xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.ศาลรธน.ยันมีอำนาจ ห่วงเปลี่ยนการปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"วสันต์" ยันตุลาการศาล รธน.รับพิจารณา ร่าง แก้ไข รธน.ใช้อำนาจตามรธน. มาตรา 68 ระบุต้องการให้ผู้ดำเนินการ ให้คำมั่นสัญญา "ลูกผู้ชาย-ลูกผู้หญิง" ว่าการแก้ รธน.จะไม่มีนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชี้ร ธน.50 มาจากประชาชนโดยการทำประชามติ ก็ต้องให้ประชาชนรับรู้ว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร "บุญส่ง" ชี้เมื่อศาล รธน.บอกแล้ว สภาไม่ทำตาม หากเกิดเรื่องสภาต้องรับผิดชอบ ปชป.เย้ยเพื่อไทย ผวาถูกยุบพรรค ตายยกเข่ง จึงปลุกผีเสื้อแดงกดดัน

วานนี้ (3 มิ.ย.) นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับ 5 คำร้อง ที่ขอให้วินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาวินิจฉัย ว่า ไม่ใช่เพราะมีเจตนาที่จะขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากมีผู้มาร้องขอให้ศาลดำเนินการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ซึ่งศาลก็ต้องไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริง ว่าการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ตามที่มีการกล่าวหาหรือไม่ หากการให้ข้อเท็จจริงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การดำเนินการ ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้อง ยังไม่มีพฤติการณ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ศาลก็ยกคำร้อง

" แม้ขณะนี้ยังไม่มีการยกร่างกันเป็นรายมาตรา และถ้าจะอ้างว่า ผู้ที่ยกร่างก็เป็นส.ส.ร. ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือ พรรคการเมือง แต่คนเหล่านี้คือผู้ที่จะต้องให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร.เป็นผู้ยกร่าง จึงถือได้ว่าเป็นอำนาจสุดท้ายในการดำเนินการ อีกทั้งหาก ส.ส.ร.ทำผิดหลักการขึ้นมา จะทำกันอย่างไร ดังนั้นศาลจึงอยากที่จะรู้ว่า คนเหล่านี้ มีความคิดในเรื่องรูปแบบของการปกครองอย่างไร เช่น ถ้าบอกว่าจะไม่แตะสถาบันฯ แต่ทำไมถึงไม่ยกเว้นใน หมวด 1 หมวด 2 ไว้ อย่างนี้มันต้องชัดเจน และต้องให้ความมั่นใจกับประชาชน และผู้ที่ร้องมา เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ ก็อยากจะรู้เช่นกัน ซึ่งผู้ที่จะมาชี้แจงในชั้นไต่สวน ก็เหมือนกับการให้สัญญาประชาคมกับสังคมและผู้ร้อง ว่า ถ้าหาก ส.ส.ร. ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกมาไม่เป็นไปตามที่ชี้แจงในชั้นไต่สวน คนเหล่านี้ก็จะไม่ยกมือรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเขาแถลงอย่างหนึ่ง แต่พอถึงเวลา กลับทำอีกอย่างหนึ่ง ประชาชนก็จะได้รู้ว่าใครโกหก ซึ่งก็เหมือนกับเป็นสัญญาลูกผู้ชาย สัญญาลูกผู้หญิง และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่เลยเถิด เราต้องตรวจสอบตรงนี้ก่อน ทั้งนี้เพื่อเป็นการถ่วงดุล" ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าว

นายวสันต์ ยังกล่าวอีกว่า การรับพิจารณาคำร้องดังกล่าวไม่ถือว่าศาลเข้าไปแทรกแซงฝ่ายบริหาร หรือไปแทรกแทรงฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เป็นการดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ได้ให้อำนาจเอาไว้ ถือเป็นการถ่วงดุลในการตรวจสอบ ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจเข้าไปก้าวล่วง ไปกำกับรัฐสภา จึงควรมองในทางบวกว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง และมีการไต่สวน ก็เพื่อทำให้ลดความตึงเครียด และความหวาดระแวงของสังคมที่มีต่อรัฐบาล และรัฐสภาลงได้ อีกทั้งเป็นผลดีทั้งรัฐบาล และรัฐสภาด้วยซ้ำ ที่จะได้ใช้โอกาสนี้ในการชี้แจง และสร้างความมั่นใจให้กับสังคมได้ ถ้าพวกเขาแสดงความบริสุทธิ์ใจออกมาว่า ไม่มีพฤติการณ์ตามที่เขาสงสัยมาก็จบ ก็เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย และเรื่องนี้ก็ไม่เกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เป็นคนละเรื่องกัน อย่าเอามารวมกัน

