คาดราคาทองอาจลงลึกไปถึง 16,000 บาท เผยตั้งแต่ต้นปีกองทุนทองคำเทขายไปแล้ว 250 ตัน ถือเป็นการลดการถือครองครั้งใหญ่ แนวโน้มขาลงยาวถึงปีหน้า แต่ราคาคงไม่ลงไปถึง 15,000 บาท ระบุหากไม่ป้องกันความเสี่ยง อาจเจอปัญหา 2 เด้ง ทั้งบาทแข็ง และราคาที่ผันผวน ขณะที่ TFEX ยืนยัน Gold futures ราคาซื้อขายเป็นไปตามตลาดโลก
นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกลุ่มบริษัท แม่ทองสุก เอ็มทีเอส โกลด์ และรองเลขาธิการสมาคมผู้ค้าทองคำ ระบุราคาทองคำที่ปรับตัวลงแรงสาเหตุหลักมาจากการที่กองทุนทองคำเทขายทองคำออกมา เนื่องจากกังวลว่าธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในยุโรปจะเทขายทองคำที่เป็นทุนสำรองเช่นเดียวกับประเทศไซปรัส
โดยในช่วง 3 วันที่ร้านค้าทองของไทยหยุดทำการ กองทุนทองคำเทขายทองคำออกถึง 35 ตัน ส่งผลให้ในช่วงกว่า 3 เดือน คือ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา กองทุนทองคำเทขายทองคำแล้วทั้งสิ้น 250 ตัน ซึ่งถือเป็นการลดการถือครองทองคำของกองทุนทองคำสูงสุดในรอบ 2 ปี
แนวโน้มราคาทองคำยังอยู่ในทิศทางขาลง โดยมีแนวรับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 1,300-1,312 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้ราคาขายทองคำแท่งในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่บาทละ 18,300-18,400 บาท ซึ่งหากราคาทองคำในตลาดโลกหลุดแนวรับที่ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐไปได้ อาจทำให้ราคาขายในประเทศลงไปถึง 16,000 บาทได้ แต่เชื่อว่าจะไม่ลดลงต่ำมากจนทำให้ราคาในประเทศอยู่ที่บาทละ 15,000 บาทอย่างแน่นอน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ทิศทางราคาทองคำจะอยู่ในช่วงขาลงไปจนถึงปีหน้า
นอกจากนี้ นพ.กฤชรัตน์ ยังระบุว่า ราคาทองคำในตลาดโลกที่ลดลงทุกๆ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จะมีผลต่อราคาทองคำในประเทศเฉลี่ยบาทละ 1,500 บาท ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง กดดันให้ราคาทองในประเทศยิ่งต่ำลง ฉะนั้น นักลงทุนทองคำรายย่อยจะต้องติดตามสถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวทางในการลงทุน ซึ่งในเบื้องต้น แนะนำการลงทุนในช่วงขาลงด้วยการทยอยซื้อขายเป็นระยะๆ มากกว่าซื้อหรือขายในคราวละมากๆ เพราะอาจเกิดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาทองคำในช่วงนี้ได้
“ราคาทองคำปรับขึ้นมา 12 ปี จากราคา 700 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ มาสูงสุดที่ 1,920 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แต่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคาตกต่อเนื่อง คงจะหมดยุคทองของทองคำ ดังนั้น การที่ราคาจะกลับไปที่ 23,000 บาท ในปลายปีคงยาก”
นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาทองคำในปัจจุบันที่มีการปรับตัวลดลงอย่างหนัก ทำจุดต่ำสุดในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ในบริเวณ 1,321 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงร้อยละ 21 จากต้นปีนี้ จนทำให้ตลาดฟิวเจอร์สในสหรัฐฯ (COMEX) ต้องปรับเพิ่มการวางเงินประกันร้อยละ 18.5 แสดงถึงการปรับตัวของราคาที่ค่อนข้างเร็ว และรุนแรง
โดยการปรับตัวลงในครั้งนี้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานที่เกิดจากกระแสข่าวของไซปรัสอาจขายทองคำประมาณ 10 ตัน จากที่มีทองคำเป็นทุนสำรอง 13.9 ตันด้วยกัน เพื่อเป็นหนทางในการได้รับเงินช่วยเหลือจากกลุ่มเจ้าหนี้ทรอยก้าเพิ่มเติม ทำให้เกิดความกังวลว่าประเทศอื่นๆ ในยูโรโซนจะมีแนวคิดดังกล่าวหรือไม่
ซึ่งหากมีการขายทองคำออกมาจริง แรงขายจากนักลงทุนทั้งรายใหญ่ และรายย่อยจะตามออกมาอีก โดยในสถานการณ์ปัจจุบัน กองทุน SPDR ได้ลดการถือครองทองคำลงอย่างต่อเนื่อง ไม่แตกต่างจากมุมมองของสถาบันชั้นนำที่ปรับลดการคาดการณ์ราคาทองปีนี้ลงอีกครั้ง
ล่าสุด โกลด์แมน แซคส์ ปรับลดคาดการณ์ราคาทองคำในระยะเวลา 3 เดือนลงมาอยู่ที่ระดับ 1,615 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากระดับ 1,825 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ส่วนในระยะเวลา 6 เดือน ได้ปรับลดคาดการณ์ราคาทองคำลงมาอยู่ที่ระดับ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากระดับ 1,805 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และปรับลดคาดการณ์ราคาทองคำในระยะเวลา 12 เดือนลงมาอยู่ที่ระดับ 1,550 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากระดับ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ในส่วนของเฮดจ์ฟันด์ก็ได้เทขายพอร์ตสินค้าโภคภัณฑ์ พร้อมโยกเงินเข้าลงทุนในหุ้น
