xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News 28/02/56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



  • ส.สถิติแห่งชาติของอิตาลี เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจการผลิตของอิตาลีในเดือน ก.พ.เพิ่มขึ้นสู่ 88.5 จาก 88.3 ในเดือน ม.ค. เพราะแม้ว่าอิตาลีจะกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในขณะนี้ ก็ยังมีแรงหนุนจากคำสั่งซื้อและแนวโน้มการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีแนวโน้มการผลิตขยับขึ้นมาที่ -4 จาก -5 ในเดือน ม.ค. ขณะที่ดัชนีคำสั่งซื้อขึ้นมาที่ -42 จาก -43

  • ผลการสำรวจโดยสถาบันวิจัย GfK ชี้ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเยอรมนีในเดือน มี.ค. ขยับขึ้นต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน สู่ 5.9 จาก 5.8 ในเดือน ก.พ. ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคมีมุมมองเป็นบวกมากขึ้น อันช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นว่าการบริโภคภาคครัวเรือนจะช่วยหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในปีนี้ แม้ว่าผู้บริโภคจะยังระมัดระวังเรื่องความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

  • ส.สถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. ทรงตัวที่ 86 ซึ่งเท่ากับเดือน ม.ค. ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับฐานะการเงินส่วนบุคคลในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ -27 ในเดือน ก.พ. จาก -29 ในเดือน ม.ค. เช่นเดียวกับดัชนีฐานะการเงินส่วนบุคคลในอนาคตที่ขยับขึ้นมาแตะ -23 ในเดือนนี้ จาก -24 ในเดือนที่แล้ว

  • ก.แรงงานฝรั่งเศส เปิดเผยว่า อัตราว่างงานของฝรั่งเศสในเดือน ม.ค.เพิ่มขึ้น 1.4% จากเดือน ก่อนหน้าและพุ่งขึ้น 10.7% เมื่อเทียบรายปี โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้นกว่า 3.169 ล้านคนในเดือน ม.ค. ซึ่งสูงสุดนับแต่ปี 2540 ซึ่งตอกย้ำว่าเศรษฐกิจของฝรั่งเศสกำลังเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของ ประธานาธิบดี ฟร็องซัว ออล็องด์ ซึ่งให้คำมั่นที่จะลดอัตราการว่างงานให้ได้ภายในสิ้นปี

  • เบน เบอร์นานเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) แสดงทีท่าว่าจะยังไม่เลิก QE ตามที่มีสมาชิก FED กลุ่มหนึ่งเรียกร้อง โดย เบอร์นานเก้ ระบบุว่า “ตลาดแรงงานยังอ่อนแอ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเร็วๆ นี้กำลังกดดันครอบครัวอเมริกันอยู่”

  • สถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐ หรือ FDIC เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์และธนาคารออมทรัพย์ของสหรัฐที่รับประกันเงินฝากโดย FDIC มีกำไรในไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น 36.9% จากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ซึ่งนับเป็นเวลา 14 ไตรมาสติดต่อกันที่ผลประกอบการสุทธิเพิ่มขึ้น โดย 60% สถาบันการเงินทั้งหมดมีรายได้สุทธิรายไตรมาสฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนของสถาบันการเงินที่รายงานการขาดทุนสุทธิลดลงมาอยู่ที่ 14% จาก 20.2% ของปีก่อน เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงเสถียรภาพที่ดีขึ้นของธนาคารในสหรัฐ

  • ก.พาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านใหม่เดือนม.ค.พุ่งขึ้น 15.6% ซึ่งสูงที่สุดนับแต่เดือน ก.ค. 2551ขณะที่ราคากลางของบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. ปีก่อน นับเป็นสัญญาณบวกที่เน้นย้ำถึงการฟื้นตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ

  • Conference Board รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐในเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้นแตะ 69.6 ซึ่งสูงสุดนับแต่เดือน พ.ย. 2555 สะท้อนว่าผู้บริโภคเริ่มปรับตัวรับผลกระทบของความไม่แน่นอนทางการคลังของประเทศและการปรับขึ้นภาษีในเดือน ม.ค.บ้างแล้ว

  • ก.พาณิชย์จีน ประกาศว่า ผลิตภัณฑ์จากฟาร์มใน 36 เมืองมีราคาลดลง เนื่องจากมีผลผลิตเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับสภาพอากาศที่อุ่นขึ้น ทั้งนี้ ราคาอาหารคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ในการคำนวนดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งใช้วัดอัตราเงินเฟ้อที่สำคัญ โดย CPI จีนร่วงลงสู่ 2% ในเดือนม.ค.

