xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ชี้ศาลทำดีที่สุดแล้ว ได้สถาปนาอำนาจเป็นองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คำนูณ” ชมศาลรัฐธรรมนูญทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว เนื่องจากประเด็นการมีอำนาจรับวินิจฉัยโดยไม่ต้องผ่านอัยการ เป็นสิ่งสำคัญสุด เท่ากับว่าวันนี้ได้สถาปนาอำนาจเป็นองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เชื่อ “แม้ว” เปลี่ยนเป็นแก้รายมาตราจะเป็นเกมยาว เพราะหากมาตราใดมีคนเห็นว่าขัดมาตรา 68 ก็สามารถยื่นฟ้องได้ตลอดเวลา

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนในข่าว” 

วันที่ 13 ก.ค. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี

โดย นายคำนูณกล่าวว่า ศาลได้ตั้งประเด็นไต่สวนไว้ 4 ประเด็น คือ 1. อำนาจในการฟ้องคดีตามมาตรา 68 วรรคสอง 2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่ 3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 มีปัญหาว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ 4. หากมีการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องมีการยุบพรรคหรือไม่

ประเด็นที่ตนสนใจมากที่สุด คือ ศาลท่านแยก 2 กับ 3 ออกจากกัน ถือเป็นสิ่งที่ชาญฉลาด เพราะเพียงแต่วินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 หรือไม่ แค่นั้นจบ แล้วก็สั่งยกเลิกการกระทำ และอาจมีผลไปสุ่การยุบพรรค ตัดสิทธิเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าท่านแยกออกมา ตนเชื่อว่าเพียงเพื่อที่จะเป็นประเด็นในการแนะนำสิ่งที่ถูกว่าควรทำอย่างไร

ประเด็นที่ 2 การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่ แม้ศาลมีมติ 8 ต่อ 0 เห็นว่าเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่รัฐสภาควรทำอย่างไร โดยศาลอ้างอิงไปถึงสิ่งที่เรียกว่าอำนาจในการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมือง หรืออำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ ท่านบอกว่ากรณีนี้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญไม่ใช่รัฐสภา แต่มาจากประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญปี 50 มาจากการลงประชามติของประชาชน

ก่อนหน้านี้มีการถกเถียงมาตลอดว่ารัฐสภามีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ ส่วนตนเห็นว่าเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ร่วมกับประชาชน แต่ครั้งนี้ศาลบอกว่าเป็นของประชาชน แต่ศาลบอกต่อว่าดังนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แม้เป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม ขีดเส้นใต้ “เป็นอำนาจของรัฐสภา” แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ควรให้ประชาชนที่มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา

อันนี้เป็นคำแนะนำ ไม่ได้เป็นคำสั่ง และไม่ได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการลงมติแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ที่คารัฐสภาอยู่ เพราะว่าในประเด็นที่เป็นการล้มล้างการปกครอง ศาลเห็นว่ายังห่างไกลต่อการที่จะเกิดเหตุขึ้นตามที่กล่าวอ้าง จึงสั่งให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าวไม่ได้ แม้ท่านจะอ้างมาตรา 68 แต่ท่านก็ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 68 เท่านั้น ในเมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการล้มล้าง แต่ท่านก็ได้แนะนำไว้ โดยไม่ได้สั่งให้ทำตาม จะทำตามหรือไม่ทำตามก็ได้ เพียงแต่ทำแล้วต้องเป็นความรับผิดชอบของสภา และประธานรัฐสภา

“พี่น้องไม่ควรเศร้า และเข้าใจศาลรัฐธรรมนูญ ท่านทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ประเด็นที่สำคัญสุด คือ ประเด็น 1 คือการยืนหยัดในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการรับวินิจฉัยคำร้องว่าเมื่อมีการกระทำใดโดยขัดมาตรา 68 โดยไม่ต้องรออัยการสูงสุดส่งขึ้นมา ขณะนี้เท่ากับว่าศาลได้สถาปนาอำนาจเป็นองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญขึ้นมา แล้วทุกอย่างไม่จบในวันนี้ ไม่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญกี่ครั้ง ในรูปแบบใด ทุกช่วงเวลาที่เห็นว่าขัดมาตรา 68 ก็สามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ทันที” นายคำนูณกล่าว

นายคำนูณกล่าวต่อว่า มาตรา 68 ที่ระบุว่า “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งคำว่า “ตามรัฐธรรมนูญนี้” คือ หมายถึงล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรูปแบบที่รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ใช่แค่ไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์เท่านั้น

ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องไม่กระทบต่อหลักการ 8 ประการของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้วางไว้ ปรากฏในคำปรารภ มีดังนี้ 1. ธำรงไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของชาติ 2. ทำนุบำรุงรักษาศาสนาทุกศาสนาให้สถิตสถาพร 3. เทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเป็นมิ่งขวัญของชาติ 4. ยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ 5. คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 6. ให้ประชาชนมีบทบาทและส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม 7. กำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา และ 8. ให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม

สรุปคือ ใครแก้ไขในหมวดสิทธิ เสรีภาพ หมวดการมีส่วนร่วมของประชาชน ตัดทอนอำนาจศาล องค์กรอิสระ จะเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองทั้งนั้น ไม่ใช่แค่เปลี่ยนรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เท่านั้น

นายคำนูณกล่าวด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณคงให้เปลี่ยนเป็นแก้รายมาตรา หรือไม่ก็พักไว้ก่อน แต่คงต้องผ่านช่วงที่ทุกฝ่ายมีบทเล่น อย่างพวกแกนนำ นปช. ถ้าจะให้ถอยเลยมันก็ง่ายไป ต้องมีการสู้บ้าง แต่ลงเอยก็ต้องถอย ระหว่างรอกับเสี่ยงอย่างไหนคุ้มกว่า ถ้าเดินหน้าวาระ 3 มีคนยื่นฟ้องศาลทันที แล้วสมาชิกสภาจะกล้าลงมติวาระ 3 หรือ ในเมื่อศาลแนะนำแบบหนักแน่นขนาดนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น