xs
xsm
sm
md
lg

“อุกฤษ” ค้านโหวตวาระ 3 หนุนทำประชามติยุบฉบับ 50 แล้วใช้ฉบับปี 17 แก้แทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประธาน คอ.นธ.แถลงการณ์ ชี้เดินหน้าวาระ 3 ยิ่งทำชาติวุ่นวายไม่จบสิ้น แนะปล่อยญัตติตก แล้วทำประชามติเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 50 แล้วใช้ฉบับใดปรับปรุงแทน เสนอฉบับปี 17 แก้แล้วทำประชามติอีกรอบ อ้างเป็นประชาธิปไตยที่สุดแล้ว คาดเสร็จไม่เกิน 15 เดือน เสียงบน้อยกว่าตั้ง ส.ส.ร.

วันนี้ (18 ก.ค.) ที่รัฐสภา นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ได้ออกแถลงการณ์แนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า ข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรให้ประชาชนลงประชามติก่อน ส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ และถกเถียงในด้านวิชาการ ว่าศาลรัฐธรรมนูญตั้งประเด็นและวินิจฉัยเกินเลยไปจากมาตรา 68 หรือไม่ การลงประชามติต้องทำในขั้นตอนใด ข้อแนะนำดังกล่าวมีผลผูกพันต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องแค่ไหนเพียงใด ซึ่งต้องรอศึกษารายละเอียดคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตน แต่ที่มีความเห็นเป็น 3 แนวทาง คือ รัฐสภาควรเดินหน้าลงมติในวาระ 3 ต่อไป หรือควรชะลอเอาไว้ก่อนเพื่อไปดำเนินการออกเสียงประชามติก่อน หรือปล่อยให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป แล้วไปดำเนินการแก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งเห็นว่าการดำเนินการตามแนวทางที่ 1 แม้จะกระทำได้โดยชอบตามกฎหมาย แต่แนวทางนี้อาจเป็นชนวนหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองไม่จบสิ้น

นายอุกฤษระบุต่อว่า ส่วนแนวทางที่ 2 ก็ไม่มีความชัดเจน เพราะยังไม่มีร่างให้ประชาชนพิจารณาเปรียบเทียบ ก่อนตัดสินใจลงประชามติ ซึ่งจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เหมือนกรณีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ให้ประชาชนเลือกระหว่างร่างรัฐธรรมนูญ 50 กับสิ่งที่ยังมองไม่เห็น ขณะที่แนวทางที่ 3 คงต้องใช้เวลานานมาก และไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะเสร็จเมื่อใด จึงมีข้อเสนอว่ารัฐสภาควรปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญที่รอลงมติในวาระที่สามตกไป เพื่อไปดำเนินการออกเสียงประชามติ โดยกำหนดหัวข้อให้ชัดเจน คือให้ประชาชนมีตัวเลือกว่าหากไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว รัฐบาลจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาปรับปรุงแก้ไข และประกาศใช้บังคับแทน ซึ่งเห็นว่าควรนำรัฐธรรมนูญ 2517 มาเป็นตัวเลือก หากประชาชนลงประชามติไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550ก็จะนำรัฐธรรมนูญ 2517 มาปรับปรุงแก้ไขตามกระบวนการมาตรา 291 จากนั้นให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้งก่อนประกาศใช้บังคับ

ประธาน คอ.นธ.ระบุด้วยว่า ที่นำรัฐธรรมนูญ 2517 มาเป็นตัวเลือก เพราะเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด มีความก้าวหน้าและเป็นเสรีนิยม ยึดโยงกับภาคประชาชน ที่สำคัญยังถูกร่างขึ้นภายหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน ขณะเดียวกันยังมีการบัญญัติถึงที่มา องค์ประกอบ และการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการตุลาการ เป็นผู้เลือกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ หากเสียงข้างมากว่าเห็นควรใช้บังคับรัฐธรรมนูญ 2550 ต่อไปก็เป็นอันยุติ ไม่ต้องดำเนินการอันใดต่อไปอีก เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตราที่เห็นว่าเป็นปัญหาเท่านั้น แต่หากเสียงข้างมากเห็นควรนำรัฐธรรมนูญ 2517มาปรับปรุงแก้ไข ก็ให้ดำเนินการยกร่างเช่นเดียวกันกับปี 2517 คือ ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นมายกร่างโดยใช้แนวทางปี 2517 มาเป็นหลัก เสร็จแล้วก็ให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาตามกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ต่อไป

นายอุกฤษระบุว่า เมื่อรัฐสภาลงมติวาระแรกก็ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ส.ส.และ ส.ว. ในสัดส่วนจำนวนที่เหมาะสม จากนั้นจัดรับฟังความเห็นจากประชาชนโดยเปิดเผย และโปร่งใส ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่ออื่น ให้ประชาชนรับรู้ เมื่อพิจารณาในวาระสองเสร็จแล้วให้ รอ 15 วัน จากนั้นจึงลงมติในวาระสาม และนำไปสู่การออกเสียงลงประชามติ จากนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประกาศใช้บังคับต่อไป หากดำเนินการตามแนวทางนี้จะแล้วเสร็จภายในไม่เกิน 15 เดือน หรือ 450 วัน ถึงจะต้องลงประชามติ 2 ครั้ง บางคนอาจมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ แต่แนวทางนี้จะสิ้นเปลืองน้อยกว่าการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่นอกจากต้องเสียการใช้จ่ายเลือกตั้ง ส.ส.ร. ยังมีเงินเดือน และงบไปจัดทำประชามติอีก ที่สำคัญแนวทางที่ตนเสนอ จะทำให้รัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับจากบุคคลทุกฝ่ายทุกสี และเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น