** หากผ่านวาระ3 ศาลรธน.ยับยั้งไม่ได้

เมื่อถามว่า ความรวดเร็วในการรับพิจารณาคำร้องดังกล่าว อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังอยู่ในชั้นของการยกร่าง อาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญถูกมองว่า ไปรับงานใครมาหรือไม่ นายวสันต์ กล่าวว่า หมายถึงใคร ถ้าหมายถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จำได้ว่า เคยพูดกันครั้งเดียว ขนาดไปงานพระราชพิธี เจอและนั่งใกล้กัน ยังไม่เคยหันหน้าไปพูดกันเลย เพราะไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว และเห็นว่า ขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำลังจะผ่าน วาระ 3 ซึ่งในเนื้อหาค่อนข้างที่จะชัดเจนแล้ว ว่าอะไรเป็นอะไร รวมทั้งหากพ้นจากวาระ 3 ไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถไปดำเนินการใดๆได้แล้ว หรือแม้แต่เมื่อ ส.ส.ร. ยกร่างเสร็จแล้ว เป็นร่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัย

** หวั่นหมกเม็ดเปลี่ยนการปกครอง

" ศาลรัฐธรรมนูญจะอยู่หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องที่เราสนใจ และก็ไม่ใช่ประเด็นที่ผู้ร้องเขาร้องมา แต่ประเด็นอยู่ที่ก่อนการดำเนินการต่อไป ต้องชัดเจนก่อนว่ามีการซ่อนรูปแบบการปกครองบางอย่างเอาไว้หรือไม่ และจะเป็นการเอามาใช้แทนรูปแบบการปกครองในปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ดี หรือที่ประชาชนจะได้รับทราบพร้อมๆ กันในระหว่างที่ศาลไต่สวน ก่อนที่จะมีการแก้ไขต่อไป และอย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญปี 50 นั้นก็ได้ผ่านการทำประชามติมา ก็ถือได้ว่ามาจากประชาชน เพราะฉะนั้นจะเป็นไรไป ถ้าหากให้ประชาชนได้ทราบก่อนว่าการแก้ไขจะเป็นอย่างไรไม่ใช่หรือ ศาลไม่ได้ห้ามไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญเสียเมื่อไหร่ " นายวสันต์ กล่าว

** ยันมีอำนาจ ไม่สนถูกยื่นถอดถอน

ด้านนายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณที่มีนักวิชาการออกมาแสดงความเห็นว่า การทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกินขอบเขต ใช้อำนาจก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ และการออกคำสั่งดังกล่าวนั้น เข้าลักษณะที่อาจถูกถอดถอนได้ว่า กรณีดังกล่าวเมื่อมีผู้ร้องมา เราก็ดำเนินการพิจารณา และก่อนที่จะลงมติก็ได้มีการพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า สมควรที่จะดำเนินการเช่นนั้น จึงมีหนังสือไปยังเลขาธิการสภา แจ้งต่อประธานสภา และสมาชิกให้ทราบว่า ศาลได้มีคำสั่งให้ชะลอการลงมติในวาระที่ 3 ไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยออกมา ซึ่งคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ผูกพันทุกองค์กร ตุลาการฯ ก็ได้มีการพิจารณากันแล้วว่า การสั่งให้ชะลอการลงมติ ก็ไม่มีผลอะไร ที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย ช้าหน่อย เพื่อความชัดเจน ก็เห็นว่าไม่น่าจะเป็นอะไร เแต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญบอกไปแล้วไม่ฟังหากเกิดเรื่องขึ้นมาสภา ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

" เมื่อมีคนร้องขึ้นมาว่า การแก้รัฐธรรมนูญนั้นมันผิดหลักการ เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ ซึ่งเราตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมาพิจารณาว่า จริงหรือไม่ ไม่ได้เป็นการไปขั้ดขวางไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการอยากทราบความชัดเจนในการดำเนินการ ว่าผิดหลักการตามที่ผู้ร้องร้องมาหรือไม่ หากไม่มีคนร้อง ศาลก็ทำไม่ได้ ดังนั้นการดำเนินการออกคำสั่งไปนั้น เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ซึ่งก็ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้ชัดเจน ส่วนใครเห็นว่าเราทำเกินอำนาจหน้าที่ อยากจะถอดถอนก็ไม่ได้ว่าอะไร และรัฐธรรมนูญก็ให้สิทธิ์ไว้ก็ดำเนินการไปตามขั้นตอนไป อีกทั้งที่เห็นว่าเป็นการก้าวก่าย ก็เป็นเพียงความเห็นของนักวิชาการ หรือใครก็มีความเห็นได้ ไม่ได้ว่าอะไร และขอยืนยันว่า เราดำเนินการตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ไว้" นายบุญส่ง กล่าว

