xs
xsm
sm
md
lg

พระราชอำนาจพิเศษของกษัตริย์นอกและเหนือรัฐธรรมนูญในทัศนะของจอห์น ล็อค (3)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

“บุคคลจะยอมรับความชอบธรรมของการกระทำนอกกฎหมายมิได้ เว้นแต่ว่าความยึดมั่นในหลักการกระทำที่ชอบธรรมสอดคล้องกับกฎหมายนั้นอ่อนแอลง แต่จอห์น ล็อค กลับกระทำเช่นนั้นอย่างชัดแจ้ง เขาอ้างในหนังสือชื่อ Two Treatises of Government ว่า กษัตริย์มีสิทธิ์ตามกฎหมายธรรมชาติทั่วไป (II/159) ที่จะกระทำอะไรก็ได้เพื่อประโยชน์ของสังคม โดยไม่ต้องมีกฎหมายรองรับ หรือแม้กระทั่งขัดกับกฎหมาย มีคำถามว่า ทำไมจึงต้องมีอำนาจดังกล่าว และอำนาจนั้นเป็นอย่างไร ในประเทศประชาธิปไตย”

การกำหนดเวลาของสมัยประชุมไว้ในรัฐธรรมนูญน่าจะดีกว่าปล่อยให้ขึ้นกับความเก่งหรือดีของกษัตริย์ อย่างน้อย นั่นก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าปล่อยวางไว้กับความสามารถที่ประชาชนจะลงโทษฝ่ายบริหารที่ไร้ความเชื่อมั่นหรือไม่ล่วงรู้ว่าจะกำหนดเวลาอย่างไรดี ล็อคแนะนำว่าอย่าใช้ทางเลือกนี้ และในการคัดค้านการกำหนดเวลาไว้ในรัฐธรรมนูญ ล็อคบอกว่ากรณีเช่นนี้ไม่มีทางออกอื่นนอกจากการลุกฮือของประชาชน

ในการคัดค้านทางเลือกดังกล่าว ล็อคได้ใช้คำว่า “Prerogative” หรืออำนาจพิเศษเป็นครั้งแรก อำนาจนั้นก็คืออำนาจที่จะเรียกเปิดประชุมและยุบสภา ล็อคมิได้ใช้คำดังกล่าวจนกระทั่งเขาได้บรรยายถึงความบกพร่องของจินตนาการล่วงหน้าของมนุษย์ และข้อเท็จจริงที่ว่าประชาชนเท่านั้นจึงจะเป็นผู้ตัดสินได้ นี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจ Prerogative ต่างๆ ที่จะหลั่งไหลตามกันออกมา และนี่ก็เป็นตัวอย่างหลัก ที่ล็อคใช้เพื่อจูงให้คนออกไปจากการโต้แย้งกันเรื่อง Prerogative ต่อไปอีกด้วย (cf. II 167)

ในขณะที่ตัวอย่างแรกเป็นเรื่องของการเปิดแล้วก็ปิดการประชุมหรือยุบสภา ตัวอย่างที่สอง กลับเป็นเรื่องของการล้มล้างสถาบันนิติบัญญัติ ซึ่งล็อคบอกว่า ไม่ใช่หรอก ปฏิรูปต่างหากไม่ใช่ล้มล้าง ปฏิรูปให้สภาเป็นไปตามรูปแบบที่คิดไว้แต่ต้น (II 158) เรื่องนี้ล็อคเสนอแนวคิดทฤษฎีที่ลึกซึ้งมากเกี่ยวกับความเป็นอนิจจังและพลังของการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคต ซึ่งปรากฏอยู่ตลอดเวลา เป็นเหตุให้เห็นได้ชัดในกรณีที่เมืองหรือ Borough ของอังกฤษเป็นจำนวนมากที่ตกต่ำเสื่อมโทรมสุดขีด จนกระทั่ง Prerogative หรืออำนาจพิเศษที่มีอยู่ในขณะนั้นไม่เพียงพอที่จะแก้ไขได้ (II 157) เพราะฉะนั้น จึงจำต้องขยายขอบเขตของอำนาจพิเศษอีก อย่างไรก็ตาม การขยายขอบเขตดังกล่าวต้องมีเหตุผลรับฟังได้ แต่ล็อคก็มิได้เสนอหรือสักแต่ว่าบวก prerogative อันใหม่ด้วยการเติมตัว s เข้าไปหลัง Prerogative (s) เพื่อทำให้เห็นว่า Prerogative ยังมีอยู่อีกเยอะ

