xs
xsm
sm
md
lg

นิติเรดไปเล่นการเมืองเถอะ

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่จบลงแล้ว ได้มีคณะตุลาการนอกศาลนำโดยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ และพวกในนามนิติราษฎร์ได้ขึ้นบัลลังก์วินิจฉัยคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญอีกทอดหนึ่ง

แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายมองว่า คำวินิจฉัยที่ออกมาของศาลรัฐธรรมนูญนั้นแม้จะไม่เป็นที่ถูกใจของทั้งสองฝ่ายนัก แต่เป็นทางออกที่สามารถดับวิกฤตการเมืองได้อย่างน่าชื่นชม

แต่นิติราษฎร์กลับกล่าวหาว่า การตีความรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นส่งผลประหลาดและผิดพลาดอย่างแจ้งชัด ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ไม่ว่าจะในขั้นตอนใด

นิติราษฎร์ กล่าวหาว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ มีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐประชาธิปไตยลงอย่างสิ้นเชิง การใช้อำนาจที่สร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่สาธารณชนว่าเข้าเป็นฝ่ายทางการเมืองเพื่อทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง การใช้อำนาจที่มีผลขยายเขตอำนาจของตนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

เอาเถอะครับเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่นิติราษฎร์จะมีมุมมองต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่คำถามก็คือว่า สิ่งที่แสดงออกของนิติราษฎร์นั้นเป็นความเห็นทางวิชาการหรือเป็นความเห็นทางการเมืองกันแน่

เพราะสิ่งที่นิติราษฎร์แสดงออกต่อความเห็นทางกฎหมายในประเทศนี้ กลับสอดรับกับแนวทางของทักษิณและพวก รวมทั้งจุดยืนของคนเสื้อแดงเสมอมา

แล้วต้องยอมรับความจริงนะครับว่า การแสดงความเห็นของนิติราษฎร์แต่ละครั้งก็มีคนเสื้อแดงนี่แหละที่ไปโอบล้อม ตีมือ ซี๊ดปากอย่างเมามันในอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความเห็นที่กระทบต่อสถาบันด้วยเล่ห์คำทางกฎหมาย

แต่นิติราษฎร์กลับไม่เคยตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมที่เป็นที่ครหาแต่มีผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อระบอบทักษิณและพวกพ้องเลย

จริงอยู่แม้ว่านิติราษฎร์จะมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะแสดงความเห็น และมีมุมมองต่อศาลรัฐธรรมนูญตามที่แถลงออกมาก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่เป็นเครื่องการันตีไม่ใช่หรือว่า ความเห็นของนิติราษฎร์จะเป็นฝ่ายถูกและศาลรัฐธรรมนูญเป็นฝ่ายผิด

เพราะขณะเดียวกันก็ยังมีนักวิชาการด้านกฎหมายจำนวนมากที่เห็นด้วยกับแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญ มีความเห็นและมีจุดยืนที่ตรงกันข้ามกับข้อเสนอของนิติราษฎร์

แถมคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ว่าการทำโพลของกี่สำนักนั้น ชวนให้สงสัยจริงๆ ว่าแล้วตกลงศาลรัฐธรรมนูญผิดอย่างที่นิติราษฎร์กล่าวหา หรือผิดเพราะผลลัพธ์ออกมาไม่ตรงกับความต้องการของนิติราษฎร์กันแน่

ส่วนข้อกล่าวหาของนิติราษฎร์ต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เข้าเป็นฝ่ายทางการเมืองเพื่อทำลายอีกฝ่ายหนึ่งนั้น มันก็พูดได้เหมือนกันใช่ไหมว่า นิติราษฎร์เองก็เข้าเป็นฝ่ายทางการเมืองเพื่อทำลายอีกฝ่ายหนึ่งเช่นเดียวกัน

อย่ามาแอบอ้างความเป็นนักวิชาการเลยครับ วรเจตน์และพวกต้องตอบให้ชัดว่า ความเห็นที่ออกมานั้นมาจากจุดยืนที่เลือกข้างทางการเมืองใช่หรือไม่

