xs
xsm
sm
md
lg

ล็อคเป้าพ.ร.บ. "โต้ง"สั่งรับมือพ.ร.ก.ปิ๋ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"โต้ง" ขาสั่น! สั่งหาทางออกกรณี พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ขัดรัฐธรรมนูญ เตรียมเสนอเป็น พ.ร.บ.แก้ปัญหาแทน เผยกระทบการเก็บค่าธรรมเนียมแบงก์รัฐ เหตุจัดตั้งขึ้นมาจากกฎหมายคนละฉบับและศักดิ์ของกฎหมายแตกต่างกัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังกังวลว่าพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินพ.ศ. 2555 วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาท ที่ฝ่ายค้านยื่นตีความว่าเป็นการออกพ.ร.ก.ดังกล่าวมีแนวโน้มขัดรัฐธรรมนูญ จะไม่ผ่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหลังการชี้แจงของรัฐบาลศาลอาจถูวินิจฉัยว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งศาลนัดฟังคำวินิจฉัยวันที่ 22 ก.พ.นี้ ทำให้ระหว่างนี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังและทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกำลังพิจารณาหาทางออกที่เหมาะสม ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะนำไปสู่การออกเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ตามมา

ทั้งนี้ หากพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวไม่ผ่านการวินิจฉัยจริง ตามหลักแล้วนายกิตติรัตน์จะต้องแสดงความผิดชอบด้วยการลาออกตามที่ประกาศไว้เพราะเป็นร่างกฎหมายที่นำเสนอเข้าครม.เองโดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังด้วยซ้ำ ส่วนพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศพ.ศ. 2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาทนั้นไม่น่าจะมีปัญหาเพราะสถานการณ์ขณะนี้ถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนจริง

นอกจากเรื่องของ พ.รก.แล้วพบว่ายังมีอีกหลายนโยบายของรมว.คลังที่กำลังนำไปสู่ปัญหาในทางปฎิบัติ โดยเฉพาะการมีมติครม.ให้เรียกเห็บเงินจากธนาคารรัฐ 0.47% หรือคิดเป็นเงินประมาณ 1.3-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีเข้ากองทุนที่จัดตั้งขึ้นใหม่ขึ้นมาใหม่เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศนั้น เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้ได้ข้อยุติในการเจรจากับธนาคารพาณิชย์ในการนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการพ้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีอำนาจหรือกฎหมายใดเปิดช่องให้แบงก์รัฐต้องนำส่งเงิน ซึ่งก่อนหน้านี้มีแนวคิดจะให้ใช้มติผู้ถือหุ้นกำหนดให้ส่งเงินแต่ก็มีผู้คัดค้านว่าการใช้มติผู้ถือหุ้นดังกล่าวจะเป็นแบบอย่างให้มีการนำไปใช้ออกมติที่เอื้อประโยชน์ในภายหลัง

“การนำส่งเงินของแบงกรัฐทุกแห่งที่มีเงินฝากนั้นต้องมีความชัดเจนจึงต้องมีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องและกฎหมายจัดตั้งแบงก์แต่ละแห่งก่อน ซึ่งเป็นเรื่องต้องใช้เวลาจึงมองว่าไม่น่าจะทันกับการนำส่งเงินของแบงก์พาณิชย์ที่เริ่มงวดแรกเดือนก.ค.นี้ และอาจลากยาวออกไปจนถึงการยกเลิกการปฎิบัติในที่สุด เพราะจริงๆแล้วก็ไม่ถูกต้องในหลักการอยู่แล้วที่จะดึงเงินที่ต้องนำส่งเข้าคลังออกไปให้กองทุนนอกงบประมาณที่ตั้งขึ้นมาใหม่ เหมือนเป็นการไซฟ่อนเงินหลวงไปใช้โดยใครก็ยังไม่ชัดเจน และการตั้งกองทุนก็ต้องมีกฎหมายจัดตั้งให้ถูกต้องด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่าจะยากที่จะเกิดขึ้นได้โดยโดยเร็ว” แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น