xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News 29/03/56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



  • ธ. พาณิชย์ในไซปรัสเปิดทำการอีกครั้งหลังหยุดไปกว่า 2 สัปดาห์ โดยจำกัดธุรกรรมเพื่อป้องกันการแห่ถอนเงินฝากจนทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง  เช่น ถอนเงินสดได้ไม่เกิน 300 ยูโร/วัน/คน ห้ามนำเงินสดออกนอกประเทศเกิน 1,000 ยูโร/คน และจำกัดวงเงินการใช้บัตรเครดิต  ทั้งนี้  ธ.กลางยุโรป (ECB) ได้ส่งเงินสด 5,000 ล้านยูโร อันเป็นเงินทุนฉุกเฉินให้แล้ว เพื่อรองรับสถานการณ์

  • ยอดค้าปลีกของเยอรมนีเดือน ก.พ. +0.4% จากเดือนก่อน แต่ -2.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี จึงเป็นไปได้ที่อุปสงค์ภายในประเทศจะไม่สามารถสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้

  • ผู้ว่างงานของเยอรมนีเดือน มี.ค.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 13,000 คน เป็น 2.935 ล้านคน โดยทำให้อัตราว่างงานอยู่ที่ 6.9% แสดงว่า ตลาดแรงงานยังมีความไม่แน่นอน

  • ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) รายปีของสเปนในเดือน มี.ค. +2.4% จากเดือน ก.พ.ที่ขยายตัว 2.8% เนื่องมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงลดลง

  • บริษัทขนาดเล็กในอิตาลีและสเปนกำลังประสบความยากลำบากในการจ่ายหนี้และมีอัตราการผิดนัดชำระหนี้คืนธนาคารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะสร้างปัญหาให้แก่ ธ.พาณิชย์และรัฐบาล และบ่งชี้ว่า ยูโรโซนจะประสบปัญหาใหญ่ในอนาคต  เนื่องจากบริษัทเหล่านี้เป็นกลุ่มบริษัทที่มีการจ้างงานมากที่สุดในสเปนและอิตาลี

  • Moody's คงอันดับความน่าเชื่อถือของโปรตุเกสที่ Ba3 ด้วยแนวโน้มเชิงลบ เพราะหนี้สินรัฐบาลอยู่ในระดับสูง ประกอบกับมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตการณ์ในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม โปรตุเกสยังมีความคืบหน้าชัดเจนเรื่องการใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง และการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง จึงเป็นไปได้มากขึ้นที่จะสามารถกลับมาระดมทุนในตลาดได้อีกครั้ง

  • Moody’s คงอันดับความน่าเชื่อถือของไอร์แลนด์ไว้ที่ Ba1 ซึ่งเป็นระดับขยะ ด้วยแนวโน้มเชิงลบ แม้ไอร์แลนด์จะมีความก้าวหน้าต่อเนื่องในการจะกลับเข้าสู่ตลาดทุน แต่ยังคงมีปัญหาภาคธนาคาร รวมทั้งมีความเปราะบางต่อแรงกดดันในยูโรโซน

  • รอยเตอร์ส รายงานผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งระบุว่า ไซปรัสไม่น่าจะเป็นประเทศสุดท้ายของยูโรโซนที่จะขอความช่วยเหลือทางการเงินจากนานาชาติ โดยนักเศรษฐศาสตร์ 36 คนจาก 48 คนที่ตอบแบบสอบถาม เชื่อว่า เป็นไปได้ที่ประเทศอื่นๆ อย่าง สเปน และ สโลวิเนีย จะขอความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากกลุ่มทรอยก้าในอนาคต

  • GDP ที่แท้จริงประจำไตรมาส 4 ปีก่อน ของสหรัฐ จากการประมาณการครั้งสุดท้าย +0.4% สูงกว่าการประมาณการครั้งก่อนที่เป็น +0.1% จากการลงทุนในภาคธุรกิจและยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้น แต่ยังขยายตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเป็น +0.5% และขยายตัวไม่มากพอที่จะฉุดอัตราว่างงานให้ลดลงได้

  • จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐประจำสัปดาห์สิ้นสุด 23 มี.ค.เพิ่มขึ้น 16,000 ราย สู่ 357,000 ราย โดยนักวิเคราะห์ยังคงมุมมองว่าตลาดแรงงานอยู่ในระยะฟื้นตัว

  • ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ ธ.กลางญี่ปุ่น (BOJ) ระบุว่า กำลังพิจารณาการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุยาวขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาเงินฝืดและบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% อย่างรวดเร็ว ทำให้คาดว่า BOJ จะเริ่มต้นมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างแข็งกร้าวภายหลังจากการประชุมในวันที่ 3-4 เม.ย. นี้

  • ก.คลัง เกาหลีใต้ ลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 2556 จากเดิม +3% เหลือ +2.3% จากความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกและปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจในประเทศ เช่น หนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา ทำให้ ก.คลัง วางแผนจะกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ในเดือน เม.ย.นี้

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของไทยในเดือน ก.พ -1.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เป็นผลจากการผลิตของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ปิโตรเคมี เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋อง และเบียร์ ลดลง อย่างไรก็ตาม สนง. เศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดว่า จะขยายตัวได้ 3%-4% ในไตรมาส 1 ปีนี้  เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

  • ยอดขาดดุลการค้าของไทยในเดือน ก.พ.เป็น 53.3 พันล้านบาท เนื่องจากส่งออกลดลงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย รวมถึงผลจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการปรับตัวแข็งค่าของเงินบาท โดยหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรลดลงสูงสุดถึง 13.5%




  • SET Index ปิดที่ 1,544.57 จุด ลดลง 16.30 จุด หรือ -1.04% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 73,324.10 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 687.88 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศจากความวิตกกังวลของปัญหาเศรษฐกิจในไซปรัส อีกทั้งยังเป็นการขายทำกำไรหลังจากที่ดัชนีได้ปรับตัวขึ้นแรงในช่วงต้นสัปดาห์ ทั้งนี้ปัจจัยที่ควรติดตาม ได้แก่ การประชุม กนง. ในวันที่ 3  เม.ย. และผลการประชุม ธ.กลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 4 เม.ย.




  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ค่อนข้างคงที่ในทุกช่วงอายุตราสาร ท่ามกลางการซื้อขายที่ค่อนข้างเบาบาง โดยนักลงทุนยังคงรอความชัดเจนจากการประชุม กนง. ในวันที่ 3 เม.ย.  สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 15 วัน มูลค่า 30,000 ล้านบาท 



Jim Rogers
”เมื่ออายุยังน้อย มีเงินเพียง 5,000 หรือ 50,000 ดอลลาร์ จะลงทุนแล้วขาดทุนจนหมดก็ไม่เลวร้ายเท่าไหร่ แต่เราทำอย่างนั้นไม่ได้เมื่อเงินที่เรามีมันมากถึง 50 ล้านดอลลาร์(หมายความว่าเมื่ออายุมากแล้ว มีฐานะดีขึ้น อย่าลงทุนอะไรที่จะทำให้ขาดทุนจนหมดตัวได้ เพราะเราไม่มีโอกาส เวลา และกำลังวังชา ที่จะหาเงินได้มากๆ ขนาดนั้นอีกแล้ว)
ไม่มีประเทศไหนในประวัติศาสตร์โลกที่ฟื้นฟูตนเองได้ด้วยการขึ้นภาษี ถ้าลดภาษี ลดการใช้จ่าย ทุกอย่างจะดีขึ้น
ทุกคนต้องแสวงหาหนทางของตนเอง ซึ่งบางทีมันอาจจะน่าเบื่อ บางทีก็สนุกสนาน และไม่มีใครรู้ว่าผลของมันจะเป็นอย่างไร เพราะเราไม่มีทางประสบความสำเร็จถ้าไม่พบแนวทางของเราเอง เช่น ถ้าเป็นนักดนตรี ก็ต้องค้นหาเสียง ท่วงทำนอง กับวิธีการบรรเลงในแบบของเรา เพราะนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์คือผู้ที่มีความบ้าเฉพาะตนและภาคภูมิใจในความบ้านั้น โดยเฉพาะเมื่อมันต่างจากวิถีที่คนอื่นๆ ทำกัน และนี่ก็ใช้ได้กับทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศิลปะ บทประพันธ์ การเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเงิน
เราอาจลอกการบ้านของคนอื่นแบบที่หลายๆ คนทำกัน แต่นั่นก็เป็นเหตุที่ทำให้ทุกคนลงทุนในสิ่งเดียวกัน แล้วก็เป็นเหตุให้การลงทุนล้มเหลว เราต้องกล้าที่จะหาหนทางของเรา ไม่ว่ามันจะดูเหลวไหลน่าหัวเราะเพียงใด และยิ่งมันดูเหลวไหลในสายตาคนอื่นๆ เราก็ยิ่งต้องเดินหน้าให้หนักขึ้น สรุปก็คือ เราเรียนรู้จากคนอื่นได้ แต่เราต้องหาแนวทางลงทุนของเรา และต้องเป็นตัวของตัวเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น