นางพวรรณ์ กล่าวว่า วายแอลจีมีมุมมองเชิงลบต่อทิศทางของราคาทองคำในขณะนี้ ซึ่งหากราคาทองคำไม่สามารถกลับขึ้นไปยืนเหนือ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือ 20,400 บาทต่อบาททองคำ แนวโน้มขาลงของราคาทองคำจะดำเนินต่อไป โดยประเมินกรอบแนวรับไว้ที่ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือ 17,700 บาทต่อบาททองคำ หากหลุดลงไป แนวรับสำคัญจะอยู่ที่ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือ 16,300 บาทต่อบาททองคำ
ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนในขณะนี้ นักลงทุนอาจชะลอการลงทุนออกไปก่อนเพื่อรอดูว่าราคาทองคำจะสามารถตั้งฐานในบริเวณ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ได้หรือไม่ โดยสามารถเฉลี่ยซื้อได้หากมีการปรับตัวลงมาใกล้ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือ 17,700 บาท และตัดขาดทุนหากหลุดลงไป เพื่อไปรอซื้อในบริเวณด้านล่างอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากราคาทองคำกลับตัวขึ้นไปในบริเวณ 1,400-1,420 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือ 19,100-19,400 บาทต่อบาททองคำ เน้นให้นักลงทุนขายทองคำเพื่อทำกำไรออกมาก่อน เนื่องจากโซนดังกล่าวจะเป็นแนวต้านที่สำคัญ
ด้านสมาคมค้าทองคำ ประกาศปรับราคาขายทองคำในวันนี้ทั้งหมด 8 ครั้ง โดยราคาลดลง 2,400 บาท ทองคำแท่งขายออก 18,950 บาท และทองคำรูปพรรณขายออก 19,350 บาท
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าฯ (TFEX) เปิดเผยถึงบรรยากาศการซื้อขาย Gold futures และ Silver futures วันที่ 17 เมษายน 2556 โดยเปิดซื้อขายตามปกติที่เวลา 09.45 น. Gold futures และ Silver futures ที่ซื้อขายในนาทีแรกนั้นมีจำนวน 163 สัญญา และ 1 สัญญา โดยเป็นราคาที่ลดลงร้อยละ10 จากราคาในวันก่อนหน้า (12 เม.ย.56) ส่งผลให้ TFEX หยุดทำการซื้อขายสัญญาดังกล่าวเป็นการชั่วคราว 30 นาที เพื่อให้ผู้ลงทุนได้ทบทวนคำสั่งซื้อขายของตนเอง รวมถึงตรวจสอบสภาพแวดล้อม และความเคลื่อนไหวของราคา ก่อนที่จะเปิดให้ซื้อขายอีกครั้งเมื่อเวลา 10.15 น. พร้อมกับการขยายช่วงการเปลี่ยนแปลงราคาเป็น +/-20% จากราคาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มาตรการนี้เป็นการดำเนินการตามแนวทางปกติที่กำหนดไว้ เพียงแต่เป็นครั้งแรกที่ TFEX ใช้มาตรการนี้กับ Gold futures โดย ณ สิ้นวัน (17 เม.ย.56) ราคาที่ใช้ชำระราคาของ Gold futures เดือนมิถุนายน เท่ากับ 19,050 บาทต่อบาททองคำ ลดลงร้อยละ 11.2 จากราคาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ 21,450 บาทต่อทองคำหนึ่งบาท
“สำหรับกรณีที่ TFEX ได้ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับรายการการซื้อขายรายใหญ่หรือ block trade ของ Gold futures โดยกำหนดจำนวนขั้นต่ำของการซื้อขายเป็น 1 สัญญา จากเดิมที่กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 100 สัญญา เป็นการชั่วคราวนั้นพบว่าได้รับการตอบรับอย่างดีจากโบรกเกอร์ โดยมีปริมาณซื้อขาย block trade ทั้งหมด 240 สัญญา ทั้งนี้ ปริมาณการซื้อขายสัญญา Gold futures ในวันนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 18,827 สัญญา เป็นสัญญา 10 บาททองคำ 12,006 สัญญา และสัญญา 50 บาททองคำ 6,821 สัญญา โดยเมื่อรวมกับการซื้อขายเมื่อวันศุกร์ช่วงกลางคืนนั้นเป็นจำนวนรวม 31,202 สัญญา”
จากความผันผวนอย่างรุนแรงของราคาทองคำ และเงินในตลาดต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา สำนักหักบัญชีได้คำนวณและประกาศปรับเพิ่มอัตราหลักประกัน โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2556 นี้ ซึ่งจะปรับอัตราหลักประกันของ Gold futures ขนาด 50 บาททองคำ เป็น 40,000 บาทต่อสัญญา Gold futures ขนาด 10 บาททองคำเป็น 8,000 บาทต่อสัญญา และ Silver futures เป็น 5,500 บาทต่อสัญญา
ทั้งนี้ จะส่งผลให้ผู้ลงทุนทั่วไปต้องวางหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) ของ Gold futures ขนาด 50 บาททองคำเป็น 76,000 บาทต่อสัญญา และ Gold futures ขนาด 10 บาททองคำ เป็น 15,200 บาทต่อสัญญา ส่วน Silver futures อยู่ที่ระดับ 10,450 บาท และด้วยสภาพตลาดโภคภัณฑ์ในช่วงนี้ที่มีความผันผวนมาก ผู้ลงทุนควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมเงินสำรองไว้สำหรับการวางหลักประกันด้วย