xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทหารแก้เกมเร็ว ตำรวจบิดคดี 6 ศพวัดปทุมฯ รับใช้ “แม้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศพผู้เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม หลังการสลายชุมนุมคนเสื้อแดง วันที่ 19 พฤษภาคม 2553
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- การไต่สวนคดี “6 ศพวัดปทุม” นัดแรก เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นได้อย่างชัดเจนว่า คำให้การของตำรวจมีเจตนาจะโยนความผิดไปให้ทหารแบบเต็มๆ เพื่อให้ฝ่ายคนเสื้อแดงได้เปรียบในรูปคดี

นี่เป็นหมากอีกตาหนึ่งที่จะบีบให้ฝ่ายทหารและพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมในกระบวนการปรองดองกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ชักใยการชุมนุมของคนเสื้อแดงอันนำไปสู่การตายของทั้ง 6 คนนั่นเอง

ผู้ขึ้นเบิกความต่อศาลในการไต่สวนนัดแรกในวันนั้น ก็คือ พ.ต.อ.สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 ในฐานะหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน และญาติของผู้เสียชีวิตในฐานะพยานรวม 7 คน

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า พ.ต.อ.สืบศักดิ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ชุดที่ 3 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2554 หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ส่งสำนวนไปให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สอบสวนต่อ หลังจากมีการเปลี่ยนข้อสรุปสาเหตุการตาย จากเดิมที่ยังไม่สามารถระบุได้ มาเป็นเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ในคำเบิกความนั้น เห็นได้ชัดเจนว่า มีการตัดตอนข้อเท็จจริงหลายประการ เพื่อชี้นำว่า การตายของคนทั้ง 6 มาจากการกระทำที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ทหาร

พ.ต.อ.สืบศักดิ์ให้การว่า คดีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม - 19 พฤษภาคม 2553 โดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เริ่มชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน เพื่อขอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออก แต่รัฐบาลไม่ยอมทำตาม กลุ่มผู้ชุมนุมจึงขยายการชุมนุมไปหลายพื้นที่ รวมถึงแยกราชประสงค์ ซึ่งมีผู้มาร่วมชุมนุมจำนวนมาก นายอภิสิทธิ์จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและแต่งตั้งให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็น ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อระงับสถานการณ์รุนแรง ...ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 แกนนำกลุ่ม นปช.ได้ประกาศยุติการชุมนุมบริเวณเวทีราชประสงค์ พร้อมทั้งประกาศให้ผู้ชุมนุมไปรวมตัวกันที่วัดปทุมวนาราม เพื่อรอเดินทางกลับบ้าน ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารจาก 2 หน่วยงานได้ลาดตระเวนบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน และบนสถานีรถไฟฟ้าสยามเพื่อปฏิบัติหน้าที่ระงับเหตุเพลิงไหม้หน้าห้างสรรพสินค้าสยาม

ระหว่างนี้นายสุวรรณ ศรีรักษา ซึ่งกำลังต่อแถวเข้าห้องน้ำในวัดปทุมวนาราม ถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่ร่างกายเสียชีวิต ส่วนนายอัฐชัย ชุมจันทร์ ถูกยิงขณะเดินข้ามถนนจากแยกเฉลิมเผ่ามาที่หน้าวัดปทุมฯ ในเวลาใกล้เคียงกัน นายรพ สุขสถิต และนายมงคล เข็มทอง อาสาสมัครป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งยืนอยู่บริเวณประตูทางออกวัดปทุมฯ ถูกยิงเข้าที่ร่างกาย สำหรับ น.ส.กมนเกด อัคฮาด และนายอัครเดช ขันแก้ว ซึ่งเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้บาดเจ็บถูกยิงขณะก้มหลบกระสุนปืนบริเวณเต็นท์ภายในวัดปทุมฯ

หลังเกิดเหตุได้นำศพทั้งหมดส่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจสอบ พร้อมทั้งได้เชิญผู้เชี่ยวชาญร่วมตรวจพิสูจน์วิถีกระสุนปืนพบว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ศพ ยกเว้นนายอัฐชัยถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หัวเขียว ซึ่งเป็นกระสุนที่ใช้กับปืนเอ็ม 16 และปืนทราโวที่ใช้ในราชการทหาร เข้าอวัยวะสำคัญเสียชีวิต โดยวิถีกระสุนเป็นการยิงจากบนลงล่างเท่านั้น ซึ่งสอบสวนเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำรางรถไฟฟ้าให้การว่า มีชายชุดดำยิงปืนขึ้นมาจึงได้ยิงตอบโต้ไป แต่จากการตรวจรอยวิถีกระสุนไม่พบการยิงจากล่างขึ้นบน นอกจากนี้ ภาพถ่ายของประจักษ์พยานนำมาให้ตนหลังเกิดเหตุพบว่าบนรางรถไฟฟ้ามีเพียงเจ้าหน้าที่ทหารประจำจุดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในการสอบสวนตนทราบว่ามีเอกสารแผนการปฏิบัติการสลายการชุมนุม แต่ไม่ได้นำมาประกอบในการพิจารณา 

