xs
xsm
sm
md
lg

2 ฝ่ายยื่นแถลงปิดคดีแก้ รธน. “วรินทร์” ชี้พยานให้การวกวน-เพื่อไทยย้อน “จรัญ-วสันต์” เคยบอกตั้ง ส.ส.ร.ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ผู้ร้อง-ผู้ถูกร้อง” ยื่นแถลงปิดคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญล้มล้างการปกครองหรือไม่ครบแล้ว “วรินทร์” ชี้ศาลไม่ควรรับฟังฝ่ายผู้ถูกร้องให้การวกไปวนมา ปชป.เชื่อศาลวินิจฉัยอย่างไรบ้านเมืองก็ไม่สงบ ทนาย พท.ย้ำไม่คิดล้มล้างการปกครอง ชี้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่น ศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัย ขณะที่ ม.291 เปิดช่องให้แก้ไขอย่างไรก็ได้ ย้อน “จรัญ-วสันต์” เคยระบุให้มี ส.ส.ร.ยกร่างใหม่ได้ ด้านเสื้อแดงในนามชมรมทนาย ยื่นศาลยุติการพิจารณาคดี

วันนี้ (11 ก.ค.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องและผู้ถูกร้องในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ได้เข้ายื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดเวลาไว้แล้ว ยกเว้นเพียงนายสุนัย จุลพงศ์ธร ผู้ถูกร้องที่ 5 ที่ไม่ได้ยื่นคำแถลงปิดคดี เนื่องจากไม่ยอมรับการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย

โดย นายวรินทร์ เทียมจรัส ผู้ร้องที่ 4 กล่าวว่า คำแถลงปิดคดีที่ยื่นนั้นชี้ให้ศาลเห็นว่า จากการไต่สวนมีข้อเท็จจริงใดที่ศาลควรรับฟังและไม่ควรรับฟัง โดยในส่วนหลักฐานของผู้ถูกร้องที่ตนชี้ให้ศาลเห็นว่าไม่ควรรับฟังนั้นก็คือ การให้การของพยานกลับไปกลับมา บางประเด็นบอกว่าทำได้ บางประเด็นก็บอกว่าทำไม่ได้ แต่เมื่อไปดูในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ไม่พบว่ามีอยู่ นอกจากนี้ยังชี้ให้ศาลเห็นว่า ผู้ถูกร้องมีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครอง โดยในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่างของรัฐบาลพรรคร่วมรัฐบาล ได้มีการระบุไว้ในหลักการและเหตุผลว่า จะให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมายกร่างใหม่ และเมื่อยกร่างเสร็จแล้วก็จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้รัฐธรรมนูญ 50 สิ้นผลไป

ทั้งนี้ นายวรินทร์กล่าวด้วยว่า ไม่รู้สึกกังวลกับกระแสกดดันที่เกิดขึ้นกับตุลาการฯ ที่ขึ้นในขณะนี้ และเชื่อว่าตุลาการฯ จะไม่หวั่นไหว เนื่องจากถ้าตุลาการทั้ง 9 คน เอาลาภ เอายศมาเป็นปัจจัยในการตัดสินก็คงไม่เติบโตมาถึงขั้นนี้ ส่วนที่ผู้ร้องจะแถลงปิดคดีโดยเน้นถึงการแสดงความเห็นก่อนหน้านี้ของนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่าการแสดงความเห็นทางกฎหมายทำได้อยู่แล้ว และสถานการณ์ในเวลานั้นยังไม่มีข้อพิพาทเกิดขึ้น แต่เมื่อมีข้อพิพาทตุลาการฯ ก็ไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นคดี ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญ

“การแถลงปิดคดีของผมได้นำเสนอครบทั้ง 4 ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตั้งไว้ เพราะในคำขอที่ยื่นต่อศาลได้ขอให้ศาลใช้อำนาจสั่งให้หยุดการกระทำ และดำเนินการตามที่กฎหมายให้อำนาจ คือ ให้มีการยุบพรรค ซึ่งพยานหลักฐานที่มีการไต่สวนกันในศาล ผมเห็นว่าครบถ้วนโดย สิ่งที่ผมปรารถนา คือ ให้ศาลมีคำวินิจฉัยออกมา ไม่ว่าจะออกมาในทางบวกหรือลบก็ตาม เพราะเวลานี้ประชาชน 60 เปอร์เซ็นต์รอฟังศาลอยู่ศาลตัดสินอย่างไรก็พร้อมยอมรับ มีอยู่แค่ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ไม่ว่าศาลจะออกมาอย่างไรก็ไม่ยอมรับ” นายวรินทร์กล่าว

ขณะที่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ร้องที่ 3 กล่าวว่า คำแถลงปิดคดีที่ยื่นจำนวน 28 หน้า เชื่อว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะออกมารูปแบบใด บ้านเมืองก็ไม่มีทางสงบ แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องวินิจฉัยบนแนวทางที่ถูกต้อง ทั้งนี้ การมายื่นไม่ได้มีการเพิ่มเติมประเด็น แต่เป็นการขยายความจากการไต่สวนเท่านั้น และภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยก็จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ด้าน นายวีรภัทร ศรีไชยา ทนายความของพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 3 กล่าวว่า คำชี้แจงของพรรคอยู่ในกรอบ 4 ประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยรวม 18 หน้า สรุปว่า ผู้ร้องไม่อำนาจยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องเสนอผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น และเมื่อผู้ร้องไม่มีอำนาจร้อง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจวินิจฉัยเพียงผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง จึงให้ยกคำร้อง โดยศาลฯไม่มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นอื่น ทั้งนี้เพราะตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลสูงสุด และไม่ใช่ศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป แต่มีอำนาจเฉพาะที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อจัดตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถทำได้ เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เมื่อร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมมีผลใช้บังคับ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน การมี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกประการ

“มาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องแก้ไขเป็นรายมาตรา หรือจำกัดห้ามแก้ไขมาตราใดมาตราหนึ่ง เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ห้ามเฉพาะการแก้ไขที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือรูปแบบรัฐ ซึ่งประเพณีปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านมาก็มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้มาแล้ว 2 ครั้งในปี 2491 และ 2539 โดยนายจรัญ ภักดีธนากุล และนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เคยให้ความเห็นไว้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับทำได้” นายวีรภัทรกล่าว

นอกจากนี้ยังชี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่มีการกระทำอันถือเป็นการใช้สิทธิ และเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคเพื่อไทยไมได้กระทำการใดที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่มีการร้องเลย การเสนอและการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เพราะการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา 291 โดยการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เป็นกระบวนการแก้ไขตามที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันบัญญัติ

ทั้งนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้รับอนุมัติให้ประกาศใช้ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555 การกระทำเช่นนี้ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 อย่างแน่นอน อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291/11 วรรคหน้าก็ได้บัญญัติห้ามไว้อย่างชัดเจนว่าร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือรูปแบบของรัฐ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ ส.ส.ร.จะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่แล้ว

“ที่กลับเป็นผลดีคือ หากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามที่มีการเสนอนี้สำเร็จ ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยในรอบ 80 ปี ที่ยกร่างโดยประชาชนและเห็นชอบโดยประชาชน รัฐธรรมนูญมาตรา 68 นั้น ต้องการป้องกันการกระทำผิดที่มีความร้ายแรงถึงขั้นล้มล้างการปกครองฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองฯ ที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ซึ่งหมายความถึงการใช้กำลังยึดอำนาจปฏิวัติหรือรัฐประหาร ไม่ได้มุ่งหมายให้ใช้กับการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้เสนอคือครม. ส.ส. ทั้งการที่ ครม.และ ส.ส.เสนอแก้ไขก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นกรณีบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญตามที่มาตรา 68 วรรคหนึ่งกำหนดไว้”

ด้าน นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า หลังจากที่สำนักงานได้รับคำแถลงปิดคดีของทั้ง 2 ฝ่ายแล้วก็ได้มอบหมายสำนักคดีที่ 5 เป็นผู้จัดส่งให้กับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 8 คน เพื่อนำไปประกอบคำวินิจฉัยคดี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทยอยส่งคำแถลงปิดคดีของแต่ละฝ่ายให้กับคณะตุลาการฯ อย่างไรก็ตาม คงจะไม่มีการแถลงปิดคดีด้วยวาจาอีกแล้ว เพราะทุกฝ่ายได้ยื่นปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ครบถ้วนแล้ว

วันเดียวกัน นายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ เลขานุการชมรมทนายผู้รักความเป็นธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่สนับสนุนคนเสื้อแดง ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน เพิกถอนการกระทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพิกถอนมติรับคำร้องและคำสั่งที่ให้รัฐสภารอการดำเนินการลงมติวาระ 3

โดย นายหนึ่งดินกล่าวว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ต้องการให้อัยการสูงสุดเป็นผู้กลั่นกรองกรณีมีผู้ร้องว่ามีการกระทำล้มล้างการปกครองเกิดขึ้นก่อนที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งการที่ศาลรับคำร้องนี้จากผู้ที่อ้างว่าทราบการกระทำที่เป็นการล้มล้างโดยตรง จึงเป็นการล้มล้างหลักกฎหมายในเรื่องของการกลั่นกรอง อีกทั้งการที่ศาลมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าระ 3 ก็ถือว่าศาลยึดอำนาจนิติบัญญัติมาเป็นของตนเอง และเท่ากับศาลล้มล้างการปกครองเสียเอง ทางชมรมทนายฯ จึงได้มายื่นคำร้องขอให้ศาลยุติการกระทำละเมิดรัฐธรรมนูญด้วยการยุติการพิจารณาคดีนี้เสียก่อนที่จะวินิจฉัยคดีในวันที่ 13 ก.ค.นี้

ส่วน พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยศาลรัฐธรรมนูญว่า ในวันที่ 12 ก.ค. เวลา 10.00 น. กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจำนวน 3 กองร้อย จะเดินทางมาประจำที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นในช่วงบ่ายก็จะมีการซักซ้อมเพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในวันที่ 13 ก.ค.ที่ศาลนัดฟังคำวินิจฉัย โดยการซ้อมจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเริ่มจากการรวมแถว การตรวจตราการเดินเข้า-ออกประตู ส่วนวิธีการรับมือมวลชนหากมีการบุกเข้ามาภายในศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะมีมาตรการป้องกันตามแบบแผนที่วางไว้ รวมถึงการสับเปลี่ยนกำลังก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการเตรียมกำลังเสริมไว้ อีก 10 กองร้อย รวมกับที่ประจำอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็รวมเป็น 13 กองร้อย ในการดูแลรักษาความปลอดภัยครั้งนี้ ซึ่งกำลังเสริมจะคอยอยู่บริเวณรอบนอก หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินสามารถเรียกกำลังได้ภายใน 1 ชั่วโมง






กำลังโหลดความคิดเห็น