xs
xsm
sm
md
lg

"จำลอง"ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ชะลอวินิจฉัย แดงเหิม!ขู่จับตุลาการตัดสินลบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน- 2 ฝ่ายยื่นแถลงปิดคดี แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ผู้ร้องย้ำการแก้ไขมีเจตนาล้มล้างการปกครอง ส่วนผู้ถูกร้องโต้ ม.291 เปิดช่องให้แก้ไขได้ "ลุงจำลอง"ยื่นศาลรัฐธรรมนูญชะลอการวินิจฉัย ให้รอผลคดีที่พันธมิตรยื่นศาลเอาผิด 416 ส.ส.-ส.ว.ก่อน ด้านแก๊งแดงเหิม ขู่ตัดสินเป็นลบ จะบุกจับตัวตุลาการ ก่อสงครามกลางเมือง แถมมั่วนิ่มมีคนลงขัน 6 พันล้านล้มรัฐบาล "ยุทธศักดิ์-เพรียวพันธ์"เชื่อ ศุกร์ 13 เอาอยู่

วานนี้ (11 ก.ค.) ผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง ในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ได้เข้ายื่นคำแถลงปิดคดี ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดเวลาไว้แล้ว ยกเว้นเพียงนายสุนัย จุลพงศ์ธร ผู้ถูกร้องที่ 5 ที่ไม่ได้ยื่นคำแถลงปิดคดี เนื่องจากไม่ยอมรับการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย

นายวรินทร์ เทียมจรัส ผู้ร้องที่ 4 กล่าวว่า คำแถลงปิดคดีที่ยื่นนั้น ชี้ให้ศาลเห็นว่า จากการไต่สวนมีข้อเท็จจริงใดที่ศาลควรรับฟัง และไม่ควรรับฟัง โดยในส่วนหลักฐานของผู้ถูกร้องที่ตนชี้ให้ศาลเห็นว่าไม่ควรรับฟัง ก็คือ การให้การของพยานกลับไปกลับมา บางประเด็นบอกว่าทำได้ บางประเด็นก็บอกว่าทำไม่ได้ แต่เมื่อไปดูในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ไม่พบว่ามีอยู่

นอกจากนี้ ยังชี้ให้ศาลเห็นว่า ผู้ถูกร้องมีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครอง โดยในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่าง ของรัฐบาลพรรคร่วมรัฐบาล ได้มีการระบุไว้ในหลักการและเหตุผลว่า จะให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมายกร่างใหม่ และเมื่อยกร่างเสร็จแล้ว ก็จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้รัฐธรรมนูญ 50 สิ้นผลไป และไม่รู้สึกกังวลกับกระแสกดดันที่เกิดขึ้นกับตุลาการฯ ในขณะนี้ และเชื่อว่าตุลาการฯ จะไม่หวั่นไหว เนื่องจากถ้าตุลาการทั้ง 9 คน เอาลาภ เอายศ มาเป็นปัจจัยในการตัดสิน ก็คงไม่เติบโตมาถึงขั้นนี้

ส่วนที่ผู้ถูกร้องจะแถลงปิดคดี โดยเน้นถึงการแสดงความเห็นก่อนหน้านี้ของนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่า การแสดงความเห็นทางกฎหมายทำได้อยู่แล้ว และสถานการณ์ในเวลานั้น ยังไม่มีข้อพิพาทเกิดขึ้น แต่เมื่อมีข้อพิพาท ตุลาการฯ ก็ไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นคดี ดังนั้น จึงไม่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญ

"การแถลงปิดคดีของผม ได้นำเสนอครบทั้ง 4 ประเด็น ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตั้งไว้ เพราะในคำขอที่ยื่นต่อศาล ได้ขอให้ศาลใช้อำนาจสั่งให้หยุดการกระทำ และดำเนินการตามที่กฎหมายให้อำนาจ คือ ให้มีการยุบพรรค ซึ่งพยานหลักฐานที่มีการไต่สวนกันในศาล ผมเห็นว่าครบถ้วนโดยสิ่งที่ผมปรารถนา คือ ให้ศาลมีคำวินิจฉัยออกมา ไม่ว่าจะออกมาในทางบวกหรือลบก็ตาม เพราะเวลานี้ประชาชน 60 เปอร์เซ็นต์ รอฟังศาลอยู่ศาลตัดสินอย่างไรก็พร้อมยอมรับ มีอยู่แค่ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ไม่ว่าศาลจะออกมาอย่างไร ก็ไม่ยอมรับ"