แท้ที่จริง ล็อคเสนอทฤษฎี Prerogative กว้างๆ โดยไม่ต้องเติม s เกี่ยวกับ Borough หรือเมืองที่ตกต่ำเสื่อมโทรม ล็อคกล่าวว่า “แขกคนที่มาเห็นเมืองต่างก็พากันแปลกใจในสภาพซึ่งรู้สึกได้ทันทีว่าจำเป็นจะต้องกอบกู้เป็นการใหญ่” ด้วยหลักเกณฑ์ทุกๆ อย่างที่มีอยู่ ล็อคมองเห็นว่าไม่มีทางที่จะกู้ได้ (II 157) เว้นเสียแต่ว่าจะปฏิรูปใหญ่ ล้มเลิกรัฐบาลหรือการปกครองท้องถิ่นตามหลักความยินยอมของประชาชนทุกคนเสีย แล้วนำกฎ Regal Sovereignty หรืออำนาจกษัตริย์ในรัฐบาลกลางมาใช้ สภาผู้แทนจะเป็นเสมือนสภาที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ ตามความเห็นในอดีตของ Filmer และขึ้นอยู่กับการควบคุมตามพระราชอัธยาศัย อนึ่ง เนื่องจากการสร้างสถาบันนิติบัญญัติขึ้นมาครั้งแรกเป็นประดิษฐกรรมสูงสุดของสังคม จึงไม่มีอำนาจใดๆ ที่ต่ำกว่าจะมาทำลายล้มล้างได้ และแม้ประชาชนก็ไม่มีอำนาจกระทำเช่นนั้นได้หากยังมีรัฐบาลบริหารอยู่ และถ้าหากเรายอมรับประวัติการเกิดรัฐบาลอันชอบตามกฎหมายครั้งแรกตามคำอธิบายของล็อค เราก็มองไม่เห็นหนทางที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงความตกต่ำเสื่อมทรามของมันได้เพียงเพราะมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากร (II 157; cf II 134, II 149, II 150)

ล็อคเสนอวิธีแก้ไขด้วยการใช้ศัพท์ทางทฤษฎีอย่างสูง เขายกคำของ Cicero มาอ้างว่า “ความปลอดภัยของประชาชนคือกฎหมายสูงสุด : Salus Populi Suprema Lex” อันเป็นหลักพื้นฐานที่สำคัญและชอบธรรมยิ่ง และบุคคลกระทำตามหลักที่ว่านี้คงจะไม่กระทำอะไรผิดจนเสียหาย (II 158) ถึงแม้หลักการนี้จะมีเหตุผลอย่างสมบูรณ์ และถึงแม้ล็อคจะถูกต้องในการอนุมานว่าการกระทำตามหลักนี้จะไม่มีความผิดพลาด แต่ก็ยังน่าประหลาดใจอยู่ดีที่ล็อคกล่าวเช่นนั้น

เรารับทราบแล้วว่า สภานิติบัญญัติเป็นผู้ออกกฎหมายเพื่อประโยชน์และความผาสุกของประชาชน และประชาชนจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ด้วยการยอมสละสิทธิส่วนตัวที่จะตัดสินใจว่าอะไรคือประโยชน์ของส่วนรวม กล่าวคือจะยกประโยชน์ส่วนตัวไว้เหนือประโยชน์ส่วนรวมมิได้ (II 87,II 89, II 129-130) ทีนี้ ล็อคกลับเสนอว่าการตัดสินใจส่วนตัว (ของบุคคลบางคน) เพื่อความดีของส่วนรวมนั้นอาจสงวนไว้ได้ เพื่อให้บุคคลนั้นบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง(คือประโยชน์ของปวงชน) ความสงสัยของเรากลับยิ่งเพิ่มขึ้นว่าการกระทำนั้นจะต้องยิ่งใหญ่เพียงใด จึงจะฟังได้ว่าหลักหรือการปกครองใหม่ที่เสนอนั้นจำเป็นและดีจริงๆ การปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นในเมืองหรือ Borough ต่างๆ ที่ตกต่ำเสื่อมโทรมของอังกฤษนั้นเป็นแต่เพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น

