xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอนทุน 2 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- "ผมมองว่าหากประเทศไทยยังคงทำแต่เรื่องนโยบายประชานิยม ไม่เกิน 10 ปีเศรษฐกิจของประเทศไทยจะล่มสลายเหมือนอย่างในประเทศกรีซ เพราะโครงการประชานิยมส่งผลต่อเศรษฐกิจมหภาคอย่างรุนแรงมาก โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อ เกิดหนี้สาธารณะรุนแรง และทำลายระบบกลไกของตลาด Ffpโครงการประชานิยมของไทย ที่เข้าข่ายทำลายกลไกตลาดสูงมาก คือ โครงการรับจำนำข้าว" ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายประชานิยม ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา

นั่นหมายความว่า การใช้จ่ายภาษีของประชาชนโดยไม่มีความรับผิดชอบของนโยบายประชานิยม ถึงที่สุดแล้วจะกลับมาทำลายประเทศทั้งหมด

ที่สำคัญ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถ “สร้างรายได้” ให้เกิดขึ้นกับคนไทยเหมือนราคาคุย

ทั้งๆ ที่หากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะดำเนินโครงการประชานิยม ก็ควรมีสำนึกรับผิดชอบต่อ “เงินของคนอื่น” ทั้งประเทศ โดยอาจจะใช้เงินของ ทักษิณ ชินวัตร มาดำเนินนโยบายแทน

เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับภาษีของคนทั้งประเทศ

ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้วิเคราะห์นโยบายของพรรคเพื่อไทยว่า นโยบายประชานิยมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีความเข้มข้นกว่านโยบายประชานิยม สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย หรือช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากใช้งบประมาณที่สูงกว่า เช่น นโยบายบ้านหลังแรก นโยบายรถคันแรก

“ จึงเป็นผลให้โครงการประชานิยมขณะนี้ ทำลายระบบกลไกตลาด และเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น และบุคคลที่ได้ประโยชน์จากนโยบายประชาชนยุคนี้ เป็นกลุ่มคนชั้นกลางระดับบนขึ้นไป ส่วนคนจนที่สุดในสังคม ไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง” ดร.สมชัยตอกย้ำ

ประโยชน์ของนโยบายประชานิยม จึงตกอยู่กับแกนนำนปช. และเสื้อแดง ที่พยายามเข้ามามีอำนาจ ทางการเมืองผ่านการเลือกสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาเทศบาล แม้กระทั่ง ส.ส.

ลองไปตรวจประวัติครอบครัว และฐานะการเงินดู พวกนี้ไม่ได้ยากจนข้นแค้นมาก่อน ตรงกันข้าม กลับมีฐานะดีพอสมควร

วิชัย พยัคฆโส คณบดีคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญญบุรี วิเคราะห์สถานการณ์การจ้างงานในที่ประชุมเดียวกันว่า จากการสำรวจเรื่องของคนว่างงาน ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รอบเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา พบว่า มีจำนวน 3.6 แสนคน โดยจำนวนดังกล่าวเป็นคนว่างงาน ซึ่งจบการศึกษาใหม่ ถึง 1.5 แสนคน อย่างไรก็ตามในปี 2555 จะมีบุคคลที่จบการศึกษาอีกกว่า 3.5 แสนคน จึงกลายเป็นปัญหาใหม่ที่กำลังมาถึง

" ตัวเลขของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ ได้ส่งสัญญาณให้รัฐบาลไทย รับรู้ ถึงปัญหาการว่างงานที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า รัฐบาลจะรับรู้หรือไม่” วิชัย ตั้งข้อสงสัยไว้

อันที่จริงแล้ว ความรู้สึกรับรู้ปัญหาของคนยากจนในต่อมสำนึกของรัฐบาล ค่อนข้างช้ามาก ถึงมากที่สุด

ข้อเท็จจริงจากการเตรียมตัวรับมือปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรปของรัฐบาลไทย เต็มไปความเหนียวเหนอะหนะ

วิกฤตหนี้ของยุโรป เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 52 และลุกลามใหญ่โตจนกระทั่งสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรป ต้องหาทางออกร่วมกันมาตั้งแต่ปลายปี 2554

แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กลับคิดแค่ “ขอเอาเงินที่ไม่ควรเอา” ของพี่ชายกลับคืนมา

รัฐบาลงัวเงียตื่นขึ้นมาประชุม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังจากประเทศอื่นเขาเตรียมพร้อมกันหมดแล้ว

การประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพื่อหารือถึงวิกฤติทางการเงินในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือยูโรโซน รวมทั้งประเมินแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และมาตรการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของไทย

ผลปรากฏว่า มีข้อสรุป 6 ข้อ คล้ายๆ สมองของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง นั่นคือ “กลวงเป็นรูโบ๋”

กิตติรัตน์ พูดจาอย่างแข็งขันว่า “ไทยจะต้องรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจ ด้วยการดำเนินการอย่างจริงจัง 6 ประการ”..ทั้งๆที่ควรคิดจะรับมือมาตั้งแต่นั่งเก้าอี้ รมว.คลัง แล้ว

อย่างนี้สมควร “ปลดออก” ไหมล่ะ

ข้อสรุป 6 ข้อ ก็เหมือนลูกโป่ง ประกอบด้วย ส่วนที่ 1. เน้นรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้านต่างๆไว้ให้มั่นคง โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนตัวลงมาในระดับหนึ่ง เสถียรภาพเรื่องอัตราดอกเบี้ย เสถียรภาพการดูแลอัตราการว่างงาน เสถียรภาพราคาพลังงาน

ส่วนที่ 2. การทำงานของภาครัฐในเชิงมหภาค ในด้านการใช้จ่ายทั้งงบประจำและงบลงทุน

ส่วนที่ 3. ต้องดูแลตลาดส่งออกในเป้าหมายประเทศที่ไม่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ในกลุ่มอาเซียน การค้าชายแดน กลุ่มเอเซียตะวันออก และกลุ่มตะวันออกกลาง รวมทั้งตลาดขนาดใหญ่ที่อเมริกาเหนือ

ส่วนที่ 4. การว่างงานของเราอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะเดือนพฤษภาคม มิถุนายน จะมีตัวเลขสูงกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากฤดูกาลนักศึกษาจบใหม่

ส่วนที่ 5. ต้องเร่งด้านการท่องเที่ยวให้เป็นรายได้สำคัญของประเทศ

ส่วนที่ 6. เรื่องของอุตสาหกรรมส่งออกที่เป็นกลุ่มเสี่ยงใน 3 รายการสินค้าที่อาจชะลอตัว เพราะเป็นสินค้าที่ส่งออกไปยุโรป คือ สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องระดับ อัญมณี และอิเล็กทรอนิกส์

นี่คือมาตรการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

คำถามคือ มีอะไรในกอไผ่หรือไม่ ???

แต่ กิตติรัตน์ กลับเอาเวลาก่อนหน้านี้ไปคิดงาน “ถอนทุน” ให้ทักษิณ

โดยเตรียมกู้เงินถึง 2 ล้านล้านบาท เพื่อมาสร้างโครงการมากมายมหาศาล เพราะรัฐบาลไม่มีเงินพอ

ไม่มีเงินแม้กระทั่งเอาเงินไปรับจำนำข้าว จนต้องหยุดรับจำนำกันในหลายพื้นที่

คิดง่ายๆ หากมีการคิดค่าหัวคิวกัน 30 % เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ก็อยู่ที่ 600,000 ล้านบาท

ทักษิณ ไม่ต้องขอเงิน 4.6 หมื่นล้านบาทคืนก็ได้

ข้อเท็จจริงในสมัยรัฐบาลทักษิณนั้น วงการรับเหมาก่อสร้างต่างรู้กันหมดว่า “จะส่งส่วยให้คุณส่วน” เท่าไหร่ ? ที่ไหน ?

ถ้าหากรัฐบาลไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มีสมองมากกว่านี้ ก็สามารถ “บริหารเงินภาครัฐ” โดยไม่ต้องกู้ยืมได้...แต่เขากลับทำไม่เป็น

เขาบอกว่า จะเร่งผลักดัน ร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ วงเงิน 1.6-2 ล้านล้านบาท ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาใน 6-7 เดือนข้างหน้า เพราะขณะนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งลงทุน เพื่อพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้น และรัฐบาลยังมีความสามารถที่จะกู้ได้อีก เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้สาธารณะในระดับต่ำเกินพอดี มีจำนวนเงินออมมาก แต่ระบบโครงสร้างพื้นฐานยังมีการลงทุนน้อย จึงจำเป็นต้องกู้เงินมาลงทุนในส่วนนี้

"ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่า ประเทศไทยจะไม่มีปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะจนเกิดเป็นวิกฤติต้มยำกุ้งเหมือนปี 2540 หรือเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา” กิตติรัตน์ เชื่อเช่นนั้น

แต่ตรงกันข้ามกับข้อมูลของนักวิชาการที่คาดการณ์ไว้ว่า จะเกิดปัญหาหนี้สาธารณะในอนาคต

รมว.คลัง ยังบอกอีกว่า จะเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบการสร้างอนาคตประเทศไทย วงเงิน 2.27 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้อีก 15 ปี

