ปธ.ศาลรธน.ปัดรับ 5 คำร้องวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหวังขวางกระบวนการสภา ระบุมีผู้ร้องมาตาม ม.68 ก็ต้องไต่สวน ชี้ถ้าไม่ล้มล้างการปกครองก็ยกคำร้อง หากมาชี้แจงก็เท่ากับให้คำมั่นสัญญาต่อประชาชน ยันไม่ได้จุ้นนิติบัญญัติแต่ตรวจสอบเพื่อลดความระแวงของสังคม ถ้าบริสุทธิ์ใจก็จบ ขออย่าเหมารวมปรองดอง ด้านตุลาการฯ เผยพิจารณาถี่ถ้วนแล้ว บอกแจ้งไปแล้วถ้ายังดื้อลงมติสภาต้องรับผิดชอบ ใครอยากถอดถอนก็ไม่ว่ากัน
วันนี้ (3 มิ.ย.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับ 5 คำร้องกรณีขอให้วินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาวินิจฉัย ว่า ไม่ใช่เพราะมีเจตนาที่จะขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากมีผู้มาร้องขอให้ศาลดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งศาลก็ต้องไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงว่าการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ตามที่มีการกล่าวหาหรือไม่ หากการให้ข้อเท็จจริงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การดำเนินการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้อง ยังไม่มีพฤติการณ์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ศาลก็ยกคำร้อง
“แม้ขณะนี้ยังไม่มีการยกร่างกันเป็นรายมาตรา และถ้าจะอ้างว่าผู้ที่ยกร่างก็เป็น ส.ส.ร.ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือพรรคการเมือง แต่คนเหล่านี้คือผู้ที่จะต้องให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร.เป็นผู้ยกร่าง จึงถือได้ว่าเป็นอำนาจสุดท้ายในการดำเนินการ อีกทั้งหาก ส.ส.ร.ทำผิดหลักการขึ้นมาจะทำกันอย่างไร ดังนั้นศาลจึงอยากที่จะรู้ว่า คนเหล่านี้มีความคิดในเรื่องรูปแบบของการปกครองอย่างไร เช่น ถ้าบอกว่าจะไม่แตะสถาบัน แต่ทำไมถึงไม่ยกเว้นในหมวด 1 หมวด 2 ไว้ อย่างนี้มันต้องชัดเจน และต้องให้ความมั่นใจกับประชาชน และผู้ที่ร้องมา เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็อยากจะรู้เช่นกัน ซึ่งผู้ที่จะมาชี้แจงในชั้นไต่สวนก็เหมือนกับการให้สัญญาประชาคมกับสังคมและผู้ร้องว่า ถ้าหาก ส.ส.ร.ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาไม่เป็นไปตามที่ชี้แจงในชั้นไต่สวน คนเหล่านี้ก็จะไม่ยกมือรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเขาแถลงอย่างหนึ่ง แต่พอถึงเวลากลับทำอีกอย่างหนึ่งประชาชนก็จะได้รู้ว่าใครโกหก ซึ่งก็เหมือนกับเป็นสัญญาลูกผู้ชาย สัญญาลูกผู้หญิง และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะไม่เลยเถิดเราต้องตรวจสอบตรงนี้ก่อน ทั้งนี้เพื่อเป็นการถ่วงดุล” ประธานศาล รธน. กล่าว
นายวสันต์กล่าวอีกว่า การรับพิจารณาคำร้องดังกล่าวไม่ถือว่าศาลเข้าไปแทรกแซงฝ่ายบริหาร หรือไปแทรกแทรงฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เป็นการดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ให้อำนาจเอาไว้ ถือเป็นการถ่วงดุลในการตรวจสอบ ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจเข้าไปก้าวล่วงไปกำกับรัฐสภา จึงควรมองในทางบวกว่า การที่ศาลรับคำร้องและมีการไต่สวน ก็เพื่อทำให้ลดความตรึงเครียด และความหวาดระแวงของสังคมที่มีต่อรัฐบาล และรัฐสภาลงได้ อีกทั้งเป็นผลดีทั้งรัฐบาลและรัฐสภาด้วยซ้ำที่จะได้ใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงและสร้างความมั่นใจให้กับสังคมได้ ถ้าพวกเขาแสดงความบริสุทธิ์ใจออกมาว่าไม่มีพฤติการณ์ตามที่เขาสงสัยมาก็จบ ก็เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย และเรื่องนี้ก็ไม่เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ซึ่งคนละเรื่องกันอย่าเอามารวมกัน
