xs
xsm
sm
md
lg

แค้นทักษิณทำผ่านการโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพักหนี้รายย่อย

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์


รัฐบาลทักษิณถูกรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ทุนสำรองสุทธิอยู่ประมาณ 65.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นที่ประหลาดใจมาก หลังการรัฐประหารทุนสำรองดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตรงกันข้ามกับที่ทักษิณไปสร้างวาทกรรมลวงล่อผู้คนที่หลงใหลในตัวเขาว่า รัฐประหารทำให้ต่างชาติไม่เชื่อมั่นประเทศไทย หากว่าต่างชาติไม่เชื่อมั่นประเทศไทย ทุนสำรองก็ต้องลดลง แต่ปรากฏว่าทุนสำรองได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและอย่างมาก จนเป็นที่กังวลใจของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น วันที่ 19 ธันวาคม 2549 หรือเป็นเวลา 3 เดือนหลังการทำรัฐประหารพอดี กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า แต่ต้องยุติมาตรการดังกล่าวในเย็นวันเดียวกัน ทั้งนี้เพราะตลาดหุ้นตกในวันเดียวกว่า 100 จุด และมูลค่าตลาดลดลงกว่า 8 แสนล้านบาท และช่วงดังกล่าว ทุนสำรองสุทธิเพิ่มขึ้นมาเป็น 73.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์

ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครอธิบายได้ว่าทำไมทุนสำรองการเงินระหว่างประเทศ ที่อยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงสูงขึ้นรวดเร็วปานนั้น ณ วันที่นำเสนอบทความนี้ อยู่ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2555 ทุนสำรองสุทธิอยู่ที่ระดับ 208 พันล้านเหรียญสหรัฐ

วันที่ 19 ธันวาคม 2549 ที่ทุนสำรองอยู่ที่ระดับ 73.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ก็ตระหนักแล้วว่าทุนสำรองสูงขึ้นอย่างผิดปกติ จึงได้ออกมาตรการสกัดกันเงินทุนไหลเข้าดังกล่าว แต่ตอนนี้อยู่ที่ระดับ 208 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดดูก็แล้วกัน ว่าทุนสำรองของประเทศไทยสูงขึ้นมากมายแค่ไหน แสดงว่าสภาพคล่องท่วมประเทศไทยหนักมาก มหาอุทกภัยน้ำท่วมประเทศไทยเพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่เงินหรือสภาพคล่อง ได้ท่วมประเทศมากว่า 6 ปีแล้ว แล้วรัฐบาลก็ตั้งหน้าตั้งตาแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างดุเดือด ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ใช้งบประมาณในการนี้ 350,000 ล้านบาท แต่สภาพคล่องท่วมประเทศตั้ง 6 ปีมาแล้ว ไม่คิดที่จะแก้ไขให้ถูกทิศทาง

ผู้เขียนแปลกใจมากขึ้น เมื่อเห็นข่าวรัฐบาลจะกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามาอีก มาทำโครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น ไม่เห็นหรือว่าสภาพคล่องท่วมประเทศ สภาพคล่องท่วมระบบเช่นนี้ แม้ได้เงินมาโดยไม่มีดอกเบี้ย ก็ไม่น่าจะเอามาอยู่ดี สมมติว่าจะเอาเงินมาจากประเทศจีน เป็นว่า จีนได้ระบายสภาพคล่องของเขา แต่ประทศไทยกลับได้เงินมาเพิ่มสภาพคล่องประเทศของตนเอง

คงมีความเข้าใจไม่ตรงประเด็นเกี่ยวกับทุนสำรองการเงินระหว่างประเทศของไทยที่สูงกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ การออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยไม่มีใครอธิบายว่าต้นเหตุอะไรที่ทำให้ทุนสำรองของประเทศสูงเช่นนี้ 5-6 ปีมานี้ ประเทศไทยได้ดุลการค้ามากมายหรือ? ได้ดุลการท่องเที่ยวมากมายหรือ? ก็ไม่ใช่ ถามว่าต้นเหตุอะไรที่ทำให้ทุนสำรองของประเทศสูงเช่นนี้ เราไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุที่ทำให้ทุนสำรองการเงินระหว่างประเทศสูงขึ้น เพราะเราไม่ทราบต้นเหตุอะไรที่ทำให้ทุนสำรองการเงินระหว่างประเทศสูงขึ้น

ความคิดอันหนึ่ง ที่ว่าเบี่ยงเบนอย่างมีนัยสำคัญ คือคิดว่าประเทศไทยมั่งคั่ง คิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมั่งคั่ง ที่เห็นว่ามีทุนสำรองสูงถึง 208 พันล้านเหรียญสหรัฐ จึงได้โอน “หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูที่เหลือ 1 ล้านล้านบาททั้งหมด” ไปให้ธนาคารแห่งประเทศรับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียว

ระหว่างปี 2541 - 2553 หรือช่วงเวลา 12 ปี ได้มีการร่วมมือกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับกระทรวงการคลังจัดการหนี้ 1.4 ล้านล้านบาทของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู ทำให้ทุกวันนี้หนี้ดังกล่าวเหลืออยู่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท เหลือประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณแผ่นดิน

ระหว่างปี 2541 - 2553 ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ชำระหนี้เงินต้น เฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังเป็นผู้ชำระดอกเบี้ย เฉลี่ยปีละ 50,000 ล้านบาท

แต่เมื่อโอนภาระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูมาให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดการทั้งหมด ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถชำระเงินต้นได้ปีละ 20,000 ล้านบาท ส่วนดอกเบี้ยจ่ายปีละ 50,000 ล้านบาทจะเอามาจากไหน

มีคำอธิบายว่า ส่วนหนึ่งจะได้จากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่เคยเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ร้อยละ 0.40 แล้วให้เพิ่มมาเป็นเก็บจากธนาคารพาณิชย์ร้อยละ 0.47 โอนมาช่วยชำระดอกเบี้ยให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟู 0.46 เปอร์เซ็นต์ โดยเหลือไว้ที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก 0.01 เปอร์เซ็นต์

มีคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่า พันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูที่ดอกเบี้ยสูงๆ กำลังจะจบอายุลง ก็คงจะช่วยให้ชำระดอกเบี้ยน้อยลงได้บ้าง

รวมแล้วเงินที่จะนำมาชำระดอกเบี้ยน่าจะได้ไม่ถึงปีละ 50,000 ล้านบาท เหมือนที่กระทรวงการคลังเคยทำสถิติชำระไว้

ตอนแรกผู้เขียนเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงเรื่องการจัดการหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู จะได้มีการเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากจากธนาคารรัฐ ตั๋วบีอี ฯลฯ 0.47 เปอร์เซ็นต์ มาช่วยในการชำระดอกเบี้ยของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู แต่ไม่ใช่ ล่าสุดข่าวว่า ค่าธรรมเนียมเงินฝากจากธนาคารรัฐ ตั๋วบีอี ฯลฯ 0.47เปอร์เซ็นต์ จะนำมาตั้งเป็นกองทุนพัฒนาประเทศ

การไม่ช่วยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูชำระหนี้ อาจจะทำให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูผิดนัดชำระหนี้ได้ อาจจะทำให้ขาดความเชื่อมั่นต่อภาคการเงินของประเทศได้ หากถึงกับธนาคารแห่งประเทศไทยต้องพิมพ์เงินออกใช้ ก็จะซ้ำเติมความเชื่อมั่นต่อภาคการเงินของประเทศเช่นกัน จะทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย จะทำให้สภาพคล่องของระบบเสียหาย จะทำให้เกิดหนี้เสียอีก คนจะตกงานอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงฐานะทางการเงินของฝ่ายรัฐด้วย

VDO ลิงก์มาที่โบนันซ่า เขาใหญ่ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 และการปราศรัยที่กัมพูชาเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2555 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ย้ำถึงการพักหนี้พี่น้อง ร้องเป็นเพลง (ที่โบนันซ่า) “เธอเป็นหนี้อยู่ใช่ไหม เธอผ่อนไหวหรือเปล่า อย่าลืมเล่าสู่กันฟัง” ทำให้ทราบว่า การพักหนี้รายย่อยเป็นโครงการในใจจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรโดยตรง ถึงขนาดว่าแต่งเป็นเพลงมาร้องให้ฟัง

ในสภาวะที่สภาพคล่องเสียหาย การชำระหนี้จะมีปัญหา รัฐบาลอาจจะหาทางช่วยเหลือด้วยการพักชำระหนี้ได้ แต่ในภาวะที่สภาพคล่องท่วมระบบเช่นนี้ การชำระหนี้ของลูกหนี้จะไม่มีปัญหา จึงไม่จำเป็นจะต้องหาทางช่วยเหลือด้วยการพักชำระหนี้ของลูกหนี้แต่อย่างใด จะทำให้หนี้ของลูกหนี้ยืดยาวนานออกไปกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้เงินไม่หมุนเวียน ทำให้ขาดวินัยในการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินส่วนตน

คิดแก้ปัญหาที่มันไม่ใช่ปัญหา คือการสร้างปัญหา

สภาพคล่องของระบบเสียหาย จนประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และต้องเข้าโครงการไอเอ็มเอฟมาแล้วถึง 2 ครั้ง และครั้งหลังสุดทำให้เกิดหนี้ไว้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟู 1.4 ล้านล้านบาท

