xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ขู่ฟ้อง กคพ.หากลงมติรับ “ต่อสัญญาจ้างบีทีเอส” เป็นคดีพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.หวั่นตั้ง กคพ.ชุดใหม่ เอื้อ “เหลิม” คุมเสียงโหวต ลากต่อสัญญาจ้างบีทีเอสเข้าเป็นคดีพิเศษ ขู่ฟ้องกลับรายหัว เรื่องนี้ถึง ป.ป.ช.แน่

นายอัศวัชร์ อภัยวงศ์ ที่ปรึกษา นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กรณีที่คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เลื่อนการพิจารณาวาระกทม. โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ทำสัญญาจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เดินรถไฟฟ้าเป็นเวลา 30 ปี เป็นคดีพิเศษนั้น เพราะรอตรวจสอบข้อเท็จจริงจากกระทรวงมหาดไทยเรื่องอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. ซึ่ง กทม.พบว่าดีเอสไอได้ทำหนังสือให้กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบข้อกฎหมาย โดยเฉพาะจากคณะปฏิวัติ 58 พ.ศ. 2515 ในข้อ 3 ที่ระบุว่า กิจการดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค (1) การรถไฟ (2) การรถราง และข้อ 11 ระบุว่า ให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับกิจการรถราง การประปา การรถไฟ ฯลฯ แต่ทางดีเอสไอกลับไม่ดูว่าตามประกาศคณะปฏิวัติในข้อ 6 กลับระบุชัดว่า ในกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยกิจกรรมตามที่ระบุไว้ในข้อ 3 หรือข้อ 5 การประกอบกิจการดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายกิจการนั้น

นายอัศวัชร์กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาตามประกาศคณะปฏิวัติในข้อ 6 ถือว่ากฎหมายให้อำนาจเฉพาะเรื่อง ก็ตรงกับข้อกฎหมายที่ กทม.ใช้ยืนยันอำนาจผู้ว่าฯ กทม.สามารถทำสัญญาจ้างได้ อาทิ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 281 ระบุว่ารัฐต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ มาตรา 283 ระบุว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น

นอกจากนี้ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 16 ระบุว่า ท้องถิ่นมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ มาตรา 17 ระบุว่า ให้ท้องถิ่นมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 89 ก็ให้ กทม.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการในเขต กทม. ตามมาตรา 89 (8) เรื่องกิจการขนส่งเช่นกัน

นายอัศวัชร์กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ครม.มีมติแต่งตั้งนายกมลชัย รัตนสกาววงศ์ กรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการ กคพ.ในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิคนใหม่ แทนนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ตัวแทนจากสภาทนายความที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นช่วงก่อนถึงวาระกรรมการ กคพ.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 8 คน จะหมดวาระลงในวันที่ 7 ก.ย. ทำให้ครม.ต้องมีการแต่งตั้งกรรมการ กคพ.ชุดใหม่ ทำให้คาดว่าการพิจารณาเรื่องบีทีเอสเป็นคดีพิเศษ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะได้รับการมอบหมายจากนายกฯให้มาเป็นประธาน กคพ.จะควบคุมเสียงโหวตได้มากกว่าเดิม ซึ่งหากมีการพิจารณาอีกครั้งที่ประชุมอาจจะผ่านเสียงโหวตให้การทำสัญญาจ้างกับบีทีเอสเป็นคดีพิเศษด้วยเสียง 22-0 ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม กทม.ก็พร้อมส่งข้อมูลให้กรรมการ กคพ.อีก 8 คนที่ได้รับแต่งตั้งใหม่เพื่อประกอบการพิจารณาตามกฎหมายให้รอบคอบ ไม่ใช้เสียงข้างมากลากไป

“กฎหมายคณะปฏิวัติล้าสมัย ดีเอสไอไม่ควรนำเรื่องนี้มาใช้พิจารณาเพราะเกิดมาตั้งแต่ปี 2515 เชื่อว่าอย่างไรกระทรวงมหาดไทยก็ต้องกลับมาว่าการทำสัมปทานเป็นอำนาจของมหาดไทย แต่เรื่องนี้กลับเป็นการทำสัญญาจ้างไม่ใช่การขยายสัมปทาน ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม.ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.กระจายอำนาจอยู่แล้ว ส่วนถ้า ครม.แต่งตั้ง กคพ.ชุดใหม่ 8 คน มาพิจารณาเป็นคดีพิเศษ กทม.ก็ยังยืนยันในข้อเท็จจริงไม่เปลี่ยนแปลง แต่คณะกรรมการทุกท่านที่ลงมติก็มีสิทธิถูกร้องเรียนถึงคณะป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาจต้องเสี่ยงถูกฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้” นายอัศวัชร์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น