ข้อกล่าวหาว่า นิติราษฎร์ใช้สถานะทางวิชาการและใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในนามของการมี “เสรีภาพทุกตารางนิ้ว” มาเป็นเครื่องกำบังทางการเมืองไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินความเป็นจริงแน่ เพราะผลลัพธ์และจุดยืนของนิติราษฎร์ที่แสดงออกมาแต่ละครั้งนั่นแหละคือคำตอบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอหลังสุดของนิติราษฎร์ ถ้าไม่ยอมรับว่าพวกเขาเป็น “นายหน้าของนักการเมือง” แล้ว พวกเขาก็คงต้องยอมรับว่าตัวเองนั้นเป็นละอ่อนในวงการวิชาการเสียแล้วกระมัง

น่าตลกและดูอ่อนต่อโลกของพวกนิติราษฎร์ก็คือ ข้อเสนอให้ตั้งตำแหน่งตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นมาแทน พอไปดูที่มาที่ไปกลายเป็นว่า ข้อเสนอของนิติศาสตร์ล้าหลังและเป็นเผด็จการยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 2550

ตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีที่มาดังนี้

1. ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน 3 คน

2. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด โดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน 2 คน

3. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความสามารถเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริง และได้รับเลือกตามมาตรา 206 จำนวน 2 คน

4. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริง และได้รับเลือกตามมาตรา 206 จำนวน 2 คน

แต่คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของนิติราษฎร์กลับมีที่มาจากนักการเมือง

ตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ 8 คนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของประธานรัฐสภา โดยมาจากบุคคลซึ่งได้รับเลือกโดย 1. สภาผู้แทนราษฎร 3 คน 2. วุฒิสภา 2 คน 3. คณะรัฐมนตรี 3 คน

โดยที่ตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อย 1 คนต้องเป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด

ตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการเลือกของวุฒิสภาอย่างน้อย 1 คนต้องเป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด

.......

ข้อเสนอของนิติราษฎร์นี่แหละที่มันชัดเจนว่า ถ้าพวกเขาไม่อ่อนเยาว์จนเกินไป พวกเขาก็คงมีจิตใจฝักใฝ่ทางการเมืองและแสดงออกเพื่อรับใช้ระบอบทักษิณซึ่งพวกเขารู้ว่าเป็นเสียงข้างมากในขณะนี้อย่างเต็มตัว

และการแสดงออกต่อจุดยืนทางการเมืองของนิติราษฎร์ก็ตอกย้ำอย่างชัดเจนเสมอมาว่า มีจุดยืนเดียวกับคนเสื้อแดงและระบอบทักษิณ ไม่อาจกล่าวอ้างว่า ความเห็นของพวกตนนั้นเป็นความเห็นบริสุทธิ์ในฐานะนักวิชาการได้เลย

เพราะข้อเสนอต่อที่มาของตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญก็เห็นกันอยู่ว่า นิติราษฎร์โยนตำแหน่งตุลาการไปไว้ในมือนักการเมืองให้มาจากรัฐบาล 3 คน มาจากสภาผู้แทนราษฎร 3 คนซึ่งมาจากฐานเดียวกัน ส่วนวุฒิสภาส่วนใหญ่ก็เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่าอยู่ในอุ้งมือของนักการเมืองที่สั่งให้ซ้ายหันขวาหันได้

เมื่อตำแหน่งตุลาการที่มีหน้าที่พิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญอย่างที่นิติราษฎร์ต้องการ คำถามว่า ตุลาการเหล่านั้นจะรับใช้นักการเมืองหรือพิทักษ์รัฐธรรมนูญกันแน่ แล้วประชาชนจะพึ่งพาตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้อย่างไร

ถ้ารับใช้การเมืองขนาดนี้ ผมขอเรียกร้องให้นิติราษฎร์ทั้งหมดลาออกมาเป็นนักการเมืองให้รู้แล้วรู้รอดเสียเลย อย่าเอาความเป็นนักวิชาการมาเป็นเครื่องบังเงาในการทำงานรับใช้นักการเมืองเลยครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น