ที่สำคัญ “ประตู” ให้เกิดการคอร์รัปชันมโหฬาร ถูกเปิดออกโดย กิตติรัตน์

“ยอมรับว่าการกู้เงินนอกงบประมาณ เป็นการซุกการขาดดุล แต่เป็นแนวทางหนึ่งในการรวมโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มาพิจารณาพร้อมกันในที่เดียว ไม่ต้องไปซุกไว้ในงบประมาณประจำปี ที่ไม่รู้ว่ามีการทำโครงการอะไรบ้าง" กิตติรัตน์ อธิบายช่องทางการกู้เงิน

รมว.คลัง อ้างว่า สาเหตุสำคัญที่ต้องกู้โดยไม่ผ่านงบประมาณตามปกติ เพราะต้องการให้งบประมาณเดินหน้าเข้าสู่สมดุลโดยเร็ว เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาขาดดุลเรื้อรัง จนสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ

แต่ถึงอย่างไร ก็ยังจัดเป็น “หนี้สาธารณะ” ของภาครัฐเช่นเดิม เพียงแต่เดินคนละประตูเท่านั้น

เงินนอกประมาณนั้น จัดเป็นประตูที่ไม่มียามเฝ้าเลย ต่างจากประตูงบประมาณปกติที่มีสายตาหลายคู่จ้องมองอยู่

กิตติรัตน์ ยังบอกอีกว่า เงินกู้จำนวนดังกล่าว จะใช้สำหรับก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ โครงการมอเตอร์เวย์ เส้นบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่า 4 หมื่นล้านบาท

“ปัจจุบันประเทศไทยมีขนาดของเศรษฐกิจประมาณ 12 ล้านล้านบาท แต่มีหนี้สาธารณะเพียง 4.6 ล้านล้านบาท โดยในส่วนนี้ เป็นหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาท จึงเหลือหนี้ที่รัฐบาลรับผิดชอบเพียง 3.5 ล้านล้านบาทเท่านั้น”

สถานะทางการเงินของประเทศไทยที่ กิตติรัตน์ พยายามอธิบายสนับสนุนเงินกู้ แต่ไม่ได้บอกว่าจะหารายได้จากไหน

เพียงแต่บอกว่าโครงการลงทุนเหล่านี้ จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว มีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลสามารถเก็บภาษีมาจ่ายหนี้ได้เพิ่มขึ้น

คำถามคือ นี่คือ ความจริงหรือ ??

ต่างกับความคิดของ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) คนที่เติบโตมากับโครงการลงทุนของรัฐ จากสภาพัฒน์ บอกว่า

“การกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการลงทุนในโครงการระยะยาว ควรบรรจุอยู่ในงบประมาณประจำปี เพื่อให้ตรวจสอบการใช้เงิน และให้สาธารณชนรับทราบความคืบหน้าของการใช้จ่าย เพราะเป็นการใช้เงิน ซึ่งมีผลต่อสถานะการเงิน-การคลังของประเทศ เช่น สัดส่วนหนี้สาธารณะ”

ก่อนหน้านี้ กิตติรัตน์ ก็อ้างเหตุผลารพัด เพื่อออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับ เพื่อกู้เงิน ประกอบด้วย

1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555   วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยได้กำหนดให้กู้เงินได้ไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย. 56 และ กระทรวงการคลังสามารถนำเงินกู้ดังกล่าวไปให้กู้ต่อ กับหน่วยงานรัฐและหน่วยงานต่างๆ เพื่อไปใช้จ่ายในการวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศก็ได้

2. พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555  การให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท เป็นนิติบุคคล โดยกิจการไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมทั้งได้กำหนดว่า รายได้ของกองทุนไม่ต้องส่งคลังด้วย

3. พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ.2555 วงเงิน 3 แสนล้านบาทนั้น ได้กำหนดให้ ธปท.ปล่อยกู้กับสถาบันการเงิน ในอัตรา 0.01 % ต่อปี โดยสถาบันการเงินที่ได้รับเงินสามารถไปปล่อยกู้ต่อกับบุคคลธรรมดา และวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ในเขตพื้นที่อุทกภัยในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3 % ต่อปี

4. พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาท ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้รับผิดชอบแทนกระทรวงการคลัง

โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา

นั่นหมายความว่า เงินกู้งวดที่แล้วเกือบ 2 แสนล้านบาท ไม่เพียงพอ

ถ้าหากคิดจะถอนทุนคืนให้ ทักษิณ !!
โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์
กิตติรัตน์ ณ ระนอง
กำลังโหลดความคิดเห็น