คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือแผนพีดีพี คือ แผนการลงทุนด้านกิจการไฟฟ้า ปัจจุบัน ประเทศเรากำลังใช้แผนพีดีพี 2010 ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2553 โดยคาดว่าจะมีการใช้นานไปจนถึง พ.ศ.2573 แต่ขณะนี้ กำลังมีการปรับปรุงแผนนี้ใหม่เป็นครั้งที่สาม
ปัจจุบัน คนในประเทศไทยต้องจ่ายค่ากระแสไฟฟ้ารวมกันปีละประมาณ 5-6 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีกปีละ 2 แสนล้านบาท แค่สองรายการนี้ก็มีมูลค่ารวมกันเกือบ 8-9% ของรายได้ประชาชาติ ไม่เพียงแต่เรื่องค่าใช้จ่ายจำนวนมากเท่านั้น เราจะพบว่าในช่วงหลังๆ มานี้ มักจะมีข่าวการคัดค้านของชาวบ้านในทั่วทุกภาคของประเทศที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพราะกลัวผลกระทบด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากแผนนี้มีความบกพร่อง หรือผิดพลาดประการใด ย่อมมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน และมากเสียด้วย เราจึงควรให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจังครับ ผมจะเรียนให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการจัดทำแผน และข้อมูลที่ใช้ในการนี้
ประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2555 คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านฐานทรัพยากรและสิทธิชุมชน ได้เชิญผู้แทนกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสอบถามถึงกระบวนการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 57 “ให้รัฐจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ”) ในการปรับปรุงแผนพีดีพี 2010 ใหม่ ปรากฏว่า ผู้แทนทั้งสองหน่วยงานตอบตรงกันว่า “ขณะนี้ยังไม่มีการทำอะไรกับแผน” แต่แล้วความจริงได้ปรากฏว่า ผู้บริหารของ กฟผ.ได้นำแผนที่ปรับปรุงใหม่ไปเสนอในที่ประชุมที่กรุงเวียนนาว่าจะลด และเลื่อนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จาก 4 โรง ลงเหลือ 2 โรงโดยจะเข้าสู่ระบบในปี 2569
กลับมาที่สถานการณ์ล่าสุดครับ กระทรวงพลังงานได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. โดยใช้เวลาเพียงครึ่งวันเพียงทีเดียว และจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติในวันที่ 8 เดือนเดียวกัน และคาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารถัดไป
กระบวนการรวบรัด และ “ลักไก่” ครั้งนี้เหมือนกับตอนที่นำเสนอแผนพีดีพี 2010 ครั้งแรก คือในวันที่ 12 มีนาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมหันความสนใจไปที่ความขัดแย้งทางการเมือง ในครั้งนั้น ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานได้รับปากกับสังคม (จากคำบอกเล่าของ ส.ว.รสนา โตสิตระกูล) ว่า จะไม่รีบนำเข้า ครม. แต่แล้วก็นำเข้าทันทีในวันรุ่งขึ้น
สถานการณ์วันนี้ช่างเหมือนกันเป๊ะกับอดีต ในขณะที่สังคม และสื่อมวลชนกำลังสนใจกับปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ปรองดอง กระทรวงพลังงานก็ฉวยโอกาสทันที ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ สำคัญ และเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ด้วย จะอ้างว่ามีการแก้ไขเพียงเล็กน้อยก็ไม่เป็นความจริงครับ ผมจะหยิบบางประเด็นมาเล่าในที่นี้
ประเด็นการขัดมติ ครม. ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันกับกลุ่มประเทศเอเปกเมื่อปี 2550 มีสาระว่า “ให้มีการอนุรักษ์พลังงานเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของภูมิภาคและเพื่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการลด “ความเข้มการใช้พลังงาน” (Energy Intensity) หรือปริมาณพลังงานที่ใช้ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ลงร้อยละ 25 ภายในปี 2573”
เมื่อแปลความหมายข้างต้นออกมาเป็นภาคกิจการไฟฟ้าจะได้ว่า ต้องลดการใช้ไฟฟ้าในปี 2573 ลงเป็นจำนวน 96,653 ล้านหน่วย ซึ่งที่ประชุม ครม.ให้ความเห็นชอบเมื่อ 27 ธันวาคม 2554 แต่ปรากฏว่าในแผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 นี้ได้นำมาอยู่ในแผนเพียง 20% ของเป้าหมายเท่านั้น
ประเด็นมีอยู่ว่า แผนพีดีพีนี้ขัดแย้งกับมติ ครม.เมื่อ 6 เดือนก่อนหรือไม่ หรือว่ามติ ครม. เป็นเรื่องเด็กเล่นๆ จะเปลี่ยนเสียเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างไรก็ตาม แผนการอนุรักษ์พลังงานนี้มีแผนการที่จะใช้งบประมาณในช่วงแรกถึงปีละ 5,900 ล้านบาท หากเป็นเช่นนี้แล้ว นอกจากจะเป็นการเสียเครดิตที่ได้ลงสัตยาบันไปแล้วนั้น ยังจะเสียงบประมาณเกินความจำเป็นอีกหรือไม่
ประเด็นความไม่ชอบมาพากลของข้อมูล โปรดพิจารณาข้อมูลที่ผมตัดมาจากแผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 นี้
ในการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าในอนาคตนั้น ผู้พยากรณ์จะใช้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี (GDP) เป็นเกณฑ์สำคัญ ในตารางข้างบนนี้ ในปี 2554 จีดีพีมีอัตราการเติบโตเพียง 1.5% เท่านั้น แต่ในปีถัดมา อัตราการเติบโตกระโดดไปอยู่ที่ 5.0 คำถามคือทำไม?
