“วิชิต ปลั่งศรีสกุล” ยันมีปรับ ครม.แน่ แต่นายกฯ เป็นคนชี้ขาด เชื่อกลุ่ม 111 ไม่ต่อรองตำแหน่ง พร้อมประเดิมงานแรก ต้านรัฐประหาร ขณะ “นิพิฏฐ์” ชี้การแต่งตั้ง 111 เป็นรัฐมนตรีทำง่าย แต่ส่งลงสมัคร ส.ส.ยาก เพราะพื้นที่เต็มหมดแล้ว ด้าน “พนัส” เชื่อ พ.ร.บ.ปรองทำเสื้อแดงแยกทาง “เพื่อไทย” แน่ เตือนคอร์รัปชัน-ม.112 ทำสงครามกลางเมืองปะทุ
ในงานสัมมนาสาธารณะหัวข้อ “พลวัตการเมืองไทยหลัง 111 คืนชีพ ???” จัดโดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 3 สถาบันอิศรามูลนิธิสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย วิทยากรผู้อภิปรายประกอบด้วย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำชาติพัฒนา, นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล เลขาธิการมูลนิธิ 111 ไทยรักไทย, นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์, นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต ส.ว.ตาก อดีต ส.ส.ร. 2540 ดำเนินการอภิปรายโดยนายเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้สื่อข่าวอาวุโสเครือเนชั่น จัดขึ้นที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วันที่ 26 พ.ค. 2555
นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล กล่าวว่า การที่บ้านเลขที่ 111 ปลดล็อกทางการเมืองนั้นจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทยแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าการเมืองไทยจะเดินหน้าไปอย่างไร ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีคนถามตลอดว่าจะมีการปรับ ครม.หรือไม่ ตอบได้เลยว่า การปรับ ครม.มีแน่นอนแต่จะขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีและกระบวนการทางการเมืองหลังเดือนพฤษภาคมว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าระบบการเมืองแบบต่อรองตำแหน่งจะไม่มีเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเท่าที่ได้คุยกับสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ในจำนวน 50-60 คน ในฐานะแม่บ้านยืนยันว่ายินดีจะให้พรรคมอบหมายงานให้ทำ ไม่มีการต่อรองตำแหน่ง จะเป็นการเติมเต็มงานให้สมบูรณ์ ตรงไหนขาดทีมงานก็จะเข้าไปเสริมทัพ เช่นทีมการเมือง การลงพื้นที่ช่วย ส.ส. หรือทีมงานกฎหมาย
นายวิชิตกล่าวต่อว่า แต่ส่วนที่ 111 จะขับเคลื่อนชัดเจนต่อไปเป็นงานแรก คือ เข้าไปต่อต้านการรัฐประหาร และเชื่อว่าต่อจากนี้ไปรัฐประหารโอกาสน้อยลง เพราะการเข้าไปในพื้นที่การเมืองของประชาชนมีมากขึ้น คิดว่าต่อไปนี้พื้นที่ทางการเมืองจะเป็นของประชาชน พรรคการเมืองจะปรับตัวมากขึ้น ต่อไปอีก 30-40 ปี ข้างหน้า จะเห็นประชาชนร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้น พรรคการเมืองใหญ่ทั้งพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นระบบปิดอยู่เดิม ก็ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งการกำหนดนโยบายโดยประชาชนในพื้นที่เสนอผ่านพรรคการเมืองเป็นต้น