**เย้ย "เพื่อไทย" ผวาถูกยุบพรรค

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าไม่เข้าใจว่าแกนนำคนเสื้อแดง ทำไมจึงไม่เคารพการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ เคยมีหลายครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยที่เป็นคุณต่อรัฐบาลพรรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเหล่านี้ก็ออกมาแสดงความชื่นชม และยินดี และขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป แต่พอวันนี้เมื่อคำวินิจฉัยออกมาไม่เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ ก็ตีโพยตีพาย เล่นงานดิสเครดิตศาลรัฐธรรมนูญ หรืออาจจะเป็นเพราะเป็นการขัดขวางสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องการ เชื่อว่ากรณีนี้ พรรคเพื่อไทย อาจจะเกิดอาการวิตกจริตว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า การเสนอร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่สามารถกระทำได้ ก็จะทำให้มีผลที่ติดตามมาก็คือ จะต้องยุบพรรคการเมืองที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังกล่าวหลายพรรค และส.ส. ที่ลงชื่อหลายร้อยคน รวมถึงมติครม.ที่เสนอร่างแก้ไขด้วย ก็จะมีความผิดถึงขั้นยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จึงอาจจะเกิดปรากฏการณ์ ตายยกเข่งขึ้นมาของนักการเมืองอีกระลอกหนึ่ง จึงจำเป็นต้องใช้มวลชนคนเสื้อแดง ออกมาเคลื่อนไหวกดดันศาลแต่เนิ่นๆ

**จี้สอบจริยธรรม"ค้อนปลอม"

นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเรียกร้องให้ นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ หรือสมาชิกพรรคเพื่อไทย ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาให้ตรวจสอบคุณธรรม จริยธรรม ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกบการยื่นเรื่องขอให้ตรวจสอบสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ในเหตุการบุกบัลลังก์ประธานสภาฯด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแท้จริง เนื่องจากเหตุที่นำไปสู่การเกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากสองฝ่าย ไม่มีใครกระทำอยู่ฝ่ายเดียว ดังนั้นนายสมศักดิ์ ควรจะต้องถูกตรวจสอบด้วยเช่นกัน ว่าเป็นกลางหรือไม่ ต้องการรวบรัดการประชุมเพื่ออะไร เพื่อใคร และเป็นประธานฝ่ายนิติบัญญัติแท้จริง หรือมีใครบงการอยู่เบื้องหลัง

" หากนางนฤมลหรือ ส.ส.เพื่อไทย ไม่กล้ายื่นสอบประธานสภา พวกเราก็จะยื่นประกบเรื่องนี้เอง เพื่อให้แต่ละหน่วยงานสอบไปพร้อมๆกัน เพื่อจะได้พิสูจน์กันไปเลย" นายบุญยอด กล่าว

**อัด ส.ว.แส่กิจการภายในสภาล่าง

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ส.ว.อุตรดิตถ์ เคลื่อนไหวจะยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบสวนพฤติกรรม ส.ส.บางคน ที่ทำลายภาพลักษณ์ของสภาว่า ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในที่ประชุมสภา ถ้าหากมีเหตุการกระทำผิดใดๆ ก็เป็นเรื่องที่สมาชิกสภาฯจะจัดการกันเองได้ ไม่มีใครรู้เหตุการณ์ดีไปกว่าคนที่อยู่ภายในเหตุการณ์ภายในห้องประชุมวันนั้น สมาชกวุฒิสภาได้รับทราบข้อมูลมากน้อยเพียงใด จึงคิดจะมาวุ่นวายกิจการภายในสภาผู้แทนฯ

" ถ้าคิดจะช่วย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ก็ควรเปลี่ยนสถานะจากวุฒิสภาที่เป็นผู้มีอิสระ ไปสังกัดพรรคการเมืองเสีย การตรวจสอบ ส.ส.สามารถกระทำได้ แต่เหตุความวุ่นวายที่เกิดขึ้นก็ควรไปตรวจสอบผู้ทำหน้าประธานในที่ประชุมด้วย เพื่อให้เกิดความป็นธรรม และแสดงให้เห็นว่าสมาชิกวุฒิสภา มีความเป็นกลางก็ควรจะให้ข้อมูลข่าวสารทั้งสองด้าน ไม่ใช่เฉพาะจงจงให้สมาชิกฝ่ายค้านเสื่อมเสีย และเชื่อว่าภายในสภาก็มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล บางคนออกมาเคลื่อนไหวตรวจสอบเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว สมาชิกวุฒิสภา ควรจะไปตรวจสอบดูแลกิจการภายในสภาของตัวเองจะดีกว่า" นายเทพไท กล่าว

