xs
xsm
sm
md
lg

"เหลิม"ส่งซิก"ดีเอสไอ"ลุย รับ2คดีปชป.เป็นคดีพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (27 มิ.ย.) นายอัศวัชร์ อภัยวงศ์ ที่ปรึกษา นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ กรณีที่บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ทำสัญญาจ้างเดินรถกับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) โดยมีนายนายกรณินทร์ กาญจโนมัย ตัวแทนรัฐบาลเป็นผู้รับเรื่อง
ทั้งนี้หนังสือที่ยื่นต่อนายกฯเป็นการขอความเป็นธรรม ของนายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กรณีที่จะมีการพิจารณารับโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระยะเวลา 30 ปี เป็นคดีพิเศษ เพราะเห็นว่าข้อมูลที่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ร้องเรียนกล่าวหาผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และยื่นต่อป.ป.ช. เป็นข้อมูลเลื่อนลอย ปราศจากเหตุผล ซึ่งมีการกระทำมาแล้วหลายครั้ง และทำเพื่อหวังผลทางการเมือง
หากดีเอสไอรับเรื่อง พร้อมสอบสวนทั้งที่รู้ว่าอยู่นอกอำนาจการสอบสวน เพราะผู้ถูกกล่าวหา คือ ผู้ว่าฯกทม. หรือรองผู้ว่าฯ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ตามมาตรา 66 ซึ่ง ดีเอสไอ ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.เท่านั้น ซึ่งการแถลงข่าวลักษณะชี้นำสังคมเหมือนกับว่าผู้ว่าฯกทม. ทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานเกินอำนาจหน้าที่ ขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรม รวมทั้งความพยายามที่ ดีเอสไอ ที่เบี่ยงเบนประเด็น จากการที่จะเอาผิดกับผู้บริหารของกทม. มาเป็นการสืบสวน บริษัทกรุงเทพธนาคม และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด เพื่อโยงไปสู่การกล่าวโทษผู้บริหารกทม. หากคณะกรรมการคดีพิเศษ มีมติรับเป็นคดีพิเศษ ก็เกรงว่าจะนำมาสู่ความเสื่อมเสีย ของกระบวนการยุติธรรม และคณะกรรมการพิเศษได้

** "เหลิม"หนุนรับ 2 คดีปชป.เป็นคดีพิเศษ

ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ พยายามเคลื่อนไหวคัดค้านไม่ให้ คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) นำกรณีเงินบริจาคศูนย์ประสบภัยน้ำท่วม ของบริษัท อีสต์ วอเตอร์ ที่บริจาคผ่านพรรคประชาธิปัตย์ และ กรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อสัญญาจ้างบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด มหาชน (บีทีเอส) เดินรถไฟฟ้าเป็นเวลา 30 ปี บรรจุเข้าเป็นคดีพิเศษ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า หากคนของปชป.ไม่ผิด ก็ไม่ควรกังวลว่า ใครจะเป็นผู้สอบสวน เพราะเรื่องใหญ่ๆ ดีเอสไอ จะมีความพร้อมมากกว่าตำรวจท้องที่ ส่วนจะเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ ต้องรอดูการเสนอในที่ประชุม กคพ. อีกครั้ง หากเข้าหลักเกณฑ์ ว่าเป็นคดีพิเศษได้ ก็ต้องรับ
ส่วนกรณีการต่อสัญญาระหว่าง กทม. กับบีทีเอสนั้นเรื่องนี้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ยืนยันว่า ผู้มีอำนาจในการอนุมัติ ไม่ใช่ ผู้ว่าฯกทม. แล้วเรื่องนี้ถือเป็นผลประโยชน์ของชาติ สัญญาสัมปทานก็ยังเหลืออยู่ถึง 17 ปี แต่กลับไปต่อสัญญา ในความเห็นส่วนตัว จึงควรให้ดีเอสไอ เป็นผู้สอบสวน แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ ก็ไม่เห็นด้วยที่จะรับพิจารณา
" การต่อสัญญานั้น ทำได้ แต่ถึงกำหนดวาระหรือยัง ถ้าคิดว่าทำด้วยความสุจริต สอบสวนอย่างไรก็ไม่ผิด หากไม่สุจริต ก็อาจจะมีปัญหา" รองนายกฯ ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ทางบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วิสาหกิจของ กทม.ต้องการให้นำเรื่องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้พิจารณา เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯกทม. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เมื่อ ดีเอสไอ สอบสวนแล้วเห็นว่าเกี่ยวข้องกับนักการเมือง ก็ต้องส่งให้ ป.ป.ช. อยู่แล้ว เบื้องต้นดูแล้วน่าจะเข้าหลักเกณฑ์ ที่จะรับเป็นคดีพิเศษ

**"ธาริต"เผย เลื่อนพิจารณาคดีบีทีเอส

ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ ) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษว่า ที่ประชุมยังไม่ได้รับกรณี กทม. ต่อสัญญาจ้างบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด มหาชน ( บีทีเอส ) เดินรถไฟฟ้าเป็นเวลา 30 ปี บรรจุเข้าเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากคณะกรรมการ ต้องการให้หาข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น โดยจะมีประชุมอีกครั้ง ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ รวมถึงจะมีการพิจารณากรณีเงินบริจาคศูนย์ประสบภัยน้ำท่วม ของบริษัท อีสต์ วอเตอร์ ที่บริจาคผ่านพรรคประชาธิปัตย์ ในวันเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น