจะดึงเอาไปตั้งเป็นกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ และดึงเอาไปลงทุนด้านอื่น สร้างงานจากเรื่องที่ผิดปกติ ก็จะทำให้เกิดความผิดปกติที่ต่อเนื่อง บานปลาย และไม่รู้จบ เช่นที่เกิดกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งคิดว่าเวลา 40 ปี ก็หนี้ไม่หมด หนี้เก่ายังใช้ไม่หมด หนี้ใหม่ก็จะทับถมมาอีก

แผนยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ 5 ด้าน ภายใต้กรอบวงเงิน 2,270,085 ล้านบาท การมุ่งสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คิดว่าหลายท่านคงได้อ่านรายละเอียดจากข่าวแล้วงานที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าล้มเหลว ที่ทำขึ้นใหม่ก็จะอันตรายซ้ำเติมลงไปอีก ผิดไปจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศ การขยายงานใหญ่โต เมกะโปรเจกต์ ได้ประโยชน์แก่นายทุน 1% ของระบบ ส่วนเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตกเป็นของชาวบ้านแต่อย่างเดียว

เป็นความล้มเหลวทางเศรษฐกิจมหภาคของประเทศที่ต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน 32 ปี และดูเหมือนจะล้มเหลวต่อเนื่องไม่รู้จบ ประเทศไทยน่าเป็นห่วง น่ากลัว ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่น่ากลัว
กำลังโหลดความคิดเห็น