การแก้ปัญหาหรือการป้องกันปัญหาเพื่อที่จะไม่ให้เกิดวิกฤต เหมือนที่เคยเกิดขึ้นครั้งแรก โดยตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องสถาบันการเงิน เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงพบกับความล้มเหลว กองทุนเพื่อการฟื้นฟู นอกจากไม่สามารถฟื้นฟูสถาบันการเงินได้แล้ว ยังทำให้สถาบันการเงินล้มลงทั้งระบบ และเกิดหนี้กับตัวเอง 1.4 ล้านล้านบาท แทนที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูจะมาช่วยแก้ปัญหาให้ประเทศชาติ กลับเป็นว่าประเทศชาติต้องมาแบกภาระและมาแก้ไขปัญหาของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูอีก

การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ต้องเข้าโครงการไอเอ็มเอฟครั้งแรก ทางการต้องเข้าควบกิจการ 25 ไฟแนนซ์และเครดิตฟองซิเอร์

การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ต้องเข้าโครงการไอเอ็มเอฟครั้งที่ 2 ทางการต้องปิดกิจการ 56 สถาบันการเงินรวมทั้งธนาคารพาณิชย์ ตอนหลังพบว่าสถาบันการเงินล้มลงทั้งระบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่เห็นว่าไม่ล้มลง ก็เพราะตกไปเป็นของต่างชาติ

ทุกวันนี้เราก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหรือป้องกันปัญหา โอกาสที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่หรือครั้งที่ 3 ยังมีอยู่เช่นเดิม จะทำให้สภาพคล่องเสียหายอีก เอกชนล้มลงอีก คนตกงานอีก เกิดหนี้เสียขึ้นมาอีก หนี้สถาบันการเงินครั้งใหม่จะต้องโตกว่าหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู 1.4 ล้านล้านบาท หนี้เก่ายังชำระไม่หมด ก็จะเกิดหนี้ใหม่ขึ้นมาทับถมเพิ่มขึ้น

เป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะตามทันมิจฉาทิฐิของทักษิณ ทักษิณเป็นผู้ทำลายกำแพงกั้นการขายสมบัติของประเทศให้ต่างชาติ อย่างน้อยเห็นได้จาก

1) สุนทรพจน์เมื่อใช้หนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศงวดสุดท้ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ศูนย์แถลงข่าว ทำเนียบรัฐบาล วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม 2546 เวลา 20.30 น. “ก่อนนี้ในกติกาเราต้องขายรัฐวิสาหกิจเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ (IMF) แต่วันนี้ไม่ใช่ครับ เราจะกระจายหุ้นรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขยายการลงทุน เพื่อให้เกิดการบริหารงานอย่างมืออาชีพ และเพื่อให้เกิดการตรวจสอบได้ทุกระบบ ซึ่งตรวจสอบจากระบบของตลาดทุนและตรวจสอบด้วยระบบของราชการ ตรวจสอบด้วยระบบของผู้ถือหุ้นเอง” รัฐบาลทักษิณมีแปรรูปปตท.และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ด้วย รวม 6 แห่ง

2) ต้นปี 2549 ได้มีการแก้กฎหมายธุรกิจโทรคมนาคม จากต่างชาติถือหุ้นในธุรกิจโทรคมนาคมไทยไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ และจากต่างชาติเป็นกรรมการได้ไม่เกิน 1 คนใน 4 คน เป็นต่างชาติเป็นกรรมการได้ 4 คน จากนั้นก็มีการขายชินคอร์ปให้กับทางเทมาเส็กสิงคโปร์ ได้เงินประมาณ 74,000 ล้านบาท

ตนเองได้ประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว ทำให้สมบัติของคนไทยตกเป็นของต่างชาติมากขึ้น คนไทยต้องจ่ายค่าสาธารณูปโภคที่สูงขึ้น

การกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าทักษิณไม่ได้อินังขังขอบอะไรกับความเลวร้ายและความเสื่อมที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชนคนไทย ขอให้ตนเองได้ผลประโยชน์ส่วนตนก็พอ

การแก้ปัญหา ที่ไม่เป็นไปตามแนวทางที่ควรจะเป็น จะส่งผลให้เกิดความเสียหายและเกิดความเสื่อมต่อระบบเป็นวงกว้าง อาจจะมีส่วนทำให้ขาดความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้

ทักษิณเจ้าคิดเจ้าแค้น สามารถทำได้ทุกอย่าง เพื่อประโยชน์ตน การโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และพักหนี้รายย่อย อาจมีเป้าหมายที่จะก่อให้เกิดความย่อยยับของระบบเศรษฐกิจไทย

ใจร้ายกับประเทศไทยมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น