xs
xsm
sm
md
lg

ล็อบบี้โหวตBTSเข้าคดีพิเศษ กทม.ขู่ยื่นฟ้องป.ป.ช.รายตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอัศวัชร์ อภัยวงศ์ ที่ปรึกษา นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กรณีที่คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เลื่อนการพิจารณาวาระกทม.โดยบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ทำสัญญาจ้างบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เดินรถไฟฟ้าเป็นเวลา 30 ปี เป็นคดีพิเศษนั้น เพราะรอตรวจสอบข้อเท็จจริงจากกระทรวงมหาดไทยเรื่องอำนาจของ ผู้ว่าฯกทม. ซึ่งกทม.พบว่า ดีเอสไอได้ทำหนังสือให้กระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบข้อกฎหมาย โดยเฉพาะจากคณะปฎิวัติ 58 พ.ศ.2515 ในข้อ 3 ที่ระบุว่า กิจการดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค (1) การรถไฟ (2) การรถราง และข้อ 11 ระบุว่า ให้กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจ และหน้าที่เกี่ยวกับกิจการรถราง การประปา การรถไฟ ฯลฯ แต่ทางดีเอสไอ กลับไม่ดูว่า ตามประกาศคณะปฎิวัติในข้อ 6 กลับระบุชัดว่า ในกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยกิจกรรมตามที่ระบุไว้ในข้อ 3 หรือข้อ 5 การประกอบกิจการดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายกิจการนั้น
นายอัศวัชร์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาตามประกาศคณะปฎิวัติ ในข้อ 6 ถือว่ากฎหมายให้อำนาจเฉพาะเรื่อง ก็ตรงกับข้อกฎหมายที่กทม.ใช้ยืนยันอำนาจผู้ว่าฯกทม.สามารถทำสัญญาจ้างได้ อาทิ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 281 ระบุว่า รัฐต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ
มาตรา 283 ระบุว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น
นอกจากนี้ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา 16 ระบุว่า ท้องถิ่นมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ มาตรา 17 ระบุว่า ให้ท้องถิ่นมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น และพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 89 ก็ให้กทม.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการในเขตกทม. ตามมาตรา 89(8) เรื่องกิจการขนส่งเช่นกัน
นายอัศวัชร์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ครม. มีมติแต่งตั้ง นายกมลชัย รัตนสกาววงศ์ กรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการ กคพ.ในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิคนใหม่ แทน นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ตัวแทนจากสภาทนายความ ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นช่วงก่อนถึงวาระกรรมการ กคพ.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 8 คน จะหมดวาระลงในวันที่ 7 ก.ย. ทำให้ครม.ต้องมีการแต่งตั้งกรรมการ กคพ.ชุดใหม่ ทำให้คาดว่า การพิจารณาเรื่องบีทีเอส เป็นคดีพิเศษ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะได้รับการมอบหมายจากนายกฯ ให้มาเป็นประธานกคพ. จะควบคุมเสียงโหวตได้มากกว่าเดิม ซึ่งหากมีการพิจารณาอีกครั้ง ที่ประชุมอาจจะผ่านเสียงโหวตให้การทำสัญญาจ้างกับบีทีเอส เป็นคดีพิเศษด้วยเสียง 22-0 ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม กทม.ก็พร้อมส่งข้อมูลให้กรรมการ กคพ. อีก 8 คนที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ เพื่อประกอบการพิจารณาตามกฎหมายให้รอบคอบ ไม่ใช้เสียงข้างมากลากไป
"กฎหมายคณะปฎิวัติล้าสมัย ดีเอสไอ ไม่ควรนำเรื่องนี้มาใช้พิจารณาเพราะเกิดมาตั้งแต่ปี 2515 เชื่อว่าอย่างไร กระทรวงมหาดไทย ก็ต้องกลับมาว่าการทำสัมปทานเป็นอำนาจของมหาดไทย แต่เรื่องนี้กลับเป็นการทำสัญญาจ้างไม่ใช่การขยายสัมปทาน ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ว่าฯกทม. ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.กระจายอำนาจอยู่แล้ว ส่วนถ้าครม.แต่งตั้ง กคพ.ชุดใหม่ 8 คน มาพิจารณาเป็นคดีพิเศษ กทม. ก็ยังยืนยันในข้อเท็จจริงไม่เปลี่ยนแปลง แต่คณะกรรมการทุกท่านที่ลงมติ ก็มีสิทธิถูกร้องเรียน ถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาจต้องเสี่ยงถูกฟ้องร้องทั้งทางแพ่ง และทางอาญาได้ " นายอัศวัชร์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น