xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อไทย” ดิ้นพล่าน! วิ่งขอปชป.ถอนฟ้อง 2 พรก.!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อีก 2 วันจากนี้ ( 22 ก.พ.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัย กรณีนายคำนูณ สิทธิสมาน สว. และพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 และพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 350,000 ล้านบาท ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
วานนี้(20 ก.พ.) รายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ ศาลจะมีการเชื่อมสัญญาณจากห้องพิจารณาคดีผ่านทีวีวงจรปิดมายังห้องสื่อมวลชน โดยสามารถเชื่อมสัญญาณกับทีวีวงจรปิดเพื่อถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์ ครั้งนี้ศาลต้องการให้สาธารณะได้รับรู้ว่าผู้ร้องและผู้ถูกร้องอธิบายต่อศาลมีน้ำหนักอย่างไร ทำให้ในวันที่มีการอ่านคำวินิจฉัยคณะตุลาการฯจึงตกลงกันว่าควรมีการอ่านคำวินิจฉัยโดยเปิดเผยด้วยการออกนั่งบัลลังก์ให้สาธารณชนรับทราบด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ศาลจะอ่านคำวินิจฉัย พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับโดยจะเข้าในประเด็นที่จะวินิจฉัยทันทีว่ามีความเห็นอย่างไรซึ่งจะไม่อ่านในประเด็นความเป็นมา เมื่อศาลเริ่มอ่านคำวินิจฉัยในเวลา 14.00น.แล้วคาดว่าจะอ่านคำวินิจฉัยได้เสร็จสิ้นภายใน 1 ชั่วโมงก็จะทราบผลทันที
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษก ปชป. แถลงตอบโต้นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ที่กล่าวหา หาก พ.ร.ก. 2 ฉบับถูกศาลรัฐธรรมนูญตีความขัดรัฐธรรมนูญในวันนัดพิจารณาวันที่ 22 ก.พ.นี้ เพราะ ปชป.ยื่นตีความว่า ท้อใจกับการทำงานของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะนายพร้อมพงษ์ การยื่นตีความของ ปชป.ไม่ได้ชะลอการทำงานรัฐบาลเลยแม้แต่วินาทีเดียว ถ้ามั่นใจไม่ทำผิดรัฐธรรมนูญ ก็ขอให้ใช้เงินทันที แต่กลับพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าถ้าศาลตีตก ต้องโทษ ปชป. ไปขโมยของแล้วคนเห็นมาโทษคนเห็นได้อย่างไร สะท้อนวุฒิภาวะของนายพร้อม
“ดังนั้น ถ้าศาลตีความขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องรับผิดทางการเมือง เพราะทำการขัดรัฐธรรมนูญทำให้ไม่สามารถช่วยประชาชนได้ ขอให้เลิกมั่ว” โฆษก ปชป.กล่าว
อีกด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความบนหน้าเพจเฟซบุคส่วนตัว วิจารณ์นโยบายพักหนี้ของรัฐบาลว่าเป็นการตั้งโจทย์ผิด พร้อมกับแสดงความกังวลกรณีที่รัฐบาลจะพิจารณาพักหนี้ให้กับลูกหนี้ชั้นดีของธนาคารรัฐวงเงิน 500,000 ล้านบาทว่าจะทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินภาษี 40,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อจ่ายดอกเบี้ยแทน ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้ออ้างของรัฐบาลที่บอกว่าไม่เงินจนต้องออก พรก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท มีเนื้อหาดังนี้
"รัฐบาลยังไม่ประสพความสำเร็จเท่าที่ควรในโครงการแก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชน ได้มีการตั้งโจทย์ผิดแต่แรก โจทย์ควรจะเป็นว่าทำอย่างไรให้คนยากจนไม่ต้องวิ่งกู้นอกระบบ และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้โดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่รัฐบาลมัวแต่จะมาพักหนี้ในระบบให้เขา และผมเห็นรายงานว่าวันพรุ่งนี้จะถลำลึกลงไปอีกด้วยการเสนอให้พักหนี้ให้กับลูกหนี้ธนาคารรัฐรวม 500,000 ล้านบาททั้งๆที่เป็นหนี้ดีอยู่ หมายถึงต้องใช้เงินภาษีประชาชนถึง 40,000 ล้านบาทต่อปีเพื่อจ่ายดอกเบี้ยให้เขาแทน ถ้ารัฐบาลร่ำรวยก็ว่าไปอย่างนะครับ แต่นี่คุณมาออก พรก.กู้ฉุกเฉินเพราะคุณบอกว่าไม่มีเงินป้องกันน้ำท่วม แต่แล้วคุณก็จะเอาเงินเรามาใช้อย่างนี้เอง"
ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวเชื่อว่า พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว จะผ่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้พิจารณเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ขณะเดียวกันตนก็ได้ดำเนินการชี้แจงต่อศาลด้วยข้อมูลที่เป็นจริง
สำหรับในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ ที่ศาลนัดฟังคำวินิจฉัย อาจมอบหมายให้นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ไปรับฟังคำตัดสินแทน เนื่องจากติดภารกิจประชุมครม.ที่จังหวัดอุดรธานี
ด้านนายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฏหมายพรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคได้หารือกันแล้วเห็นว่า
