xs
xsm
sm
md
lg

ทีมกฎหมาย พท.ย้ำคำแถลงปิดคดี ศาล รธน.ไม่มีอำนาจรับคำร้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิชิต ชื่นบาน (แฟ้มภาพ)
ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นคำแถลงปิดคดีแก้ รธน.วันนี้ ย้ำศาล รธน.ไม่มีอำนาจรับคำร้องตั้งแต่แรก ขณะเดียวกันก็เป็นการแก้ไขมาตราเดียวให้ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่าง รธน. เข้าบทบัญญัติ ม.291


นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า คำแถลงปิดคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เตรียมยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ (11 ก.ค.) ทีมกฎหมายของพรรคฯ ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นหัวหน้าทีมในการเขียนคำแถลงปิดคดี พร้อมด้วยนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และตนเองจะร่วมหารือกันเพื่อสรุปประเด็นที่จะนำไปยื่นแถลงปิดคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ขอให้องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปโดยยุติธรรม ถูกต้อง และเป็นธรรมตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 197

โดยผู้ถูกร้องยังยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องในคดีนี้ตั้งแต่แรก โดยยึดคำร้องเมื่อปี 2549 ของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์ ตามมาตรา 63 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเดียวกันกับมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญปี 50 โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งชัดเจนว่าไม่รับคำร้อง เพราะตีความว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่ต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังนั้นมองว่า 2 คดีนี้เทียบเคียงกันได้ เพราะเป็นกระบวนการยื่นคำร้องโดยอาศัยช่องทางเดียวกัน ยืนยันว่าไม่มีบทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรับคำร้องตั้งแต่แรก และขอยืนยันว่าไม่มีกฎหมายใดในโลกนี้ที่ให้สิทธิประชาชนยื่นคำร้องต่อ 2 องค์กรให้รับเรื่องพร้อมกัน

นายพิชิตกล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะอ้างมาตรา 291 ที่ระบุว่าห้ามไม่ให้เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้ เพราะมาตรา 291 เป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยผู้ถูกร้องได้แก้ไขมาตราเดียวให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไม่ได้แก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งตรงตามที่ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เคยให้สัมภาษณ์ไว้อย่างชัดเจนในวันที่ 18 ส.ค. 54 แต่วันนี้ผ่านมาไม่ถึง 1 ปี อยากถามว่านายวสันต์ลืมคำพูดของตัวเองแล้วหรือ ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่ามาตรา 291 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ ถือว่าศาลใช้ดุลยพินิจผิดพลาดเป็นครั้งที่ 2 หลังจากใช้ดุลยพินิจตามมาตรา 68 ผิดไปแล้วหนึ่งครั้ง อีกทั้งจะเป็นการตัดสิทธิและโอกาสของภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญผ่านการเลือกตั้ง ส.ส.ร.อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น