จากคำให้การของ พ.ต.อ.สืบศักดิ์เห็นได้ว่า มีการละเลยข้อเท็จจริงหลายประการเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ซี่งฝ่ายผู้ชุมนุมได้แสดงพฤติกรรมยั่วยุให้เกิดความรุนแรงมาโดยตลอด ราวกับว่าต้องการให้มี“ศพ”เพื่อนำไปขยายผลการชุมนุม

เริ่มตั้งแต่การชุมนุมช่วงแรกๆ ที่มีการเทเลือดใส่ทำเนียบรัฐบาลและบ้านพักนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่งมวลชนไปขับไล่หน่วยทหารที่มารักษาการให้กลับเข้ากรมกอง ขยายพื้นที่ชุมนุมจากถนนราชดำเนินไปที่สี่แยกราชประสงค์ เคลื่อนมวลชนไปบุกรัฐสภา ทำให้นายอภิสิทธิ์ในฐานะนายกฯ ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ผู้ชุมนุมยังไม่หยุด ได้บุกไปยึดสถานีดาวเทียมไทยคม ยืดปืนเจ้าหน้าที่ บุกเข้าไปในกองทัพภาคที่ 1 จนกระทั่งมีการขอคืนพื้นที่บริเวณแยกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ซึ่งมีการปรากฏตัวของกองกำลังไม่ทราบฝ่ายใช้อาวุธสงครามยิงใส่เจ้าหน้าที่ทหารจนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้อาวุธและกระสุนจริงในการควบคุมการชุมนุมหลังจากนั้นเป็นต้นมา ซึ่งฝ่ายผู้ชุมนุมก็ได้ใช้อาวุธยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่มาโดยตลอด

ส่วนวันที่ 19 พฤษภาคมนั้น ทหารได้ปฏิบัติการกระชับพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ ตั้งแต่ช่วงเช้า จนถึงเวลาบ่าย แกนนำ นปช.ได้ประกาศยุติการชุมนุมและยอมมอบตัวกับตำรวจ ศอฉ.จึงได้ประกาศยุติปฏิบัติการกระชับพื้นที่ แต่หลังจากนั้นก็เกิดการเผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โรงภาพยนตร์สยาม และสถานที่ใกล้เคียง

สำหรับการเสียชีวิตของทั้ง 6 คนที่วัดปทุมฯ นั้น จากบันทึกของนักข่าวภาคสนามที่อยู่ในเหตุการณ์ ระบุว่า เป็นการยิงในช่วงเวลาค่ำ ซึ่งบรรยากาศเริ่มมืดแล้ว และไม่สามารถระบุได้ว่า ยิงมาจากทิศทางใด แต่ในการเบิกความของ พ.ต.อ.สืบศักดิ์กลับมีการระบุรายละเอียดอย่างชัดเจนว่าแต่ละคนเสียชีวิตอย่างไร ที่ไหน รวมทั้งทั้งเชื่อมโยงสถานการณ์ราวกับละครโศกนาฏกรรมก็มิปาน

ทั้งที่หากพิจารณาตามหลักแห่งเหตุและผลแล้ว มีความจำเป็นอะไรที่ทหารต้องยิงอาวุธใส่ผู้ชุมนุมให้มันเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาอีก ในเมื่อการชุมนุมยุติลงแล้ว และการที่มีคนตายในวัดปทุมฯ ฝ่ายที่ได้ประโยชน์ก็คือฝ่ายคนเสื้อแดงและ พ.ต.ท.ทักษิณนั่นเอง เพราะนี่คือปมที่ถูกทิ้งไว้ให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ต้องตามแก้

คำเบิกความต่อศาลในวันนั้น แม้จะเป็นเพียงคำเบิกความจากพยานปากแรก ยังไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่เมื่อถูกเผยแพร่ออกมาทางสื่อ แน่นอนฝ่ายคนเสื้อแดงและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้นำเอาไปขยายผลตอกย้ำคำว่า “ทหารฆ่าประชาชน”ทันที

วันรุ่งขึ้น 19 มิถุนายน พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบกจึงได้แถลงเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับคดีนี้ 3 ประด็น