** จี้ "ปู" ออก พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมสภา

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณา ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมสภา ซึ่งเดิมต้องปิดตั้งแต่เดือนเม.ย. แต่รัฐบาลขยายเวลาโดยไม่มีกำหนด เพื่อพิจารณา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ทั้งๆ ที่กฎหมายทั้งสองฉบับ หากรัฐบาลไม่มีเจตนาเร่งรีบ รวบรัด ก็สามารถรอการเปิดประชุมสมัยถัดไปได้ โดยเฉพาะเมื่อกฎหมายปรองดองเข้าสภา แทนที่จะสร้างความปรองดอง กลับสร้างความแตกแยกมากขึ้น มีการคัดค้านอย่างเต็มที่ของพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม พยายามหักดิบ นำร่างกฎหมายเข้าสู่สภา ทุกวิถีทาง ตนจึงเห็นว่าถ้ายังขยายสมัยประชุมออกไปโดยไม่มีกำหนด ก็ไม่มีความชัดเจนว่า จะมีการลักไก่นำ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสภาอีกเมื่อไร ซึ่งหากทำอีก ก็จะมีความแตกแยกจนอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ ถ้ารัฐบาลเห็นแก่ความสงบสุขของบ้านเมือง ขอให้ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมสภา ภายในวันอังคารนี้ หรืออังคารหน้า

**รัฐบาลดื้อดึงจะเกิดสงครามกลางเมือง

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะเสนอ ร่างกฎหมายปรองดองเข้าสภานั้น ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจต่อการเสนอกฎหมาย ก็อยากให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกรรมาธิการวิสามัญปรองดองฯ ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน นำรายงานที่บิดเบี้ยวไม่ตรงตามเจตนารมย์ของงานวิจัยสถาบันพระปกเกล้า ด้วยการจัดเวทีสานเสวนา แทนการใช้เสียงข้างมากเป็นตัวกำหนด ความสำเร็จของการปรองดอง ต้องเกิดจากความเห็นพ้องต้องกันของสภา และประชาชน อีกทั้งในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ก็มีการตั้งงบประมาณกว่า 400 ล้านบาท เพื่อเตรียมพร้อมดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ พล.อ.สนธิ กลับเสนอกฎหมายเข้าสภา โดยไม่สนใจรายงานของกรรมาธิการฯ ที่ตัวเองเป็นประธานฯ

ดังนั้น หากรัฐบาลมีความจริงใจ อยากเห็นความปรองดอง ควรใช้เวลานับจากนี้ไปในการดำเนินการสานเสวนาปรองดองให้เกิดความเห็นพ้องมากขึ้น ตนเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีของสังคม มากกว่าดันทุรัง ยัดเยียดเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมสภา ผลักดันเป็นกฎหมายมาใช้บังคับโดยเร็ว ทั้งนี้ มีความเป็นห่วงว่าหากรัฐบาลยังไม่หยุด อาจเกิดสงครามกลางเมืองในกรุงเทพมหานคร เพราะอาจมีการนำมวลชนสองกลุ่มมาเผชิญหน้า จนเกิดการปะทะกัน เหตุผลที่ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ต้นตอมาจากผู้ที่อยู่เบื้องหลังการผลักดัน ที่จะได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สามารถพูดกับคนที่สนิทมากที่สุดในชีวิต ที่อยู่ในต่างประเทศให้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นต้นตอของวิกฤตประเทศ จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองในกรุงเทพมหานคร และอาจจะเกิดในส่วนอื่นๆ ของประเทศไทยด้วย

** เชื่อรัฐบาลยังไม่เสนอปิดประชุม

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าในการประชุมครม.วันอังคารนี้ จะยังไม่มีการพิจารณาการเสนอปิดประชุมสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ เนื่องจากยังมีร่างกฎหมายสำคัญที่ค้างการพิจารณาอยู่ เช่น พ.ร.บ.การฟอกเงิน และ พ.ร.บ.ก่อการร้าย ซึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ รวมทั้งการที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่งเลื่อนการประชุมสภาฯ ในวันที่ 6-7 มิ.ย.นี้ มีผลให้ไม่สามารถออกพระราชกฤษฎีกา ปิดสมัยประชุมในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ได้ แต่ยอมรับว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง หากมีปัญหามาก ก็จะต้องเลื่อนออกไปก่อน โดยไม่มีกำหนด.
กำลังโหลดความคิดเห็น