เมื่อถามว่า ความรวดเร็วในการรับพิจารณาคำร้องดังกล่าว อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังอยู่ในชั้นของการยกร่างอาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญถูกมองว่า ไปรับงานใครมาหรือไม่ นายวสันต์ กล่าวว่า หมายถึงใคร ถ้าหมายถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จำได้ว่า เคยพูดกันครั้งเดียว ขนาดไปงานพระราชพิธี เจอและนั่งใกล้กันยังไม่เคยหันหน้าไปพูดกันเลย เพราะไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว และเห็นว่าขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำลังจะผ่านวาระ 3 ซึ่งในเนื้อหาค่อนข้างที่จะชัดเจนแล้วว่าอะไรเป็นอะไร รวมทั้งหากพ้นจากวาระ 3 ไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถไปดำเนินการใดๆ ได้แล้ว หรือแม้แต่เมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างเสร็จแล้วเป็นร่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัย
“ศาลรัฐธรรมนูญจะอยู่หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องที่เราสนใจ และก็ไม่ใช่ประเด็นที่ผู้ร้องเขาร้องมา แต่ประเด็นอยู่ที่ก่อนการดำเนินการต่อไปต้องชัดเจนก่อนว่ามีการซ่อนรูปแบบการปกครองบางอย่างเอาไว้หรือไม่ และจะเป็นการเอามาใช้แทนรูปแบบการปกครองในปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ดีหรือที่ประชาชนจะได้รับทราบพร้อมๆ กันในระหว่างที่ศาลไต่สวน ก่อนที่จะมีการแก้ไขต่อไป และอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญปี 50 นั้นก็ได้ผ่านการทำประชามติมา ก็ถือได้ว่ามาจากประชาชน เพราะฉะนั้นจะเป็นไรไปถ้าหากให้ประชาชนได้ทราบก่อนว่าการแก้ไขจะเป็นอย่างไรไม่ใช่หรือ ศาลไม่ได้ห้ามไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญเสียเมื่อไหร่” นายวสันต์กล่าว
ด้าน นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณที่มีนักวิชาการออกมาแสดงความเห็นว่าการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเกิดขอบเขต ใช้อำนาจก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติและการออกคำสั่งดังกล่าวนั้นเข้าลักษณะที่อาจถูกถอดถอนได้ ว่ากรณีดังกล่าวเมื่อมีผู้ร้องมาเราก็ดำเนินการพิจารณาและก่อนที่จะลงมติก็ได้มีการพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าสมควรที่จะดำเนินการเช่นนั้น จึงมีหนังสือไปยังเลขาธิการสภา แจ้งต่อประธานสภา และสมาชิก ทราบว่าศาลได้มีคำสั่งให้ชะลอการลงมติในวาระที่ 3 ไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา ซึ่งคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ตุลาการฯ ก็ได้มีการพิจารณากันแล้วว่า การสั่งให้ชะลอการลงมติก็ไม่มีผลอะไรที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย ช้าหน่อย เพื่อความชัดเจนก็เห็นว่าไม่น่าจะเป็นอะไร แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญบอกไปแล้วไม่ฟังหากเกิดเรื่องขึ้นมาสภาก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
“เมื่อมีคนร้องขึ้นมาว่า การแก้รัฐธรรมนูญนั้นมันผิดหลักการ เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ ซึ่งเราตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องมาพิจารณาว่า จริงหรือไม่ ไม่ได้เป็นการไปขัดขวางไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการอยากทราบความชัดเจนในการดำเนินการว่าผิดหลักการตามที่ผู้ร้องร้องมาหรือไม่ หากไม่มีคนร้องศาลก็ทำไม่ได้ ดังนั้นการดำเนินการออกคำสั่งไปนั้นเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งก็ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้ชัดเจน ส่วนใครเห็นว่าเราทำเกินอำนาจหน้าที่ อยากจะถอดถอนก็ไม่ได้ว่าอะไร และรัฐธรรมนูญก็ให้สิทธิ์ไว้ก็ดำเนินการตามขั้นตอนไป อีกทั้งที่เห็นว่าเป็นการก้าวก่ายก็เป็นเพียงความเห็นของนักวิชาการ หรือใครก็มีความเห็นได้ไม่ได้ว่าอะไร และขอยืนยันว่าเราดำเนินการตามรัฐธรรมนูญที่ให้ไว้” นายบุญส่งกล่าว