  • สำนักงานสถิติและสำมะโนประชากรฮ่องกง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัว 2.5% ในไตรมาส 4 เมื่อเทียบเป็นรายปี และเพิ่มขึ้นจาก 1.4% ในไตรมาส 3 สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวในจีนและไต้หวัน รวมถึงเอเชียที่เป็นภูมิภาคที่ช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

  • บริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลักของญี่ปุ่นทั้ง 8 แห่ง รายงานว่า ยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศเดือน ม.ค. ร่วงลง10.6% จากปีก่อน เนื่องจากโครงการให้เงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ในขณะที่ยอดการผลิตของบริษัททั้ง 8 แห่งในต่างประเทศ พุ่งขึ้น 13.6% และยอดการผลิตรถยนต์ทั่วโลกโดยรวมทั้ง 8 บริษัทในเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 4%

  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ รายงานว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกาหลีใต้เดือน ก.พ.ยังอยู่ในระดับสูง ที่ 102 ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2555  บ่งชี้ว่า ผู้บริโภคมีมุมมองเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ และคลายความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า สถาบันทางการเงินของเกาหลีใต้ได้เข้าซื้อหลักทรัพย์ในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เนื่องจากบริษัทประกันและบริษัทจัดการสินทรัพย์ต้องการพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ ทำให้หลักทรัพย์ต่างประเทศที่ถือครองปรับตัวขึ้น 1.24 หมื่นล้านดอลลาร์สู่ระดับ 6.52 หมื่นล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2555




  • SET Index ปิดที่ 1,518.05 จุด ลดลง 12.27 จุด หรือ -0.8% ปิดที่ใกล้ระดับต่ำสุดของวัน ด้วย มูลค่าซื้อขาย 58,242.09 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 204.03 ล้านบาท โดยหุ้น  กลุ่มท่องเที่ยววิ่งสวนทางกับตลาด ปิด +2.8% และ ตลาดยังรอความชัดเจนต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาการปรับลดงบประมาณรายจ่ายของสหรัฐฯ ซึ่งมีเส้นตายวันที่ 28 ก.พ. 




  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในช่วงระหว่าง -0.01% ถึง 0.02%   




  • ดร.บัณฑิต นิจถาวะ ประธานกรรมการสมาคมตรสารหนี้ไทย ระบุว่า การประชุม G7 ที่กรุงมอสโคว์ ได้ชี้บางสิ่งบางอย่างที่จะต้องระวังมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก ได้แก่


   1. เศรษฐกิจโลกขณะนี้ไม่มีผู้นำที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในลักษณะของการร่วมมือกันของกลุ่มประเทศหลักได้อย่างแท้จริง ต่างคนต่างอยู่ ต่างทำเพื่อแก้ไขปัญหาของตน และไม่สนใจว่าวิธีแก้ไขปัญหาจะกระทบต่อประเทศอื่นๆ หรือไม่ 
   2. G7 กำลังสนับสนุนการอัดฉีดสภาพคล่องให้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ทำให้ราคาสินทรัพย์เร่งตัวสูงขึ้นในระยะสั้น และจะเพิ่มอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว
   3. นโยบายอัดฉีดสภาพคล่องจะทำให้ตลาดเงินโลกผันผวนมากขึ้น เพราะการเคลื่อนไหว โดยเปรียบเทียบของค่าเงินสกุลหลักต่างๆ จะถูกขับเคลื่อนโดยการไหลเข้าออกของเงินลงทุน ในสินทรัพย์สกุลเงินต่างๆ มากกว่าที่จะถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ       
       ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยคือ ความผันผวนของเงินทุนไหลจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินในยากขึ้นจากกระแสเงินทุนไหลเข้าออกที่อาจรุนแรง สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ขณะที่สภาพคล่องที่มีมากจากเงินทุนไหลเข้าจะสร้างแรงกดดันให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปล่อยสินเชื่อ  นำไปสู่การใช้จ่ายอย่างเกินตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ราคาสินทรัพย์ และอัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น และจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง 
       แรงกดดันต่อค่าเงินจากเงินทุนไหลเข้าจะทำให้ผู้ทำนโยบายอยากแทรกแซงค่าเงินเพื่อชะลอการแข็งค่าหรืออยากลดอัตราดอกเบี้ย โดยหวังจะช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้า หรืออาจใช้มาตรการควบคุมอย่างที่เคยเกิดขึ้น แต่จะไม่สามารถหยุดการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศได้  เพราะปริมาณสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจโลกมีมาก ขณะที่เงินทุนที่ไหลเข้าก็ถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยด้านการ    เติบโตของเศรษฐกิจและด้านความเสี่ยงของการลงทุนเป็นสำคัญ ซึ่งการแทรกแซงค่าเงินอาจทำให้เงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง เพราะอยากจะทำกำไรจากค่าเงินที่จะแข็งขึ้นเมื่อทางการหยุดแทรกแซง
       ดังนั้น ควรปรับอัตราแลกเปลี่ยนตามภาวะตลาด เพราะเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนปรับเข้าสู่ดุลยภาพได้เร็ว     การแข็งค่าของเงินก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่องได้ยาก นอกจากนี้ เงินทุนไหลเข้าจะสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดฟองสบู่ ในระบบเศรษฐกิจจากการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินโดยเฉพาะในหุ้นและอสังหาฯ ทางการจึงควรดำเนินการแต่เนิ่นๆ จากเบาไปหนัก โดยเฉพาะกำกับดูแลการขยายสินเชื่อทั้งระบบ เพราะถ้าไม่ทำหรือทำช้า การดูแลความเสี่ยงของปัญหาฟองสบู่ก็จะยิ่งยากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น