xs
xsm
sm
md
lg

ดุสิตโพลชี้นักการเมืองต้นตอวุ่น จี้รัฐอย่าใช้เสียงข้างมากไร้เหตุผล - ปชป.อย่าค้านทุกเรื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ)
“สวนดุสิตโพล” เผยชาวบ้านร้อยละ 40.29 แนะรัฐบาลไม่หักหาญใช้เสียงข้างมากโดยไร้เหตุผลแก้วิกฤติ ร้อยละ 53.06 วอนฝ่ายค้านไม่ใช้อารมณ์ อย่าค้านทุกเรื่อง ร้อยละ 56.49 ขอพันธมิตรฯ อย่าใช้ความรุนแรง ร้อยละ 50.72 จี้แดงอย่าวู่วามมุ่งเอาชนะจนลืมความถูกต้อง ร้อยละ 39.22 หนุนประชาชนอยู่เฉยๆ และร้อยละ 44.24 เบื่อการเมืองมาก ชี้นักการเมืองต้นเหตุวุ่นวาย


วันนี้ (10 มิ.ย.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,430 คน ถามว่ารัฐบาลควรทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ณ วันนี้ บานปลาย 40.29% จะต้องใช้เหตุผล ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ใช้วิธีการเจรจา พูดคุยเพื่อทำความเข้าใจหรือมีข้อตกลงที่เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ไม่หักหาญใช้เสียงข้างมากโดยไร้เหตุผล 24.73% ควรพิจารณาข้อดี ข้อเสีย ศึกษาข้อมูล แนวทางหรือทางเลือกต่างๆอย่างละเอียด รอบคอบ ชัดเจน โดยยึดหลักความถูกต้องและคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ 22.61% การรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ดำเนินการอย่างเป็นกลาง ยุติธรรม ตรงไปตรงมา และทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และ 12.37% ยึดหลักประชาธิปไตย เคารพกฎระเบียบ ไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ควรให้การพิจารณาต่างๆ เป็นไปด้วยความชอบธรรม

เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านควรทำอย่างไร? เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ณ วันนี้ บานปลาย 53.06% การรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน หันหน้าเข้าหากัน ประนีประนอม ไม่ใช้อารมณ์หรือความรุนแรง ซึ่งนำมาสู่เหตุการณ์ที่วุ่นวายหรือบานปลายยิ่งขึ้นไปอีกและไม่ค้านทุกเรื่อง 18.03% เป็นฝ่ายค้านที่ดี ทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุด ยึดปฏิบัติตามกฎระเบียบและความเป็นประชาธิปไตย 15.65% ไม่เล่นเกมการเมืองหรือออกมาปลุกระดมให้ประชาชนเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รุนแรง ไม่ยั่วยุ ใส่ร้ายป้ายสี หรือปล่อยให้สมาชิกฝ่ายค้านออกมาแสดงท่าทีหรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และ 13.26% ใช้เหตุผล ข้อมูลข้อเท็จจริงมาหักล้าง หรือหากมีข้อโต้แย้งควรออกมาชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ หรือสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจนยิ่งขึ้น

เมื่อถามว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ควรทำอย่างไร? เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ณ วันนี้ บานปลาย 56.49% ไม่ใช้ความรุนแรงหรือสร้างสถานการณ์ การยั่วยุต่างๆที่สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายอื่น 23.51% การรับฟังข้อมูลข่าวสารจากหลายๆด้าน ไม่ควรด่วนสรุปหรือฟังความเพียงข้างเดียว 12.98% การชุมนุม เคลื่อนไหวจะต้องเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย แกนนำออกมาชี้แจงในสิ่งที่ต้องการ และ 7.02% เห็นแก่ส่วนรวม ยึดหลักความสามัคคี ปรองดอง ยึดมั่นในความถูกต้อง ยุติธรรม ส่วนเมื่อถามถึง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ นั้น 50.72% ไม่วู่วาม ไม่ใช้อารมณ์หรือความรุนแรงในการแก้ปัญหา ไม่มุ่งหวังแต่เอาชนะกันเพียงอย่างเดียว จนลืมนึกถึงความถูกต้องและประโยชน์ของส่วนรวม 19.57% แกนนำจะต้องควบคุมดูแลผู้ชุมนุมให้อยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อย การชี้แจงหรือให้ข้อมูลต่างๆ กับผู้ชุมนุมควรเป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง 17.39% ไม่อยากให้มีการชุมนุม หรือมีการประท้วงที่ยืดเยื้อ และ 12.32% การชุมนุมสามารถทำได้แต่ควรอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด ไม่ด่วนสรุปหรือฟังความข้างเดียว รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน

เมื่อถามว่า ประชาชนควรทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ณ วันนี้ บานปลาย 39.22% อยู่เฉยๆ ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ไม่ออกมารวมตัวหรือออกมาสร้างความวุ่นวายให้กับสังคม 29.30% ติดตามข่าวสารอย่างมีสติ มีวิจารณญาณในการรับฟังที่ดี ศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างละเอียดชัดเจน 22.96% ยึดหลักความสามัคคี ปรองดอง มีสติ หันหน้าเข้าหากัน และ 8.52% เคารพกฎหมายบ้านเมือง ให้ความร่วมมือกับภาครัฐเมื่อมีการร้องขอ เห็นแก่ส่วนรวมเป็นสำคัญ และเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชน ในภาพรวมต่อความวุ่นวายทางการเมือง ณ วันนี้ 44.24% รู้สึกเบื่อหน่ายการเมืองอย่างมาก มองว่านักการเมืองเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายทางการเมือง โดยเฉพาะมุ่งหวังแต่การแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ 27.22% นักการเมืองควรเป็นแบบอย่างที่ดีของการสร้างความปรองดอง ช่วยกันรักษาภาพลักษณ์ของนักการเมืองและการเมืองไทย โดยเฉพาะการแก้ไขเรื่องความวุ่นวายในสภาเพื่อไม่ให้บานปลาย จนเป็นความวุ่นวายของบ้านเมือง 19.05% นักการเมืองควรใช้การเจรจา พูดคุยอย่างสันติวิธี รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ใช้สติมากกว่าใช้อารมณ์ และ9.49% ตัวประชาชนเองจะต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายต่างๆ ติดตามข่าวสารอย่างมีสติไม่ทะเลาะกันเอง ไม่เข้าร่วมการชุมนุมหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับบ้านเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น