1. การที่ผู้นำฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องหาความรับผิดชอบในทางการเมืองดังกล่าวเป็นการพูดเพื่อ “ฉกฉวยโอกาสและตีกินทางการเมือง” เพียงพูดให้ดูดี ว่าตนและพรรคยึดมั่น “ระบบรัฐสภา” ฝ่ายกฎหมายพรรคได้พบหลักฐานสำคัญจากหนังสือของนายอภิสิทธิ์ฯเอง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 สมัยที่ นายอภิสิทธิ์ฯ ชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญในคราวที่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ฯ ออก พ.ร.ก. กู้เงิน 400,000 ล้าน ว่า “ระยะเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญํติเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในวิสัยที่ผู้ใดจะสามารถกำหนดได้แน่นอนว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด” คำชี้แจงนี้ได้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญ โดยคำวินิจฉัยที่ 11/2552 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ในหน้าที่ 27 และ 28 ความอย่างย่อว่า “กรอบเวลาในการพิจารณาและอนุมัติร่างพระราชบัญญัติของรัฐสภาเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะสามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติให้เสร็จสิ้นได้แน่นอนเมื่อใด” สอดคล้องกับที่นายอภิสิทธ์ชี้แจง ดังนั้นการเรียกร้องหาความรับผิดชอบทางการเมือง เพื่อให้รัฐบาลลาออกจึงเป็นการพูดให้ดูดี และตีกินทางการเมืองตามที่กล่าวมา
2. แม้หากว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชกำหนดยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 184 ของรัฐธรรมนูญ มีผลทำให้พระราชกำหนดตกไปนั้นเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับวิธีการตรากฎหมาย มิใช่เนื้อหากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ โดยการจะถือว่ากรณีใดเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเป็นเรื่องของความคิดเห็น ซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละมุมมอง ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรียังยืนยันว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการจะเสนอเป็นพระราชบัญญัติต่อไป
3. ในอดีตที่ผ่านมาของประเทศไทยยังไม่เคยมีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดตราขึ้นโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และการกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับความจำเป็นเร่งด่วนเพิ่งจะมีขึ้นในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทุกฉบับให้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่งจะถูกตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น จึงไม่เคยมีกรณีปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร หากพระราชกำหนดตกไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
4. เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่มีการตราพระราชบัญญัติที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีและมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัตินั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีร่างพระราชบัญญัติที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ซึ่งไม่เคยปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในทางการเมือง โดยแนวทางปฏิบัติคณะรัฐมนตรีก็จะนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับคำวินิจฉัยของศาลเกี่ยวกับการกระทำทางปกครองของคณะรัฐมนตรี และเป็นไปในแนวทางปฏิบัติที่ยึดถือกันอยู่ในต่างประเทศ
5. ความรับผิดชอบทางการเมืองของคณะรัฐมนตรีที่เคยปฏิบัติเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา แล้วกฎหมายนั้นไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาให้ตราเป็นกฎหมายขึ้นใช้บังคับ
มีรายงานจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า สังเกตได้ว่านายพร้อมพงษ์และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ เมื่อยกเรื่อง
พรก. 2 ฉบับ มาแถลงทุกครั้ง จะพยายามขอให้พรรคประชาธิปัตย์ ถอนเรื่องดังกล่าวออกจากศาล โดยอ้างว่า จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์มาหลายครั้งแล้ว
นายพีระพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ในฐานะฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย แถลงว่า รัฐบาลยืนยันว่าการออกพ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับนั้นทำตามกรอบรัฐธรรมนูญ ประกอบกับกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่ารัฐบาลสามารถทำได้ ส่วนกรณีที่มีปัญหาอยู่ 2 ฉบับที่มีการยื่นให้ตีความว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 หรือไม่นั้น ยืนยันว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแน่นอน โดยการบังคับใช้กฎหมายนั้นต้องอาศัยความเกี่ยวโยงของพ.ร.ก.แต่ละฉบับด้วย ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อรัฐบาลบอกว่าสามารถออกเป็นพ.ร.บ.แล้วน่าจะทันเพื่อให้มีผลบังคับใช้ แสดงว่าการออกเป็นพ.ร.ก.นั้นก็น่าจะไม่จำเป็น นายพีระพันธ์ กล่าวว่า จำเป็น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ระบุถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการออกพ.ร.ก.ให้ศาลหรือสภาฯ มีหน้าที่ตรวจสอบเฉพาะวรรคหนึ่งเท่านั้น ส่วนการวินิจฉัยว่าเรื่องใดเร่งด่วนหรือฉุกเฉินหรือไม่นั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่จะพิจารณา มีเพียงรัฐธรรมนูญ 2550ที่ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉินก็ต้องให้ศาลพิจารณาตรวจสอบด้วย ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่า มีแต่ฝ่ายบริหารเท่านั้นที่รู้ดีว่าเรื่องใดจำเป็นเร่งด่วน ฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน
กำลังโหลดความคิดเห็น