xs
xsm
sm
md
lg

เสธ.ไก่อูยันชายชุดดำ ยิงM79-ปาระเบิดฆ่า"ร่มเกล้า"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-เสธ.ไก่อู เบิกความคดียิงเสื้อแดงเสียชีวิต ยันทหารใช้หลักสากลในการสลายการชุมนุม และขอคืนพื้นที่ ย้ำชายชุดดำแฝงตัวยิง M79 และปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ทำ "พ.อ.ร่มเกล้า" เสียชีวิตที่แยกคอกวัว ศาลนัดไต่สวนพยานอีกครั้งวันนี้

วานนี้ (5 ก.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนคดีชันสูตรการตาย คดีที่อัยการฝ่ายคดีอาญายื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง ชาวจังหวัดยโสธร อาชีพขับรถแท็กซี่ ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้าคอนโดมิเนียม ใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ลิงก์สถานีราชปรารภ เมื่อวันที่ 15พ.ค.2553 ระหว่างเหตุการณ์ทหารกระชับพื้นที่บริเวณราชประสงค์ โดยอัยการนำตัว พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ผอ.กองปฏิบัติการจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารบก และโฆษกกองทัพบก เป็นพยาน

ทั้งนี้ พ.อ.สรรเสริญ เบิกความว่า เมื่อช่วงปี 2553 ขณะนั้นสถานการณ์บ้านเมืองมีความขัดแย้งกัน เนื่องมีกลุ่มความคิดแปลกแยกทางการเมือง และมีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วม นปช. โดยก่อนวันที่ 12 มี.ค. ได้มีกลุ่มคนเสื้อแดงมาชุมนุมกันที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า ถ.ราชดำเนินนอก ช่วงแรกดูเหมือนการชุมนุมจะเป็นไปด้วยความสงบ แต่การชุมนุมในระยะหลังมีความรุนแรงมากขึ้น มีการปิดถนนและสถานที่ราชการสำคัญ ต่อมารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงได้ประกาศแต่งตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบภายใน (ศอ.รส.) มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผอ.ศอ.รส. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ.เป็นรองผอ.ศอ.รส. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อควบคุมและบังคับบัญชา หน่วยงานทางด้านความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจและเจ้าหน้าที่พลเรือนในหลายๆ หน่วยงาน และมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ทหารจะออกปฏิบัติงานพร้อมกับตำรวจ ในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงาน

พ.อ.สรรเสริญ เบิกความต่อว่า ขณะนั้นสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น โดยช่วงวันที่ 6-7 เม.ย.2553 ได้มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยพยายามบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา ซึ่งทราบจากข่าวโทรทัศน์ว่า มีนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เป็นแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในรัฐสภา และทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้แย่งเอาปืนประจำตัวของเจ้าหน้าที่รักษาความสงบภายในอาคารรัฐสภาด้วย

ต่อมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เห็นว่าสถานการณ์มีความตึงเครียด มีการแย่งปืนของเจ้าหน้าที่ เกรงว่าสถานการณ์จะทวีความรุนแรงบานปลายมากยิ่งขึ้น จึงประกาศ พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังจากนั้นจึงแปลงสภาพหน่วยงาน ศอ.รส. เป็น ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. เพื่อให้สอดคล้องกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมอบหมายให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นผอ.ศอฉ.และหัวหน้าผู้รับผิดชอบอีกตำแหน่งด้วย ซึ่งมีการประชุมกันทุกวันเพื่อประเมินข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆ และหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ ส่วนตนเองได้รับมอบหมายให้เป็นโฆษก ศอฉ. มีหน้าที่นำมติของที่ประชุม ศอฉ.ไปชี้แจงให้ประชาชนและสื่อมวลชนทราบว่า ขณะนี้สถานการณ์มีความรุนแรงมากแค่ไหน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตประชาชนและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยมีกฎการใช้กำลัง 7 ขั้นตอน ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล เน้นจากมาตรการเบาไปหาหนัก และการใช้อาวุธ มี 2 ลักษณะ คือ 1.กระสุนซ้อมรบ หรือกระสุนลูกแบงค์ เพื่อปฏิบัติการจิตวิทยาข่มขวัญกลุ่มผู้ชุมนุม ปกติจะไม่มีลูกไฟออกจากปากกระบอกปืน แต่มีบางกรณี ซึ่งมีลูกไฟออกจากปากกระบอกปืน แต่จะปรากฏประกายไฟน้อยมาก 2.กระสุนยาง ซึ่งใช้กับปืนลูกซอง จะใช้ยิงในระยะห่างประมาณ 30 เมตร จะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ขั้นตอนสุดท้ายเป็นการใช้กระสุนจริง ที่จะใช้วิธียิงขึ้นฟ้า หรือยิงเฉียงไปในทิศทางที่ปลอดภัย ซึ่งกระสุนจะไปไกลประมาณ 3 กิโลเมตร เพื่อข่มขวัญกลุ่มผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การใช้กระสุนจริง ก็ต่อเมื่อเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมประทุษร้ายต่อประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถหยุดยั้งด้วยวิธีการอื่นได้อีก โดยจะยิงไปยังจุดหรืออวัยวะของร่างกายส่วนที่ไม่สำคัญ

