“สวนดุสิตโพล” ถามปรองดอง ร้อยละ 36.17 แนะรัฐเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ไม่ทำเพื่อพวกพ้อง ร้อยละ 35.10 วอนฝ่ายค้านไม่ค้านทุกเรื่อง ร้อยละ 46.80 หนุนสื่อเสนอข่าวรอบด้าน และร้อยละ 40.48 ขอประชาชนเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน คุยกันด้วยเหตุผล
วันนี้ (15 เม.ย.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชน จำนวน 2,249 คน ในหัวข้อการปรองดอง โดยถามว่า รัฐบาลควรทำอย่างไรจึงจะทำให้การปรองดองสำเร็จ 36.17% เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ ไม่ทำเพื่อหวังผลประโยชน์หรือเพื่อพวกพ้อง 27.65% การรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเสียงจากประชาชน 21.29% ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส และเป็นกลาง มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการสร้างความปรองดอง 8.51% การลดทิฐิ หันหน้าเข้าหากัน พูดคุยปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน และ 6.38% จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของการสร้างความปรองดอง
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านควรทำอย่างไรจึงจะทำให้การปรองดองสำเร็จ 35.10% ไม่มุ่งแต่เอาชนะคะคานกันหรือนำข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจนหรือเพียงบางส่วนมาหักล้างไม่ค้านทุกเรื่อง 30.71% ควรตระหนักและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ 16.18% ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ หาแนวทางที่จะช่วยสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นจริง 13.28% ไม่พูดจายั่วยุ เสียดสี โจมตีกันไปมาหรือสาดโคลนใส่กัน และ 4.73% เคารพและปฏิบัติตามกฎระเบียบ เป็นนักการเมืองที่ดี ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า “สื่อมวลชน” ควรทำอย่างไรจึงจะทำให้การปรองดองสำเร็จ 46.80% นำเสนอข่าวที่เป็นกลาง เที่ยงตรง น่าเชื่อถือ นำเสนอข่าวอย่างรอบด้านทุกแง่มุม 29.32% ไม่นำเสนอข่าวในเชิงกระตุ้นให้สังคมแตกแยกหรือมุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว 11.24% ไม่นำความคิดเห็นส่วนตัวออกมาพูดหรือชี้นำกับสาธารณชนจนมากเกินไป 7.23% เป็นตัวกลางในการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องการสร้างความปรองดอง และ 5.41% มีการนำเสนอข่าวการสร้างความปรองดองอย่างต่อเนื่อง
เมื่อถามว่า ประชาชนควรทำอย่างไรจึงจะทำให้การปรองดองสำเร็จ 40.48% ต้องรักใคร่ สามัคคีกัน ไม่ทะเลาะกันเอง เคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน คุยกันด้วยเหตุผล 24.92% ให้ความร่วมมือกับภาครัฐและปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม เคารพกฎหมาย 16.25% การรับฟังข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติและมีวิจารณญาณ ไม่ด่วนสรุปหรือรีบตัดสินใจ 15.57% วางตัวเป็นกลาง ไม่สนับสนุนหรือเข้าร่วมการชุมนุมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และ 2.78% ให้กำลังใจกับทุกฝ่ายที่มีความตั้งใจจริงในการสร้างความปรองดอง