แต่ถ้าหากไม่มีตัวอย่างแบบนี้ คนก็จะคิดว่า Prerogative ก็คืออำนาจที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ โดยไม่มีความจำเป็น เป็นการกระทำนอกกฎหมาย และมิใช่อำนาจที่เป็นหรือออกกฎหมายได้ ทั้งนี้ด้วยเหตุที่เราหลงเชื่อว่าสภานิติบัญญัติเท่านั้นที่เป็นผู้ออกกฎหมายแต่ผู้เดียว แต่นี่ ก็เห็นแล้วว่ากฎ(หมาย)ว่าด้วยการเลือกตั้งก็ออก(เปลี่ยน)ใหม่ โดยโยนกฎหมายเก่าทิ้งไปเสียก็ได้ มันจึงมิใช่เป็นแค่การปรับปรุงกฎหมายนิติกรรมสัญญาหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของ Common Law เท่านั้น มันเป็นการบังคับใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่

เนื่องจากข้อสรุปข้างต้นนี้ออกจะแปลกอยู่สักหน่อย อาศัยเหตุผลที่ล็อคยกมาอ้างถึงตรงนี้ เราจะลองพยายามแปลความหมายของล็อค โดยไม่ต้องให้ล็อคมาอธิบายซ้ำอีก เราอาจกล่าวได้แบบลำลองว่า แท้ที่จริงไม่มีการออกกฎหมายขึ้นมาให้เลือกตั้งใหม่ แต่ในกรณีนี้ กษัตริย์ผู้ปกครองทรงใช้พระราชอำนาจเพียงหนึ่งครั้ง ให้เกิดการปฏิบัติตามพระราชโองการเพื่อให้มี “Fair and Equal Representative คือตัวแทนอันเที่ยงธรรมและทั่วถึง” (II158) ขึ้นเป็นหลักการถาวรในอนาคต ด้วยการใช้วิธีการใหม่ (แทนที่จะใช้พรรคการเมืองในสภาปัจจุบัน) ดังนั้น ถ้าเราอยากได้ทางเลือกนี้ วิธีการใหม่ที่ว่านั้นจะเป็นอย่างไร ก็มีอยู่ 2 ทาง เมื่อใช้พระราชอำนาจแล้ว ก็ให้สภารับรองหรือไม่ก็ให้ประชาชนยอมรับ (ตามครรลองประชาธิปไตย) ทั้งสองอย่างนี้หนีไม่พ้นปัญหา อย่างที่หนึ่ง สภาที่ไหนจะยอมรับกติกาใหม่ที่ทำลายผลประโยชน์ของตน (ที่ได้รับจากระบบเดิมในปัจจุบัน) แม้แต่สภาที่รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ก็ตาม สภาที่คดโกงคอร์รัปชันไม่มีวันจะทำให้

ในขณะเดียวกัน หากจะให้ปวงชนทั้งมวลลงคะแนนรับรอง มันก็อาจจะเป้นเพียงการสมยอมมิใช่การยอมรับที่แท้จริงก็ได้ (cf.II 158, II 164, II 165, II176, II 227) เพื่อจะหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้ดังกล่าว เราจำเป็นจะต้องยกอำนาจให้กษัตริย์ (มีพระบรมราชโองการ) ออกกฎหมายใหม่ โดยไม่มีข้อจำกัดพระราชอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น ล็อคมิได้เปิดทางให้เราแก้ปัญหานี้ได้ง่ายๆ และเราก็ต้องไม่หลงว่าคำอธิบายที่กล่าวมาทั้งหมดเพียงพอแล้ว

ไม่ว่าใครจะอ่านหมวดนี้ว่าอย่างไร ก็ต้องเห็นได้ชัดว่า ขอบเขตของ Prerogative หรือพระราชอำนาจพิเศษนั้นกว้างใหญ่ไพศาล มีความชอบธรรมที่สามารถแม้แต่จะลบล้างรัฐธรรมนูญในขณะนั้นได้ ด้วยตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นนี้ เราจึงเริ่มเข้าใจนิยามคำแรกของคำว่า Prerogative หรือพระราชอำนาจพิเศษ

ที่มา :
เรียบเรียงจาก The Extraconstitutionality of Lockean Prerogative ของ Ross J. Corbett
กำลังโหลดความคิดเห็น