พ.อ.สรรเสริญ เบิกความอีกว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 เจ้าหน้าที่ได้มีคำสั่งเพิ่มเติมขอคืนพื้นที่ โดยออกเป็นมติที่ประชุมของศอฉ. จากนั้นได้สั่งการทางวิทยุราชการทหารไปยังหน่วยกำลังต่างๆ ตามสายบังคับบัญชา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานบริเวณสะพานผ่านฟ้าและพื้นที่ใกล้เคียงโดยปฏิบัติตามกฎการใช้กำลัง โดยช่วงแรกสถานการณ์ไม่มีความรุนแรง กระทั่งก่อนเวลาประมาณ 17.00 น. ทางศอฉ.ได้มีคำสั่งให้ทุกหน่วยยุติปฏิบัติหน้าที่และถอนกำลัง เนื่องจากเห็นเวลา ใกล้จะมืดค่ำ เกรงจะมีกลุ่มอื่นสวมรอยก่อเหตตุรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ วันเดียวกันเวลา 15.00 น. ในบริเวณสะพานปื่นเกล้าและถนนดินสอ กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงได้ก่อเหตุแย่งอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่

ต่อมา ภายหลังศอฉ.มีคำสั่งให้ถอนกำลังแล้ว ปรากฏว่าช่วงหัวค่ำ เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ อยู่บริเวณแยกคอกวัว ถูกกลุ่ม นปช. ปิดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้ไม่สามารถออกมาได้ ขณะเดียวกันก็มีเหตุการณ์ชายชุดดำที่แฝงกายอยู่ภายในกลุ่มคนเสื้อแดง ยิงระเบิดเอ็ม 79 และระเบิดขว้างเข้าใส่ ทำให้ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม หรือเสธ.เปา อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 เสียชีวิตและทหารบาดเจ็บอีกหลายราย

หลังเหตุการณ์ความรุนแรงวันที่ 10 เม.ย.2553 ปรากฏว่า อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่สูญหายไป และแจ้งความไว้ที่สน.บางยี่ขัน ประกอบด้วย อาวุธปืน ทาโว่ 12 กระบอก และปืนลูกซอง 35 กระบอก และปรากฎว่าทางกลุ่มคนเสื้อแดงได้นำอาวุธปืนที่แย่งจากเจ้าหน้าที่ไปโชว์บนเวทีการชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า และต่อมาเจ้าหน้าที่สามารถยึดคืนมาได้บางส่วนจากที่โรงแรมสวัสดี

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 มีกลุ่มคนยิงปืนเอ็ม 79 เข้าในแฟลตตำรวจและสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส มีผู้บาดเจ็บหลายราย จึงมีคำสั่งให้กระชับพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนกำลังไปกดดันและเข้าไปได้แค่ถนนราชดำริ แยกเฉลิมเผ่าและแยกชิดลม และหยุดอยู่แค่นั้น ไม่เข้าไปยังแยกราชประสงค์ซึ่งกลุ่มนปช.ชุมนุมอยู่ โดยเป็นวิธีการสร้างความกดดันและกระชับวงล้อมเข้ามาเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเอง และมีจุดประสงค์เพื่อจะเข้าไปควบคุมพื้นที่สวนลุมพินี ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทราบว่ามีการซุกซ่อนและยิงระเบิดเอ็ม 79 มาจากบริเวณนั้น

ส่วนเหตุการณ์ยิงสกัดรถตู้ที่บริเวณถนนราชปรารภนั้น ตนเองไม่ทราบ เนื่องจากปฏิบัติงานอยู่ในส่วนกลาง ไม่ได้ออกไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งควบคุมดูแลตั้งแต่ บริเวณถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนพญาไท ถนนราชวิถีและถนนเพชรบุรี

ทั้งนี้ ศาลนัดไต่สวนพยานอีกครั้ง ในวันนี้ (6 ก.ค.) เวลา 09.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น