xs
xsm
sm
md
lg

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า...ลักไก่อีกแล้ว!

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือแผนพีดีพี คือ แผนการลงทุนด้านกิจการไฟฟ้า ปัจจุบันประเทศเรากำลังใช้แผนพีดีพี 2010 ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2553 โดยคาดว่าจะมีการใช้นานไปจนถึง พ.ศ. 2573 แต่ขณะนี้กำลังมีการปรับปรุงแผนนี้ใหม่เป็นครั้งที่สาม

ปัจจุบันคนในประเทศไทยต้องจ่ายค่ากระแสไฟฟ้ารวมกันปีละประมาณ 5-6 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีกปีละ 2 แสนล้านบาท แค่สองรายการนี้ก็มีมูลค่ารวมกันเกือบ 8 - 9% ของรายได้ประชาชาติ ไม่เพียงแต่เรื่องค่าใช้จ่ายจำนวนมากเท่านั้น เราจะพบว่าในช่วงหลังๆ มานี้ มักจะมีข่าวการคัดค้านของชาวบ้านในทั่วทุกภาคของประเทศที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพราะกลัวผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากแผนนี้มีความบกพร่องหรือผิดพลาดประการใดย่อมมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างแน่นอนและมากเสียด้วย เราจึงควรให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจังครับ ผมจะเรียนให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการจัดทำแผนและข้อมูลที่ใช้ในการนี้

ประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2555 คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านฐานทรัพยากรและสิทธิชุมชน ได้เชิญผู้แทนกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสอบถามถึงกระบวนการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 57 “ให้รัฐจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ”) ในการปรับปรุงแผนพีดีพี 2010 ใหม่ ปรากฏว่าผู้แทนทั้งสองหน่วยงานตอบตรงกันว่า “ขณะนี้ยังไม่มีการทำอะไรกับแผน” แต่แล้วความจริงได้ปรากฏว่า ผู้บริหารของ กฟผ.ได้นำแผนที่ปรับปรุงใหม่ไปเสนอในที่ประชุมที่กรุงเวียนนาว่าจะลดและเลื่อนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จาก 4 โรงลงเหลือ 2 โรงโดยจะเข้าสู่ระบบในปี 2569

กลับมาที่สถานการณ์ล่าสุดครับ กระทรวงพลังงานได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. โดยใช้เวลาเพียงครึ่งวันเพียงที่เดียว และจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติในวันที่ 8 เดือนเดียวกัน และคาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารถัดไป

กระบวนการรวบรัดและ “ลักไก่” ครั้งนี้เหมือนกับตอนที่นำเสนอแผนพีดีพี 2010 ครั้งแรก คือในวันที่ 12 มีนาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมหันความสนใจไปที่ความขัดแย้งทางการเมือง ในครั้งนั้นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานได้รับปากกับสังคม (จากคำบอกเล่าของ ส.ว.รสนา โตสิตระกูล) ว่าจะไม่รีบนำเข้า ครม. แต่แล้วก็นำเข้าทันทีในวันรุ่งขึ้น

สถานการณ์วันนี้ช่างเหมือนกันเป๊ะกับอดีต ในขณะที่สังคมและสื่อมวลชนกำลังสนใจกับปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ปรองดอง กระทรวงพลังงานก็ฉวยโอกาสทันที ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ สำคัญและเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ด้วย จะอ้างว่ามีการแก้ไขเพียงเล็กน้อยก็ไม่เป็นความจริงครับ ผมจะหยิบบางประเด็นมาเล่าในที่นี้

ประเด็นการขัดมติ ครม. ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันกับกลุ่มประเทศเอเปกเมื่อปี 2550 มีสาระว่า “ให้มีการอนุรักษ์พลังงานเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของภูมิภาคและเพื่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการลด “ความเข้มการใช้พลังงาน” (Energy Intensity) หรือปริมาณพลังงานที่ใช้ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ลงร้อยละ 25 ภายในปี 2573”

เมื่อแปลความหมายข้างต้นออกมาเป็นภาคกิจการไฟฟ้าจะได้ว่า ต้องลดการใช้ไฟฟ้าในปี 2573 ลงเป็นจำนวน 96,653 ล้านหน่วยซึ่งที่ประชุม ครม.ให้ความเห็นชอบเมื่อ 27 ธันวาคม 2554 แต่ปรากฏว่าในแผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 นี้ได้นำมาอยู่ในแผนเพียง 20% ของเป้าหมายเท่านั้น

ประเด็นมีอยู่ว่า แผนพีดีพีนี้ขัดแย้งกับมติ ครม.เมื่อ 6 เดือนก่อนหรือไม่ หรือว่ามติ ครม. เป็นเรื่องเด็กเล่นๆ จะเปลี่ยนเสียเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างไรก็ตาม แผนการอนุรักษ์พลังงานนี้มีแผนการที่จะใช้งบประมาณในช่วงแรกถึงปีละ 5,900 ล้านบาท หากเป็นเช่นนี้แล้ว นอกจากจะเป็นการเสียเครดิตที่ได้ลงสัตยาบันไปแล้วนั้นยังจะเสียงบประมาณเกินความจำเป็นอีกหรือไม่

ประเด็นความไม่ชอบมาพากลของข้อมูล โปรดพิจารณาข้อมูลที่ผมตัดมาจากแผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 นี้

ในการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าในอนาคตนั้น ผู้พยากรณ์จะใช้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี (GDP) เป็นเกณฑ์สำคัญ ในตารางข้างบนนี้ ในปี 2554 จีดีพีมีอัตราการเติบโตเพียง 1.5% เท่านั้น แต่ในปีถัดมาอัตราการเติบโตกระโดดไปอยู่ที่ 5.0 คำถามคือทำไม?

นอกจากนี้ เมื่อผมค้นข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน (http://www.eppo.go.th/info/7economic_stat.htm) พบว่าจีดีพีในปี 2554 มีอัตราแค่ 0.1% เท่านั้น ไม่ใช่ 1.5% เมื่อแผนนี้ได้ใช้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงเกินจริงก็จะส่งผลให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น

ถ้าเปรียบการพัฒนาประเทศ (ซึ่งกำกับโดยแผนพีดีพี) กับการพัฒนาของเด็กคนหนึ่ง เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเด็กคนนี้เอาแต่โตทางร่างกายเพียงอย่างเดียว เช่น สูงถึง 180 ซ.ม. แล้ว เราจะดีใจไหมถ้าสูงไปถึง 250 ซ.ม.? เราน่าจะอยากเห็นการหยุดการเติบโตทางส่วนสูง แล้วหันมาพัฒนาทางสติปัญญา การเป็นคนดี เข้าใจสังคม เข้าใจตัวเอง ประเทศเราเอาแต่เติบโตทางเศรษฐกิจหรือทางการใช้ไฟฟ้าแต่ไม่สนใจอย่างอื่น เช่น ความเป็นธรรมในสังคม ความสุขร่วมกัน ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่สมดุลและยั่งยืน เมื่อไหร่จะหยุดโตเสียทีละกิจการไฟฟ้า หยุดโตนะ ไม่ใช่หยุดใช้อย่างที่บางกลุ่มชอบบิดเบือน
กำลังโหลดความคิดเห็น