นอกจากนี้ เมื่อผมค้นข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน (http://www.eppo.go.th/info/7economic_stat.htm) พบว่า จีดีพีในปี 2554 มีอัตราแค่ 0.1% เท่านั้น ไม่ใช่ 1.5% เมื่อแผนนี้ได้ใช้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงเกินจริงก็จะส่งผลให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น
ถ้าเปรียบการพัฒนาประเทศ (ซึ่งกำกับโดยแผนพีดีพี) กับการพัฒนาของเด็กคนหนึ่ง เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเด็กคนนี้เอาแต่โตทางร่างกายเพียงอย่างเดียว เช่น สูงถึง 180 ซม. แล้วเราจะดีใจไหมถ้าสูงไปถึง 250 ซม.? เราน่าจะอยากเห็นการหยุดการเติบโตทางส่วนสูง แล้วหันมาพัฒนาทางสติปัญญา การเป็นคนดี เข้าใจสังคม เข้าใจตัวเอง ประเทศเราเอาแต่เติบโตทางเศรษฐกิจ หรือทางการใช้ไฟฟ้าแต่ไม่สนใจอย่างอื่น เช่น ความเป็นธรรมในสังคม ความสุขร่วมกัน ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่สมดุลและยั่งยืน เมื่อไหร่จะหยุดโตเสียทีละกิจการไฟฟ้า หยุดโตนะ ไม่ใช่หยุดใช้อย่างที่บางกลุ่มชอบบิดเบือน
โดย...ประสาท มีแต้ม
แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือแผนพีดีพี คือ แผนการลงทุนด้านกิจการไฟฟ้า ปัจจุบัน ประเทศเรากำลังใช้แผนพีดีพี 2010 ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2553 โดยคาดว่าจะมีการใช้นานไปจนถึง พ.ศ.2573 แต่ขณะนี้ กำลังมีการปรับปรุงแผนนี้ใหม่เป็นครั้งที่สาม
ปัจจุบัน คนในประเทศไทยต้องจ่ายค่ากระแสไฟฟ้ารวมกันปีละประมาณ 5-6 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีกปีละ 2 แสนล้านบาท แค่สองรายการนี้ก็มีมูลค่ารวมกันเกือบ 8-9% ของรายได้ประชาชาติ ไม่เพียงแต่เรื่องค่าใช้จ่ายจำนวนมากเท่านั้น เราจะพบว่าในช่วงหลังๆ มานี้ มักจะมีข่าวการคัดค้านของชาวบ้านในทั่วทุกภาคของประเทศที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพราะกลัวผลกระทบด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากแผนนี้มีความบกพร่อง หรือผิดพลาดประการใด ย่อมมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน และมากเสียด้วย เราจึงควรให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจังครับ ผมจะเรียนให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการจัดทำแผน และข้อมูลที่ใช้ในการนี้
ประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2555 คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านฐานทรัพยากรและสิทธิชุมชน ได้เชิญผู้แทนกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสอบถามถึงกระบวนการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 57 “ให้รัฐจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ”) ในการปรับปรุงแผนพีดีพี 2010 ใหม่ ปรากฏว่า ผู้แทนทั้งสองหน่วยงานตอบตรงกันว่า “ขณะนี้ยังไม่มีการทำอะไรกับแผน” แต่แล้วความจริงได้ปรากฏว่า ผู้บริหารของ กฟผ.ได้นำแผนที่ปรับปรุงใหม่ไปเสนอในที่ประชุมที่กรุงเวียนนาว่าจะลด และเลื่อนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จาก 4 โรง ลงเหลือ 2 โรงโดยจะเข้าสู่ระบบในปี 2569
กลับมาที่สถานการณ์ล่าสุดครับ กระทรวงพลังงานได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. โดยใช้เวลาเพียงครึ่งวันเพียงทีเดียว และจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติในวันที่ 8 เดือนเดียวกัน และคาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารถัดไป
กระบวนการรวบรัด และ “ลักไก่” ครั้งนี้เหมือนกับตอนที่นำเสนอแผนพีดีพี 2010 ครั้งแรก คือในวันที่ 12 มีนาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมหันความสนใจไปที่ความขัดแย้งทางการเมือง ในครั้งนั้น ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานได้รับปากกับสังคม (จากคำบอกเล่าของ ส.ว.รสนา โตสิตระกูล) ว่า จะไม่รีบนำเข้า ครม. แต่แล้วก็นำเข้าทันทีในวันรุ่งขึ้น
สถานการณ์วันนี้ช่างเหมือนกันเป๊ะกับอดีต ในขณะที่สังคม และสื่อมวลชนกำลังสนใจกับปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ปรองดอง กระทรวงพลังงานก็ฉวยโอกาสทันที ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ สำคัญ และเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ด้วย จะอ้างว่ามีการแก้ไขเพียงเล็กน้อยก็ไม่เป็นความจริงครับ ผมจะหยิบบางประเด็นมาเล่าในที่นี้
ประเด็นการขัดมติ ครม. ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันกับกลุ่มประเทศเอเปกเมื่อปี 2550 มีสาระว่า “ให้มีการอนุรักษ์พลังงานเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของภูมิภาคและเพื่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการลด “ความเข้มการใช้พลังงาน” (Energy Intensity) หรือปริมาณพลังงานที่ใช้ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ลงร้อยละ 25 ภายในปี 2573”
เมื่อแปลความหมายข้างต้นออกมาเป็นภาคกิจการไฟฟ้าจะได้ว่า ต้องลดการใช้ไฟฟ้าในปี 2573 ลงเป็นจำนวน 96,653 ล้านหน่วย ซึ่งที่ประชุม ครม.ให้ความเห็นชอบเมื่อ 27 ธันวาคม 2554 แต่ปรากฏว่าในแผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 นี้ได้นำมาอยู่ในแผนเพียง 20% ของเป้าหมายเท่านั้น
ประเด็นมีอยู่ว่า แผนพีดีพีนี้ขัดแย้งกับมติ ครม.เมื่อ 6 เดือนก่อนหรือไม่ หรือว่ามติ ครม. เป็นเรื่องเด็กเล่นๆ จะเปลี่ยนเสียเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างไรก็ตาม แผนการอนุรักษ์พลังงานนี้มีแผนการที่จะใช้งบประมาณในช่วงแรกถึงปีละ 5,900 ล้านบาท หากเป็นเช่นนี้แล้ว นอกจากจะเป็นการเสียเครดิตที่ได้ลงสัตยาบันไปแล้วนั้น ยังจะเสียงบประมาณเกินความจำเป็นอีกหรือไม่
ประเด็นความไม่ชอบมาพากลของข้อมูล โปรดพิจารณาข้อมูลที่ผมตัดมาจากแผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 นี้
ในการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าในอนาคตนั้น ผู้พยากรณ์จะใช้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี (GDP) เป็นเกณฑ์สำคัญ ในตารางข้างบนนี้ ในปี 2554 จีดีพีมีอัตราการเติบโตเพียง 1.5% เท่านั้น แต่ในปีถัดมา อัตราการเติบโตกระโดดไปอยู่ที่ 5.0 คำถามคือทำไม?
นอกจากนี้ เมื่อผมค้นข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน (http://www.eppo.go.th/info/7economic_stat.htm) พบว่า จีดีพีในปี 2554 มีอัตราแค่ 0.1% เท่านั้น ไม่ใช่ 1.5% เมื่อแผนนี้ได้ใช้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงเกินจริงก็จะส่งผลให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น
ถ้าเปรียบการพัฒนาประเทศ (ซึ่งกำกับโดยแผนพีดีพี) กับการพัฒนาของเด็กคนหนึ่ง เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเด็กคนนี้เอาแต่โตทางร่างกายเพียงอย่างเดียว เช่น สูงถึง 180 ซม. แล้วเราจะดีใจไหมถ้าสูงไปถึง 250 ซม.? เราน่าจะอยากเห็นการหยุดการเติบโตทางส่วนสูง แล้วหันมาพัฒนาทางสติปัญญา การเป็นคนดี เข้าใจสังคม เข้าใจตัวเอง ประเทศเราเอาแต่เติบโตทางเศรษฐกิจ หรือทางการใช้ไฟฟ้าแต่ไม่สนใจอย่างอื่น เช่น ความเป็นธรรมในสังคม ความสุขร่วมกัน ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่สมดุลและยั่งยืน เมื่อไหร่จะหยุดโตเสียทีละกิจการไฟฟ้า หยุดโตนะ ไม่ใช่หยุดใช้อย่างที่บางกลุ่มชอบบิดเบือน