xs
xsm
sm
md
lg

ดุสิตโพลเตือนรัฐเผด็จการ เอแบคโพลเชลียร์ซ้ำซาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-สวนดุสิตโพลชี้นักการเมืองต้นตอความวุ่นวาย จี้รัฐบาลอย่าดึงดันใช้เสียงข้างมากโดยไร้เหตุผล ส่วนฝ่ายค้านก็อย่าค้านทุกเรื่อง ด้านเอแบคโพล เผยคนไทย "รักประชาธิปไตย" มาก อ้างรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" คอร์รัปชั่นหรือไม่นั้น ความเห็นก้ำกึ่ง

"สวนดุสิตโพล" เผยชาวบ้านร้อยละ 40.29 แนะรัฐบาลไม่หักหาญใช้เสียงข้างมากโดยไร้เหตุผลแก้วิกฤติ ร้อยละ 53.06 วอนฝ่ายค้านไม่ใช้อารมณ์ อย่าค้านทุกเรื่อง ร้อยละ 56.49 ขอพันธมิตรฯอย่าใช้ความรุนแรง ร้อยละ 50.72 จี้แดงอย่าวู่วาม มุ่งเอาชนะจนลืมความถูกต้อง ร้อยละ 39.22 หนุนประชาชนอยู่เฉยๆ และร้อยละ 44.24 เบื่อการเมืองมาก ชี้นักการเมืองต้นเหตุวุ่นวาย

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,430 คน ถามว่ารัฐบาลควรทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ณ วันนี้ บานปลาย โดยกลุ่มตัวอย่าง 40.29 % บอกว่า จะต้องใช้เหตุผล ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ใช้วิธีการเจรจา พูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ หรือมีข้อตกลงที่เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ไม่หักหาญใช้เสียงข้างมากโดยไร้เหตุผล

ขณะที่ 24.73 % บอกควรพิจารณาข้อดี ข้อเสีย ศึกษาข้อมูล แนวทางหรือทางเลือกต่างๆอย่างละเอียด รอบคอบ ชัดเจน โดยยึดหลักความถูกต้องและคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ

ส่วนอีก 22.61 % ระบุ การรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ดำเนินการอย่างเป็นกลาง ยุติธรรม ตรงไปตรงมา และทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และ 12.37 % ให้ยึดหลักประชาธิปไตย เคารพกฎระเบียบ ไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ควรให้การพิจารณาต่างๆ เป็นไปด้วยความชอบธรรม

เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านควรทำอย่างไร ? เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ณ วันนี้ บานปลาย โดยกลุ่มตัวอย่าง 53.06 % เห็นว่า การรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน หันหน้าเข้าหากัน ประนีประนอม ไม่ใช้อารมณ์ หรือความรุนแรง ซึ่งนำมาสู่เหตุการณ์ที่วุ่นวาย หรือบานปลายยิ่งขึ้นไปอีก และไม่ค้านทุกเรื่อง

ส่วนอีก 18.03 % เห็นว่า การเป็นฝ่ายค้านที่ดี ทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุด ยึดปฏิบัติตามกฎระเบียบ และความเป็นประชาธิปไตย

ขณะที่ 15.65 % เห็นว่า ต้องไม่เล่นเกมการเมือง หรือออกมาปลุกระดมให้ประชาชนเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รุนแรง ไม่ยั่วยุ ใส่ร้ายป้ายสี หรือ ปล่อยให้สมาชิกฝ่ายค้านออกมาแสดงท่าที หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และ 13.26 % ให้ใช้เหตุผล ข้อมูลข้อเท็จจริงมาหักล้าง หรือหากมีข้อโต้แย้ง ควรออกมาชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ หรือสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจนยิ่งขึ้น

เมื่อถามว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ควรทำอย่างไร ? เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ณ วันนี้ บานปลาย โโยกลุ่มตัวอย่าง 56.49 % เห็นว่า ต้องไม่ใช้ความรุนแรง หรือสร้างสถานการณ์ การยั่วยุต่างๆ ที่สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายอื่น ส่วนอีก 23.51 % เห็นว่า การรับฟังข้อมูลข่าวสารจากหลายๆ ด้าน ไม่ควรด่วนสรุป หรือฟังความเพียงข้างเดียว ขณะที่ 12.98 % เห็นว่าการชุมนุม เคลื่อนไหวจะต้องเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย แกนนำออกมาชี้แจงในสิ่งที่ต้องการ และ 7.02 % บอกว่า ควรเห็นแก่ส่วนรวม ยึดหลักความสามัคคี ปรองดอง ยึดมั่นในความถูกต้อง ยุติธรรม

ส่วนเมื่อถามถึง กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นั้น กลุ่มตัวอย่าง 50.72 % เห็นว่า ต้องไม่วู่วาม ไม่ใช้อารมณ์หรือความรุนแรงในการแก้ปัญหา ไม่มุ่งหวังแต่เอาชนะกันเพียงอย่างเดียว จนลืมนึกถึงความถูกต้อง และประโยชน์ของส่วนรวม ขณะที่ 19.57 % ระบุ แกนนำจะต้องควบคุมดูแลผู้ชุมนุมให้อยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อย การชี้แจง หรือให้ข้อมูลต่างๆ กับผู้ชุมนุมควรเป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง

ส่วนอีก 17.39 % ไม่อยากให้มีการชุมนุม หรือมีการประท้วงที่ยืดเยื้อ และ 12.32 % เห็นว่า การชุมนุมสามารถทำได้ แต่ควรอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด ไม่ด่วนสรุป หรือฟังความข้างเดียว รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน

เมื่อถามว่า ประชาชนควรทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ณ วันนี้ บานปลาย

กลุ่มตัวอย่าง 39.22 % เห็นว่า อยู่เฉยๆ ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ไม่ออกมารวมตัว หรือออกมาสร้างความวุ่นวายให้กับสังคม

ส่วน 29.30 % บอกให้ติดตามข่าวสารอย่างมีสติ มีวิจารณญาณในการรับฟังที่ดี ศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างละเอียดชัดเจน

อีก 22.96 % ให้ยึดหลักความสามัคคี ปรองดอง มีสติ หันหน้าเข้าหากัน และ 8.52 % ให้เคารพกฎหมายบ้านเมือง ให้ความร่วมมือกับภาครัฐเมื่อมีการร้องขอ เห็นแก่ส่วนรวมเป็นสำคัญ

เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชน ในภาพรวมต่อความวุ่นวายทางการเมือง ณ วันนี้ กลุ่มตัวอย่าง 44.24 % ระบุ รู้สึกเบื่อหน่ายการเมืองอย่างมาก มองว่านักการเมืองเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายทางการเมือง โดยเฉพาะมุ่งหวังแต่การแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ส่วนอีก 27.22 % เห็นว่า นักการเมืองควรเป็นแบบอย่างที่ดีของการสร้างความปรองดอง ช่วยกันรักษาภาพลักษณ์ของนักการเมืองและการเมืองไทย โดยเฉพาะการแก้ไขเรื่องความวุ่นวายในสภาเพื่อไม่ให้บานปลาย จนเป็นความวุ่นวายของบ้านเมือง

ขณะที่ 19.05 % บอกนักการเมืองควรใช้การเจรจา พูดคุยอย่างสันติวิธี รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ใช้สติมากกว่าใช้อารมณ์ และ 9.49 % เห็นว่า ตัวประชาชนเองจะต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายต่างๆ ติดตามข่าวสารอย่างมีสติ ไม่ทะเลาะกันเอง ไม่เข้าร่วมการชุมนุมหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับบ้านเมือง

**เอแบคอ้างประชาธิปไตย

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง คนไทยหัวใจประชาธิปไตย กับการยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชัน แต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 12 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ อุดรธานี กาฬสินธุ์ นครราชสีมา ภูเก็ต และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,142 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 - 9 มิ.ย.55 ที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงระดับความรักของประชาชนที่มีต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 76.1 ตอบว่า รักค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด เพราะ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีเสรีภาพ มีโอกาสแสดงออก เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ถึงจะเห็นต่างแต่ก็อยู่ร่วมกันได้ มีโอกาสเกิดความเป็นธรรมในสังคมได้มากกว่า และเสียงของประชาชนมีความสำคัญมากกว่า เป็นต้น

ในขณะที่ ร้อยละ 23.9 รักค่อนข้างน้อย ถึงไม่รักเลย เพราะ มีแต่ความวุ่นวาย แตกแยก บ้านเมืองไม่สงบ มีแต่การแทรกแซง เอารัดเอาเปรียบ และแก่งแย่งชิงอำนาจกันอย่างน่ารังเกียจ เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.2 ยังคงเห็นว่า เหตุการณ์ความวุ่นวายในสภา และนอกสภาในขณะนี้ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของประชาธิปไตย ในขณะที่ ร้อยละ 40.8 เห็นว่า ไม่ปกติธรรมดา

เมื่อถามถึงระดับความพอใจของประชาชน ต่อบทบาทการวางตัวของกองทัพในเวลานี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.7 พอใจค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 31.3 พอใจค่อนข้างน้อยถึงไม่พอใจเลย

ที่สำคัญคือ ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 71.5 ไม่เห็นด้วย ต่อการยึดอำนาจ ถึงแม้เกิดความวุ่นวายรุนแรงยิ่งขึ้นในบ้านเมือง เพราะไม่ช่วยแก้ปัญหา จะวุ่นวายหนักกว่าเดิม ควรปล่อยให้คนไทยเรียนรู้พัฒนาประชาธิปไตยกันไป อำนาจพิเศษไม่ช่วยอะไร บ้านเมืองเสียหาย กลัวจะพัฒนาแพ้ประเทศเพื่อนบ้าน ธุรกิจพัง นานาชาติไม่ยอมรับ ทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่เคารพประชาชน ไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร กลุ่มคนยึดอำนาจไป ก็ไปกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องเฉพาะกลุ่มอีก และจากประสบการณ์ยึดอำนาจที่ผ่านมา ไม่ได้แก้ปัญหา เป็นต้น

ในขณะที่ร้อยละ 28.5 เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ เพราะ บ้านเมืองจะได้สงบ ตอนนี้มีแต่ความวุ่นวาย จะได้ช่วยยุติความวุ่นวายต่างๆได้ เป็นต้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น