สุวัจน์ยัน “พรรค-รัฐบาล-สภา” อ่อนแอ
ขณะที่ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนา เชื่อว่าการกลับมาของบ้านเลขที่ 111 นั้นจะมีประโยชน์ต่อระบอบเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะระบบการเมือง พรรคการเมือง และสภาฯ จะมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดย 5 ปีที่ผ่านมา ที่มาของการตัดสิทธิทางการเมืองของคนบ้านเลขที่ 111 นั้นแต่เดิมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญระบุถึงการยุบพรรคการเมือง โดยกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ จะมีข้อห้ามแค่ห้ามตั้งพรรคการเมือง ห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรค ห้ามเป็นรัฐมนตรี ห้ามลงสมัคร ส.ส. แต่ไม่ได้ตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี การตัดสิทธิทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นเพราะคำสั่งคณะปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ฉบับที่ 27 ที่เพิ่มเรื่องของการตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีเข้าไป ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับหนึ่ง ทำให้การตัดสินคดีในครั้งนั้นต้องเอากฎหมายใหม่มาตัดสินด้วย เป็นที่มาของการที่บ้านเลขที่ 111
สิ่งสำคัญคือบ้านเลขที่ 111 นั้น ถ้านับอาวุโสทางการเมืองแล้ว ถือเป็นนักการเมืองรุ่นที่ 2 ที่สำคัญของประเทศ หลังจากรุ่นที่ 1 จะเป็นระดับ อาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช อาจารย์เสนีย์ ปราโมช, ชาติชาย ชุณหะวัณ, พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร, ชวน หลีกภัย, บรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งรุ่นที่ 2 นั้นจะเป็นคนที่มีอายุประมาณ 40-50 ปี เคยเป็น ส.ส.มาแล้ว 5-6 สมัย เป็นรัฐมนตรีมาแล้ว 5-6 กระทรวง ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ทางการเมือง มีบารมี และการบริหารกิจการบ้านเมือง
เมื่อกลุ่มนักการเมืองรุ่นที่ 2 ของประเทศไทยส่วนใหญ่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง การเมืองไทยจึงมีปัญหาใน 3 ส่วนสำคัญ คือ พรรคการเมือง รัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร ที่อ่อนแอลงและขาดเสถียรภาพอย่างเห็นได้ชัด (อ่าน รายละเอียดคำอภิปรายของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ)
ปชป.ชี้ 111 กลับมา ส.ส.เขตเพื่อไทยมีปัญหาแน่
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนมองการเมืองหลังบ้านเลขที่ 111 กลับมาใน 2 ระดับ คือ ระดับรัฐบาล และระดับชาติ โดยระดับรัฐบาลยอมรับว่า น่าจะเข้มเข็งขึ้น เพราะจะได้บุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ กลับมาทำให้รัฐบาลเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของตน ซึ่งเห็นการเมืองมา 20 ปี การเมืองในช่วง 5 ปีหลังต่างจาก 15 ปีแรก เพราะไม่มีความประนีประนอม มีความรุนแรง ต่างจากในรุ่นของตนกับนายสุวัจน์ และนายวิชิต ที่สามารถพูดคุยกันได้ ไม่ว่าในสภาจะขัดแย้งกันอย่างไร แต่รุ่นปัจจุบันพูดคุยกันไม่ได้ เช่น กรณี นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ตนเห็นว่า การเมืองวันนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว กรณีพรรคเพื่อไทยนั้น พรรคการเมืองไม่ได้คุมมวลชน แต่มวลชนคุมพรรคการเมือง ยกตัวอย่าง หากนักการเมืองไปหาเสียงภาคอีสานแล้วประกาศเป็นปฏิปักษ์กับคนเสื้อแดง เชื่อว่านักการเมืองคนนั้นจะสอบตก ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับ ส.ส.ใหม่บางคนของพรรคเพื่อไทย ส.ส.บางคนยอมรับว่า ไม่เห็นด้วยกับคนเสื้อแดงในบางเรื่อง แต่ไม่สามารถแสดงความเห็นขัดแย้งกับกลุ่มคนเสื้อแดงได้ มิเช่นนั้นจะสอบตก ไม่ได้รับการสนับสนุน ดังนั้นวันนี้มวลชนคนเสื้อแดงใหญ่เกิน ส.ส.ควบคุม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น
กรณีการกลับมาของบ้านเลขที่ 111 อาจทำให้รัฐบาลเข้มแข็งขึ้น แต่ถ้ารัฐบาลมีปัญหาหรือปฏิเสธมวลชนรัฐบาลก็อาจล้มได้ การเมืองวันนี้ต้องกลับมาวิเคราะห์ที่มวลชนมากกว่าวิเคราะห์การคืนชีพของบ้านเลขที่ 111 สถานการณ์การเมืองวันนี้ภาคอีสานกับภาคใต้มีความเหมือนกัน คือ ใช้เงินซื้อไม่ได้ แต่มีแนวคิดที่ต่างกันมาก
นายนิพิฏฐ์กล่าวด้วยว่า สถานการณ์การเมืองในวันนี้ ต่อให้ผู้ใหญ่ในบ้านเลขที่ 111 เข้ามาในพรรคเพื่อไทยก็ยากที่จะทำอะไรได้ นอกจากนี้ การกลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีจะง่ายกว่าการเข้ามาเป็น ส.ส.เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ของ ส.ส. 400 เขตเต็มหมดแล้ว หากถอดใครออกจะเกิดปัญหาขึ้นทันที แต่การถอดรัฐมนตรีออกจะมีปัญหาน้อยกว่า
ปรองดองสุดขั้วเพิ่มความขัดแย้ง
นายนิพิฏฐ์ กล่าวถึงการกลับมาของกลุ่ม 111 สอดรับการที่ พล.ต.สนธิ บุญยรัตกลิน ยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสภา จะช่วยเพิ่มบรรยากาศปรองดองได้หรือไม่ว่า หากย้อนกลับไปเมื่อเกิดการยึดอำนาจวันที่ 19 กันยายน 2549 โพลทุกสำนักระบุว่า คนไทยเห็นด้วยกับการยึดอำนาจถึงร้อยละ 87 แต่หากถามใหม่ ณ วันนี้ กลับไม่มีคนเห็นด้วย
ทั้งนี้ คนมักใช้เหตุผลในปัจจุบันตัดสินการกระทำในอดีต ส่วนการล้มล้างผลพวงของปฏิวัติเกิดขึ้นแล้ว โดยการยื่นกฎหมายปรองดองของพลเอกสนธิเมื่อวันที่ 24 ที่ผ่านมา เดิมสถาบันพระปกเกล้าเสนอ 3 แนวทาง คือ แนวทางแรกล้มล้างทั้งหมด แล้วคืนเงิน 4 หมื่นกว่าล้านบาทให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นแนวคิดสุดขั้ว ใน 54 คน มีคนเห็นด้วย 2 คน แนวทางที่ 2 คือ ในระหว่างสอบสวนยกเลิกหมด ยกเว้นส่วนที่ตัดสินไปแล้ว และแนวทางที่ 3 คือ ยกเลิกหมด แล้วเริ่มกระบวนการสอบสวนใหม่ โดยไม่ถือว่าขาดอายุความ
ทั้งนี้ วันนี้สภาฯ กลับยกแนวคิดที่ 1 ซึ่งเป็นแนวคิดสุดขั้วซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วยเพียง 2 คนขึ้นมานำ ประเด็นนี้ตนเห็นว่าจะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น แทนที่จะเกิดความปรองดอง และจะยิ่งจะสร้างความขัดแย้งขึ้นอีก นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่คาใจ คือ หากยึดหลักนี้และคืนเงินให้ พ.ต.ท.ทักษิณ จะต้องคืนเงินให้แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร หรือไม่ เพราะทั้งสองคนถูกยึดทรัพย์ด้วยคำพิพากษาของศาลฎีกาเช่นกัน
