พท.อ้างยกคำพูด “วสันต์-จรัญ” ที่เคยให้สัมภาษณ์แก้ไข รธน.ได้ ไม่ใช่กดดันตุลาการฯ ผู้ตัดสินคดี ขู่หากผลวินิจฉัยออกมาเป็นลบต่อ พท.จะทำให้ประชาชนเสียความรู้สึก อาจนำไปสู่การชุมนุมที่ลุกลามใหญ่โต
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า วันนี้ (11 ก.ค.) พรรคเพื่อไทย มอบหมายให้ทนายความของพรรคไปยื่นคำแถลงปิดคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อศาลรัฐธรรมนูญตามที่ศาลนัดหมาย โดยทางพรรคมั่นใจว่าสามารถชี้แจงข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายได้อย่างครบถ้วนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ขัดต่อมาตรา 68 และไม่เป็นล้มล้างการปกครอง ซึ่งตนเองในฐานะที่เป็น ส.ส.ร่วมยื่นร่างแก้ไข และร่วมลงมติวาระที่ 2 มองว่า อำนาจของคดี ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้โดยตรง เพราะมาตรา 68/2 บัญญัติชัดเจนว่าอัยการสูงสุดเท่านั้นที่มีอำนาจยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ดังนั้นศาลจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้โดยตรง เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติให้ศาลตรวจสอบเรื่องนี้ได้
ขณะเดียวกัน เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 สามารถกระทำได้ เพราะในอดีตก็เคยทำมาแล้ว ประกอบกับนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็เคยให้ความเห็นว่าสามารถกระทำได้โดยวิธีการเช่นนี้ และเนื้อหาของ ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ข้อ 5 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าจะกระทำมิได้หากเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ รวมถึงข้ออ้างตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า โดยไม่มีเหตุผลและข้อเท็จจริงรองรับ
นายพร้อมพงศ์ยืนยันว่า การออกมาระบุเช่นนี้ไม่ได้เป็นการกดดันศาล ทั้งนี้อยากเรียกร้องมวลชนทุกกลุ่ม ไม่ควรเดินทางมาชุมนุมที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้น เพราะอาจมีมือที่ 3 เข้ามาก่อวุ่นวาย
ส่วนพรรคเพื่อไทยจะยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ศาลไม่ควรรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาตั้งแต่ต้น ดังนั้นผลการตัดสินที่ออกมา ถ้าเป็นลบต่อพรรคเพื่อไทยก็เป็นห่วงความรู้สึกของประชาชน เพราะครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การชุมนุมธรรมดา แต่อาจลุกลามไปเป็นอย่างอื่น
ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาระบุว่าการที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปกัมพูชา ในวันที่ 13 ก.ค. ซึ่งตรงกับวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหลีกหนีความรับผิดชอบนั้น นายพร้อมพงศ์ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีต้องไปปฏิบัติภารกิจสำคัญ พร้อมปฏิเสธว่าการเดินทางไปครั้งนี้ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน