“กิตติรัตน์” ยันความจำเป็นเร่งออก พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ เหตุมีเวลาจำกัดและเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ด้าน “เหลิม” อ้างศาล รธน.การันตีรัฐบาลทำถูกต้อง “กรณ์” ทวงถามแผนรายละเอียดการใช้เงิน ย้ำแม้ผ่านศาล รธน.แล้ว แต่ไม่ควรลิดรอนสิทธิให้ ปชช.มีส่วนร่วมพิจารณา
วันนี้ (29 ก.พ.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจคลังกู้เงิน เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 2555 และร่าง พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลังได้รายงานเหตุและผลของร่าง พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับต่อที่ประชุมว่า สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยเกิดอุทกภัยเมื่อปี 54 ทำให้เกิดความเสียหายแก่นิคมอุตสาหกรรม สถานที่บ้านเรือนประชาชน ผู้ประกอบการต่างๆ ไปในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อทั้งคุณภาพชีวิต รายได้ต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรม การพาณิชย์ การเกษตร การส่งออก รัฐบาลจึงจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและการสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) มาดูแลแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยกำหนดให้มีการลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคที่จำเป็น ที่ต้องใช้วงเงินถึง 3.5 แสนล้านบาท ด้วยมีข้อจำกัด เมื่อไม่สามารถใช้เงินในงบประมาณได้ และต้องใช้เงินดังกล่าวอย่างจำเป็นเร่งด่วน เพราะหากรอการออกพ.ร.บ.งบประมาณจะทำให้เกิดความล่าช้า และเกิดความเสี่ยงที่ฤดูฝนใกล้จะมา รัฐบาลจึงได้ออก พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงิน เพื่อนำมาใช้จ่ายป้องกันภัยพิบัติล่วงหน้าและเสริมสร้างความเชื่อมั่นนับจากนี้เป็นต้นไป
“กยอ.ได้มีการพิจารณากำหนดกรอบการลงทุนในวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เช่น แผนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ การปรับปรุงสิ่งก่อสร้างเดิม จัดทำทางน้ำหลากฟลัดเวย์ เพื่อรับน้ำหลากจากแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยา การจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ในที่ดิน รวมทั้งการปรับปรุงยกระดับถนนและทางหลวง และคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริเพื่อป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้ จะมีการจัดทำระบบข้อมูลการพยากรณ์ การเตือนภัย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และแผนงานการปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานให้เป็นแก้มลิงประมาณ 2 ล้านไร่ วงเงินจำนวน 6 หมื่นล้านบาท แผนการจัดการลุ่มน้ำอีก 17 ลุ่มน้ำ และแผนยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูอนาคตประเทศ 1 หมื่นล้านบาท” นายกิตติรัตน์กล่าว
นายกิตติรัตน์กล่าวว่า การกู้เงินจำนวน 3.5 แสนล้านบาท ถือเป็นการเพิ่มภาระหนี้สาธารณะในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้น ดังนั้น การออก พ.ร.ก.กำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 ก็เพื่อชดเชยแก่กองทุนหนี้สาธารณะ 1.14 ล้านล้านบาท ที่เกิดจากกระทรวงการคลังไปรับภาระความเสียหายของสถาบันการเงินเมื่อปี 2540 และประชาชนก็ต้องแบกรับภาระด้วยการชำระภาษี ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่พร้อมที่จะชำระท่ามกลางสถานการณ์ที่สถานะทางการเงินเป็นแบบขาดดุล รวมทั้งจำเป็นต้องกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555
“รัฐบาลจึงเห็นสมควรให้ออก พ.ร.ก.กำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 เพื่อเป็นการปรับระบบการบริหารจัดการชำระดอกเบี้ย โดยให้กองทุนฟื้นฟูมีหน้าที่รับผิดชอบชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแล รวมทั้งหาแหล่งเงินทุนในการชำระเพื่อให้ยอดหนี้สาธารณะจำนวน 1.14 ล้านล้านบาทจะได้รับการจัดการอย่างมีระบบ และมีงบเพียงพอในการจัดการหนี้สาธาณะส่วนอื่น เพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศ รวมทั้งสร้างเสถียรภาพการเงิน การคลังโดยรวม จึงเป็นเหตุที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งความจำเป็นและเหตุผลที่ให้นั้นสมาชิกจะเห็นเจตนารมย์ของรัฐบาลที่มีความจำเป็นความเร่งด่วนนี้ และควรให้ความเห็นชอบเพื่อให้รัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป” นายกิตติรัตน์กล่าว
จากนั้นสมาชิกได้แสดงความเห็น โดยนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลได้พูดถึงตัวเลขความเสียหายมหาศาลประเมินไม่ได้ ธนาคารโลกประเมินความเสียหายสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นสถิติที่ไม่น่าภาคภูมิใจ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดพลาดในการบริหาร รัฐบาลต้องเรียนรู้ว่าทำไมทำให้เกิดความเสียหายประชาชนมากมายขนาดนี้ รัฐบาลเข้ามารับตำแหน่งคาดการณ์จีดีพีโตร้อยละ 4.5-5 แต่ตอนนี้เหลือร้อยละ 0.1-0.2 เท่านั้น รัฐบาลหาคำตอบด้วยการตรา พ.ร.ก.ขึ้นมา 4 ฉบับ ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยสนับสนุน พ.ร.ก.2 ฉบับ เพื่อให้จัดตั้งกองทุนประกัน และการให้อำนาจธปท.จัดสรรสินเชื่อเงินกู้ต่ำแก่ประชาชน แต่ พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับพรรคยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อความชัดเจน และศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า ทั้ง 2 พ.ร.ก.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ วันนี้เราต้องพิจารณาถึงแง่ความเหมาะสมใน2 มิติคือ รัฐบาลมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ที่รัฐบาลจะตัดสิทธิ์ฝ่ายนิติบัญญัติในการมีส่วนร่วมพิจารณาการออกกฎหมาย เพราะรัฐบาลเลือกใช้อำนาจฝ่ายบริหาร แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าถูกกฎหมาย แต่สิทธินี้ไม่ใช่แค่ลิดรอนฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ยังลิดรอนอำนาจประชาชน ที่จะพิจารณาให้ครบถ้วน และมีความจำเป็นปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นหรือไม่ มีความกังวลผลกระทบทางลบที่รัฐบาลอาจไม่ได้คิดถึง
นายกรณ์กล่าวต่อว่า ส่วน พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เห็นว่ามีความจำเป็น แต่ไม่ได้เร่งด่วน เพราะมองไม่เห็นจริงๆ ว่าจำเป็นต้องใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาทนี้อย่างไร ถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในแผนการใช้เงิน จนกระทั่งวันที่ 15 ก.พ ซึ่งเป็นวันที่ต้องให้การด้วยวาจาต่อศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลเพิ่งจะมายื่นเอกสารรายละเอียดเพียงแค่ปึกนิดเดียว เท่ากับที่แจกให้ ส.ส.วันนี้ ทั้งที่เอกสารงบประมาณเพียงกรมเดียวยังสูงท่วมหัว แต่เงิน 3.5 แสนล้านบาท เชื่อว่าไม่ถึง 1 ใน 4 ดังนั้น ความจำเป็นหลีกเลี่ยงไม่ได้จึงไม่มี ทำไมไม่กู้ยืมผ่านระบบงบประมาณ เพิ่มภาระให้ประชาชนโดยไม่จำเป็น และที่อ้างว่าจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันน้ำท่วมแต่ยังไม่เห็นความชัดเจน อีกทั้งที่ผ่านมารัฐบาลเคยกู้เงินไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท จัดสรรไปใช้ได้เพียง 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
ส่วน พ.ร.ก.โอนหนี้ฯ ที่กำลังผลักภาระหนี้ของ รัฐบาลไปจากตัวเองไปสู่ประชาชน โดยอ้างว่าผลักภาระไปให้ ธปท. ทั้งที่รู้กันโดยเปิดเผยว่า แบงก์พาณิชย์เมื่อต้นทุนสูงขึ้นก็ต้องผลักไปให้ประชาชน เป็นความหละหลวมที่รัฐบาลควรนำกลับไปทบทวน นอกจากนี้ยังส่งผลไปถึงส่วนอื่น เช่น สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งปัจจุบันมีบัญชีเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง 59 ล้านบัญชี ซึ่ง ไม่ใช่บัญชีเศรษฐี แต่เป็นของประชาชน แต่ละบัญชีมีเม็ดเงินฝากเฉลี่ย 5 หมื่นบาท รวมเป็นเงิน เม็ดเงินรวม 2.6 ล้านล้านบาท ขณะที่ บัญชีทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งประเทศมีอยู่ 7.5 ล้านล้านบาท ดังนั้น เงิน 9 หมื่นล้านที่มีอยู่ในกองทุนจะมารับประกันจะพอได้อย่างไร
นอกจากนี้ รัฐบาลยังฉวยโอกาสกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ห่วงถึงความลักลั่นไม่เป็นธรรมกับธนาคารรัฐ รัฐบาลจะเก็บค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.47 เป็นการเก็บจากประชาชนที่เป็นลูกค้าธนาคารรัฐ ธอส. ออมสิน คนยากจนทั้งนั้น ทุกรัฐบาลใช้ธนาคารรัฐเป็นเครื่องมือทั้งนั้น ก่อนหน้านี้ลดภาษีนิติบุคคลให้ธนาคารพาณิชย์มาแล้วยังไม่พออีกหรือ ได้ไปแล้วเต็มๆ นี่มาทำให้ธนาคารพาณิชย์ได้เปรียบธนาคารรัฐอีก มีผลประโยชน์อะไรกันหรือเปล่า นำไปสู่ต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นของประชาชนอย่างไร แทนที่จะเอาเม็ดเงินค่าธรรมเนียมจัดเก็บธนาคารรัฐไปจ่ายหนี้ เร่งลดภาระหนี้ประเทศจริงใจ ทำไมไม่เอาไปจ่าย แล้วยังตั้งกองทุนพัฒนาประเทศอีก ความโปร่งใสไม่มี ถือว่าเป็นการปล้นคลัง นำกำไรของรัฐที่มีอยู่แล้วออกมาไปใช้โดยไม่ผ่านระบบงบประมาณ ถ้าใช้มาตรฐานอย่างนี้เป็นการลิดรอนอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในอนาคต ก็ฝากพวกเราในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติที่จะใช้วิจารณญาณลงคะแนนด้วย
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นตอบโต้ว่า พรรคฝ่ายค้านไม่สามารถพูดว่าการตรา พ.ร.ก.2 ฉบับไม่ถูกต้อง เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า รัฐบาลทำถูกต้องชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ และยอมรับว่ารัฐบาลฉวยโอกาสจริง แต่ฉวยโอกาสให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และยืนยันว่าเรามีแผนงานที่ชัดเจนแล้วจึงได้ตรา พ.ร.ก.4 ฉบับนี้ขึ้นมา ไม่เหมือนการตรา พ.ร.ก.เงินกู้ 3.4 แสนล้านบาท ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ชัดเจน เพราะจนถึงวันนี้งบไทยเข้มแข็งก็ยังเหลือค้างอยู่ รัฐบาลนี้ไม่มีวันปล้น ตรงไปตรงมาและสุจริต
ขณะที่ นายกรณ์กล่าวว่า หากรัฐบาลยืนยันว่ามีแผนการใช้เงินแล้วก็เปิดเผยออกมา หรือแจกเป็นเอกสารรายละเอียดทั้งหมด และอยากรู้ว่ามีกำหนดจะใช้เงินเมื่อไหร่ ส่วนโครงการไทยเข้มแข็งเมื่อไม่จำเป็นต้องกู้ยืมแล้ว รัฐบาลตนได้ยกเลิกสิทธิ์กู้ยืมในส่วนที่เหลือในเดือน ธ.ค. ปี 53
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ต่างอภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ โดยอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการยืนยันว่ารัฐบาลทำสิ่งถูกต้องแล้ว จึงสมควรเดินหน้าต่อไปอย่าเร่งด่วน เพราะมีเวลาจำกัด และประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ทั้งนั้น