ห้ามแตะมาตรา 112
นายนิพิฏฐ์ยังเห็นว่า สงครามครั้งใหม่ไม่ใช่การแย่งชิงเขตแดนหรือทรัพยากร แต่เป็นการต่อสู้ที่ความเชื่อ และคนพร้อมที่จะตายเพื่อปกป้องความเชื่อสูงสุด ซึ่งตนขออย่างเดียวว่า อย่าแตะต้องความเชื่อสูงสุดของคนไทย และขอคนเสื้อแดงว่า อย่าแตะมาตรา 112 มิฉะนั้นอาจเกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นได้ ตนเห็นว่าการแก้ไขมาตรา 112 ขณะนี้ยังไม่เหมาะสม และต้องใช้เวลา
111 แก้เสื้อแดงแตกแยกไม่ได้
ด้าน นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต ส.ว.ตาก, อดีต ส.ส.ร.2540 กล่าวว่าถ้า กลุ่ม 111 เป็นอิสระกลับมาการเมืองไทยจะกลับคืนสภาพของการเมืองก่อนหน้า 19 ก.ย. 49 เมื่อการเมืองจะกลับไปอย่างเก่าก็ไม่รู้สึกดีใจเท่าไรนัก แต่ก็ยอมรับว่ามวลชนมีการตื่นตัวเรื่องการเมืองขึ้นมาก แต่ไม่ชัดเจนว่าเป็นการตื่นตัวเพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรือไม่
ทั้งนี้ การดำเนินการเสนอ พ.ร.บ.ปรองดองนั้น มองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นตัวชนวนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงถึงขนาดที่ว่าเพื่อไทยจะไปทางหนึ่ง เสื้อแดงก็จะไปอีกทางหนึ่ง และจะแตกกันเองด้วย เพราะถึงอย่างไรจะมีคนพวกหนึ่งก็ยังจะเชียร์ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกร้องประชาธิปไตย หรือกำลังเดินหน้าเรื่องแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็จะไม่เห็นด้วย และจะมีการก่อกวนจนนำไปสู่ความรุนแรง ดังนั้นไม่ว่า 111 พ้นโทษหรือมีการปรับ ครม.ใหม่ ก็ยังคิดว่าการแก้ปัญหานี้จะแก้ได้ไม่ง่ายนัก
“ฝรั่งมาบอก Transitional Justice คนผิดต้องเอามาลงโทษ จะล้างผิดไปทุกอย่างไม่ได้ เพราะไม่ว่ายังไงก็ยังเป็นนิรโทษกรรมอีกแบบหนึ่ง และการล้มล้างผลพวงรัฐประหารเท่านั้นเอง ผมเองมีความรู้สึกว่า ถ้าจะให้ดีกับประเทศ ควรจะปฏิรูปทั้งหมด”
ส่วนในเรื่องข้อหาคอร์รัปชั่น ส่วนตัวคิดว่ามีมูลโดยเฉพาะการคอร์รัปชันในเชิงนโยบาย จะมีการแก้ไขจริงจังกันอย่างไร หากแก้ไขตรงนี้ไม่ได้ปัญหาก็จะวกกลับมาเหมือนเดิม เป็นวงจรอุบาทว์ และจะบวกด้วยปัญหาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย
“ต่อไปสงครามความเชื่อ บวกกับสงครามคอร์รัปชัน และอาวุธอีกตัวหนึ่งคือ 112 ด้วยสงครามกลางเมืองก็ยิ่งดุเดือดเลือดพล่านไปด้วย โดยอาวุธการคอร์รัปชันจะถูกหยิบมาใช้มาตั้งแต่ก่อนหน้า 112 ด้วยซ้ำไป ในอดีต อย่าลืมว่า 2490 อาวุธคือการคอร์รัปชัน กินหิน กินดิน กินจอบ กินเสียม รัฐบาลหลวงธำรงฯ เรื่องนี้ต้องแก้ไปพร้อมกันทั้งหมดผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่เชื่อในระบบรัฐสภา ไม่ว่าเพื่อไทย หรือ ปชป.ตราบใดไม่แก้ไขปรับปรุงตัวเองได้” นายพนัสกล่าว