- IMF ลดคาดการณ์เติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเหลือ 3.1% จากที่ประเมินไว้เดิม 3.3% เนื่องจาก 1) ประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญกำลังเติบโตชะลอตัวลง (จีน) และ 2) เศรษฐกิจยูโรโซนถดถอยกว่าเดิม ทั้งนี้ ความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นจากการเติบโตที่ชะลอตัวลงของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และสภาพคล่องทางการเงินที่จะตึงตัวขึ้นจากการยกเลิก QE ของสหรัฐ
- กลุ่มทรอยก้าอนุมัติเงินช่วยเหลือกรีซ 6.8 พันล้านยูโร ซึ่งจะช่วยให้กรีซมีเงินพอชำระคืนพันธบัตร 2.2 พันล้านยูโรที่จะครบกำหนดในเดือน ส.ค.ทั้งนี้ กลุ่มทรอยก้าเห็นว่ากรีซมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาฐานะการคลังในหลายด้านจากความพยายามลดรายจ่ายผ่านมาตรการต่างๆเช่น ลดจำนวนพนักงานของรัฐ และการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่ยังคงมีอีกหลายเรื่องที่ยังต้องปฏิรูปต่อไป
- ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยของอังกฤษเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 21 จุด (สูงสุดในรอบ 3 ปี) จาก 5 จุดในเดือนก่อน เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านของภาครัฐ และอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ
- ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของอังกฤษในเดือน พ.ค.หดตัวลง 0.8% จาก -0.2% ในเดือนก่อน จากผลผลิตที่ลดลงของอุตสาหกรรมผลิตยาและโลหะ ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่อบอุ่น
- สหรัฐเห็นด้วยกับการดำเนินมาตรการของธนาคารกลางจีนเพื่อจำกัดสภาพคล่องในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์จีนมีวินัยทางการเงิน และระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปภาคการเงินของจีน
- จำนวนตำแหน่งงานใหม่ของสหรัฐในเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้น 28,000 ตำแหน่ง เป็น 3.83 ล้านตำแหน่ง จากความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการเพราะการบริโภคในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
- รัฐบาลญี่ปุ่นจะผลักดันให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้อัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ และช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลจะประชุมกับสหภาพแรงงานและตัวแทน ผู้ประกอบการเพื่อร่วมกันตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว
- รมว.คลังญี่ปุ่น เปิดเผยว่า รัฐบาลจะยังไม่ขึ้นภาษีการขายจาก 5% เป็น 8% ในเดือนเม.ย. 2557 จนกว่าเศรษฐกิจจะมีทิศทางขยายตัว โดยจะขึ้นภาษีการขายเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวได้ 3%
- อัตราเงินเฟ้อของจีนในเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 2.7% เพิ่มขึ้นจาก 2.1% ในเดือนก่อน จากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นถึง 4.9% จาก 3.2% ในเดือนก่อน ขณะที่ราคาสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้น 1.6% เท่าเดือนก่อน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ 3.5% ทำให้ธนาคารกลางจีนยังไม่มีความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินแบบรัดกุม (ยังไม่ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย)
- สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัวลง 2.7% จาก -2.9% ในเดือนก่อน ลดลง 16 เดือนติดต่อกัน จากความต้องการในประเทศที่ชะลอตัวลง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง
- ก.พาณิชย์ เตือนให้ผู้ประกอบการไทยเร่งหาตลาดใหม่ทดแทนจีนที่ชะลอตัว โดยเชื่อว่าในครึ่งปีหลังนี้ ตลาดสหรัฐและยุโรปจะกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง เพราะมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้น และตลาดมาเลเซีย อินโดนีเซีย กับเกาหลีใต้ ก็เป็นอีกกลุ่มตลาดทดแทนที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกยังไม่ควรจะทิ้งตลาดจีนไป เนื่องจากมีขนาดใหญ่ และจีนจะมีมาตรการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่เป็นระยะ ทำให้เศรษฐกิจจะชะลอตัวเพียงระยะสั้นเท่านั้น
- นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ย้ายฐานการผลิตจากไทยไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม เนื่องจากค่าเงินบาทผันผวนและแข็งค่าขึ้น รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั้งนี้ คาดว่า มูลค่าส่งออกของอุตสาหกรรมปีนี้จะอยู่ที่ 2,500- 2,800 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5% จากปีก่อน
- ครม.มีมติอนุมัติให้โอนเงินจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อชำระคืนเงินต้นของเงินกู้และดอกเบี้ยของ FIDF1 และ FIDF3 รวม 16,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินจากการขายหุ้นของบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) และหุ้นของธนาคารกรุงไทย (KTB) บางส่วน
- SET Index ปิดที่ 1,398.69 จุด ลดลง 5.95 จุด หรือ -0.42% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 44,938.74 ล้านบาท โดยดัชนีเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบแคบ ก่อนจะปิดตัวในแดนลบซึ่งสวนทางกับตลาดหุ้นในภูมิภาค จากหุ้นกลุ่มธนาคารที่ลดลง 0.91% เพราะผู้ลงทุนมีความกังวลในผลประกอบการของธนาคารบางแห่งที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการปล่อยสินเชื่อให้แก่ สหฟาร์ม
- NIKKEI Index ปิดที่ 14,472.90 เพิ่มขึ้น 2.6% (เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์) จากหุ้นกลุ่มส่งออกที่ปรับตัวขึ้นหลังจากเงินเยนอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 1 เดือน และจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีอย่างต่อเนื่อง
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลงในช่วง -0.09% ถึง -0.01 % ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 94,187 ล้านบาท โดยเป็นการปรับลดลงอย่างมากในช่วงอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป ตามทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ทั้งนี้ วันนี้จะมีการประชุม กนง. ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม(2.5%) และอาจจะลดประมาณการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลงจาก 5.1% สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 50 ปี มูลค่า 5,000 ล้านบาท
- ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย คาดว่า การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยชะลอตัว แต่เชื่อว่าหากการลงทุนของภาครัฐเกิดขึ้นในครึ่งปีหลังก็จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ ขณะที่ทิศทางค่าเงินบาทจะขึ้นอยู่กับเงินทุนต่างชาติที่จะไหลเข้าออกในประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ เห็นว่าในระยะยาว อัตราดอกเบี้ยนโยบายควรมีทิศทางขาขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามทิศทางเดียวกับตลาดโลก