xs
xsm
sm
md
lg

ท้าชน “กฟผ.” ดีเบตโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง จวกรัฐเผด็จการพลังงาน ลักไก่ PDP 2010

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ท้าชน กฟผ.ดีเบตโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง จวกรัฐเผด็จการพลังงาน ลักไก่ PDP 2010 ฉบับ 3 ชี้เดินตามแผนอนุรักษ์ฯ ไม่ผุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน-นิวเคลียร์ ลดโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ-การนำเข้าการผลิตไฟฟ้าเขื่อน 16 โรง นักวิชาการสหรัฐฯ มึนผลกระทบซับบิทูมินัส เทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม เผย กฟผ.เลือกตรังเพราะมีท่าเรือขนส่ง-เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าต้องใช้น้ำมาก

วานนี้ (9 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมดุสิตตรัง อาคารดุสิต มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์ตรัง อ.เมือง จ.ตรัง เครือข่ายคนตรัง ประกอบด้วย เครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาจังหวัดตรังยั่งยืน มูลนิธิหยาดฝน มูลนิธิอันดามัน โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดตรัง ฯลฯ จัดเวทีเสวนา “นโยบายพลังงานหมุนเวียนกับโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง” โดยมีชาวบ้านในจังหวัดตรังเข้าร่วมประมาณ 100 คน และมีการตั้งกล่องรับบริจาคเพื่อการจัดเวทีเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานในเวทีต่อไป

นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการพลังงาน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 2555-2573 (PDP 2010) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 โดยไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 ระหว่างเวลา 08.30-12.30 น. ทั้งไม่มีการเปิดเผยข้อมูลล่วงหน้าในหนังสือเชิญวันที่ 30 พฤษภาคม 2555

นายศุภกิจชี้แจงต่อไปว่า การจัดทำแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี 2554-2573 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ที่ได้กำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานไว้ที่ 96,653 ล้านหน่วยในปี 2573 ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อราคาเชื้อเพลิงที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่กระทรวงพลังงานกลับกำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานไว้ในร่างแผน PDP ฉบับนี้เพียงร้อยละ 20 หรือ 3,494 เมกะวัตต์ภายใน 20 ปี ของเป้าหมายที่ ครม.ให้ความเห็นชอบ

นายศุภกิจชี้แจงอีกว่า แผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าความร้อนร่วมก๊าซธรรมชาติ 25,451 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4,400 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าซื้อจากต่างประเทศ 6,572 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าระบบพลังงานร่วม Co-generation 6,374 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 9,516 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ 750 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์

นายศุภกิจชี้แจงอีกว่า ทางเลือกและทางออกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังอยู่ที่แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ. 2554-2573) ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 เห็นชอบเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน 17,470 เมกะวัตต์ภายใน 20 ปี หากเพิ่มประสิทธิภาพตามแผนอนุรักษ์พลังงานก็สามารถตัดพลังงานนิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์ ถ่านหิน 4,400 เมกะวัตต์ เท่ากับไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เลยสักโรงเดียว ทั้งลดโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และการนำเข้าการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนได้อีก 16 โรง 9,500 เมกะวัตต์ ซึ่งจะลดต้นทุนค่าไฟฟ้าอย่างน้อย 400,000 ล้านบาท และสร้างอนาคตที่มั่นคงให้ระบบพลังงานของประเทศ

นายศุภกิจระบุว่า แผนพัฒนาพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี พ.ศ. 2555-2564 ของกระทรวงพลังงาน สามารถพัฒนาด้านพลังงานจากเปอร์เซ็นต์การทดแทนฟอสซิล 25% ไม่รวม NGV กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 9,201 เมกะวัตต์ ปริมาณความร้อน 9,335 ktoe เชื้อเพลิงชีวภาพ 39.97 ล้านลิตรต่อวัน เปอร์เซ็นต์ทดแทนน้ำมัน 44% สำหรับด้านเศรษฐกิจสามารถลดการนำเข้าน้ำมัน 5.74 แสนล้านบาท ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน 4.42 แสนล้านบาท ด้านสิ่งแวดล้อม การลด CO2 จำนวน 76 ล้านตันต่อปี ในปี 2564 รายได้ที่เกิดขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิต 2.3 หมื่นล้านบาท ด้านการพัฒนางานนวัตกรรมและเทคโนโลยี แผนงานวิจัยมีแผนปฏิบัติการชัดเจนปี 2555-2559

นายศุภกิจชี้แจงว่า จากรายงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วสหรัฐอเมริกาของอาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ยังไม่สามารถอธิบายถึงผลกระทบจากถ่านหินซับบิทูมินัสที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เทคโนโลยีทันสมัยในสหรัฐอเมริกาไม่สามารถดักจับฝุ่นเหล่านี้ได้ ไม่นับรวมสารปรอทจำนวน 1 พันกิโลกรัม/ปี สารซัลเฟอร์ไดออกไซต์ 2 หมื่นตัน/ปี ฝุ่น 1,900 ตัน/ปี ขณะที่ประเทศไทยยังมีช่องโหว่เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

“ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบเผด็จการข้อมูลด้านพลังงาน เห็นได้จากการนำแผนพีดีพีฉบับใหม่เข้าพิจารณาเห็นชอบโดยใช้เวลาเพียง 9 วันเท่านั้น ท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง เราต้องค้นคว้าหาความรู้เพื่อสู้กับข้อมูลของกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดังนั้นผมสนับสนุนเป็นอย่างยิ่งที่คนจังหวัดตรังลุกขึ้นมาศึกษาเกี่ยวกับพลังงานเพื่อความยั่งยืนของจังหวัดตรัง” นายศุภกิจกล่าว

นายชัยพร จันทร์หอม กรรมการสมัชาสุขภาพแห่งชาติ เสนอว่า ควรให้มีการจัดเวทีดีเบตเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ด้วยการเชิญเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นักวิชาการด้านพลังงาน และชาวบ้านในโอกาสต่อไป

นายวุฒิชัย หวังบริสุทธิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 ตนเคยเชิญ กฟผ.ร่วมให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านในเวทีสาธารณะ “ร่วมปกป้องแผ่นดินเกิด รักษาฐานทรัพยากรชุมชน หยุด! โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ที่วัดวารีวง ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง แต่ได้ถูกปฏิเสธว่าไม่ว่าง กลับส่งเจ้าหน้าที่ของ กฟผ.มาสังเกตการณ์ในบริเวณงาน เมื่อชาวบ้านขอให้ขึ้นเวทีชี้แจงกลับวิ่งหนี ตนคนหนึ่งเสนอตัวขอท้าดีเบตด้วย หากเชิญเจ้าหน้าที่ของ กฟผ.

นายอำนาจ คงทอง พลังงานจังหวัดตรัง กล่าวว่า เคยถาม กฟผ.ว่าทำไมจึงเลือกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ.บอกว่าเป็นไปตามแผน PDP 2010 ซึ่งพื้นที่ที่มีศักยภาพสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่แถบบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เนื่องจากเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องใช้น้ำจำนวนมากจากทะเล และเพื่อความสะดวกในการขนส่งถ่านหินทางเรือ ซึ่งจังหวัดตรังมีท่าเรือขนส่งปูนซีเมนต์อยู่แล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น