ประเด็นแรก ผู้เสียชีวิตถูกยิงด้วยกระสุน .223 หัวสีเขียว เป็นกระสุนทีใช้กับปืน เอ็ม 16 และปืนทราโว ที่มีการระบุมีใช้เฉพาะเจ้าหน้าที่เท่านั้น โดยข้อเท็จจริง คือ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 เจ้าหน้าที่ได้ถูกปล้นปืน และกระสุนบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า เป็นอาวุธปืนทราโว 12 กระบอก พร้อมกระสุน .223 หัวสีเขียว จำนวน 700 นัด ปืนลูกซอง 35 กระบอก พร้อมกระสุนยาง 1,152 นัด ซึ่งได้แจ้งความไว้ที่ สน.บางยี่ขัน 15 เม.ย.53 และในวันเดียวกัน เวลา 20.00 น.เจ้าหน้าที่ทหารได้ถูกปล้นปืนบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นปืนทราโว จำนวน 13 กระบอก และได้แจ้งความไว้ที่ สน.ชนะสงคราม เมื่อวันที่ 13 เม.ย.และวันที่ 15 เม.ย.53 เจ้าหน้าที่ได้ถูกปล้นปืนบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงเป็นอาวุธ เอ็ม 16 2 กระบอก และกระสุน เอ็ม 16 อีก 100 นัด ซึ่งปืนและกระสุนที่ถูกปล้นไปเหล่านี้มีหลักฐานว่าได้นำมาก่อเหตุหลายเหตุการณ์      

          ส่วนประเด็นการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ที่ระบุว่า ไม่พบร่องรอยจากการยิงจากบริเวณด้านล่างขึ้นไปบนสถานีรถไฟฟ้า ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงการเคลื่อนกำลังทหารขณะนั้น ไม่สามารถผ่านแยกเฉลิมเผ่าเข้าไปได้ เนื่องจากชายชุดดำอยู่บนพื้นราบได้ยิงสกัดเจ้าหน้าที่ไม่ให้มีการเคลื่อนกำลังเข้าไป และจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่สอบสวนได้สอบทหารได้ให้การเห็นชายชุดดำ ว่า ชายชุดดำได้หลบอยู่บริเวณตอม่อต้นที่ 1 นับจากบริเวณแยกเฉลิมเผ่า (ถนนพระราม 1 ตัดกับถนนอังรีดูนังต์) และได้ใช้ปืนความเร็วสูงยิงเจ้าหน้าที่ สังเกตได้จากกระสุนปืนกระทบตอม่อ และคานปูนของรถไฟฟ้า ซึ่งแตกกระจายและมีฝุ่นตลบจำนวนมาก ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนสอบสวน และมีภาพถ่ายของรอยกระสุนอยู่บริเวณรถไฟฟ้าสยาม แต่(ในคำให้การของ พ.ต.อ.สืบศักดิ์)ไม่มีการกล่าวถึง         
       
   นอกจากนี้ ประเด็นภาพถ่ายของประจักษ์พยานนำมาให้หลังเกิดเหตุ พบว่า บนรางรถไฟมีเพียงเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่ข้อเท้จจริงเจ้าหน้าที่ทหารวางกำลังอยู่บนรางรถไฟฟ้าจริง แต่การวางกำลังนั้น ไม่ได้วางตลอดแนว เพราะถูกขัดขวางตลอดเวลา และแนวที่วางกำลังไปได้แค่สถานีรถไฟฟ้าสยาม ถึงวัดปทุมวนารามเท่านั้น

การออกมาตอบโต้อย่างทันควันของ ทบ.ครั้งนี้ พ.อ.วินธัยระ

บุว่า กองทัพบกไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรม แต่คาดหวังว่า ทุกฝ่ายจะทำหน้าที่ของตนด้วยความรับผิดชอบตามหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เนื่องจากพบข้อมูลที่เสนอเป็นข่าวว่าเนื้อหาเป็นเช่นนี้ เราก็ชี้แจงเพิ่มเติม ไม่อยากให้ปักใจเชื่อหรือเข้าใจผิดในสิ่งที่นำเสนอ

อย่างไรก็ตาม นี่นับเป็นการแก้เกมเร็วของฝ่ายทหารที่ออกไปปฏิบัติการกระชับพื้นที่การชุมนุมขงคนเสื้อแดง ตามคำสั่งของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และคงจะไม่ยอมตกเป็นแพะรับบาปของนักการเมืองอย่างแน่นอน

ศพผู้เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม หลังการสลายชุมนุมคนเสื้อแดง วันที่ 19 พฤษภาคม 2553
กำลังโหลดความคิดเห็น