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ร้องที่ 3 กล่าวว่า คำแถลงปิดคดีที่ยื่นจำนวน 28 หน้า เชื่อว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะออกมารูปแบบใด บ้านเมืองก็ไม่มีทางสงบ แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องวินิจฉัยบนแนวทางที่ถูกต้อง โดยการมายื่น ไม่ได้มีการเพิ่มเติมประเด็น แต่เป็นการขยายความจากการไต่สวนเท่านั้น และภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย ก็จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

** ยันศาลไม่มีสิทธิรับเรื่องพิจารณา

นายวีรภัทร ศรีไชยา ทนายความของพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 3 กล่าวว่า คำชี้แจงของพรรคอยู่ในกรอบ 4 ประเด็น ที่ศาลจะวินิจฉัยรวม 18 หน้า สรุปว่า ผู้ร้องไม่อำนาจยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ต้องเสนอผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น และเมื่อผู้ร้องไม่มีอำนาจร้อง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจวินิจฉัยเพียงผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง จึงให้ยกคำร้อง โดยศาลฯไม่มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นอื่น เพราะตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลสูงสุด และไม่ใช่ศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป แต่มีอำนาจเฉพาะที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อจัดตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สามารถทำได้ เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เมื่อร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมมีผลใช้บังคับ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน การมีส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกประการ

"มาตรา 291ของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้บัญญัติว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะต้องแก้ไขเป็นรายมาตรา หรือจำกัดห้ามแก้ไขมาตราใดมาตราหนึ่ง เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ห้ามเฉพาะการแก้ไขที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือรูปแบบรัฐ ซึ่งประเพณีปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านมา ก็มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้มาแล้ว 2 ครั้งในปี 2491 และ 2539 โดยนายจรัญ ภักดีธนากุล และนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็เคยให้ความเห็นไว้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับทำได้"

นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่มีการกระทำอันถือเป็นการใช้สิทธิ และเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครอง หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคเพื่อไทยไม่ได้กระทำการใดที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่มีการร้องเลย การเสนอและการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภา เพราะการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา 291 โดยการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ... เป็นกระบวนการแก้ไขตามที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันบัญญัติ หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้รับอนุมัติให้ประกาศใช้ ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2555 การกระทำเช่นนี้ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 อย่างแน่นอน อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291/11 วรรคหน้า ก็ได้บัญญัติห้ามไว้อย่างชัดเจนว่าร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือรูปแบบของรัฐ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ ส.ส.ร. จะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่แล้ว

ที่สำคัญ ผลดี คือ หากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามที่มีการเสนอนี้สำเร็จ ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยในรอบ 80 ปี ที่ยกร่างโดยประชาชน และเห็นชอบโดยประชาชน

***ส่งคำแถลงปิดคดีให้คณะตุลาการ

ด้านนายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า หลังจากที่สำนักงานได้รับคำแถลงปิดคดีของทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว ก็ได้มอบหมายสำนักคดีที่ 5 เป็นผู้จัดส่งให้กับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 8 คน เพื่อนำไปประกอบคำวินิจฉัยคดี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทยอยส่งคำแถลงปิดคดีของแต่ละฝ่ายให้กับคณะตุลาการฯ อย่างไรก็ตาม คงจะไม่มีการแถลงปิดคดีด้วยวาจาอีกแล้ว เพราะทุกฝ่ายได้ยื่นปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ครบถ้วนแล้ว

** ร้องให้ศาลล้มเลิกการพิจารณา

วันเดียวกัน นายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ เลขานุการชมรมทนายผู้รักความเป็นธรรม ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน เพิกถอนการกระทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพิกถอนมติรับคำร้องและคำสั่งที่ให้รัฐสภารอการดำเนินการลงมติวาระ 3

นายหนึ่งดินกล่าวว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ต้องการให้อัยการสูงสุดเป็นผู้กลั่นกรอง กรณีมีผู้ร้องว่ามีการกระทำล้มล้างการปกครองเกิดขึ้นก่อนที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งการที่ศาลรับคำร้องนี้จากผู้ที่อ้างว่าทราบการกระทำที่เป็นการล้มล้างโดยตรง จึงเป็นการล้มล้างหลักกฎหมายในเรื่องของการกลั่นกรอง อีกทั้งการที่ศาลมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ก็ถือว่าศาลยึดอำนาจนิติบัญญัติ มาเป็นของตนเอง และเท่ากับศาลล้มล้างการปกครองเสียเอง ทางชมรมทนายฯ จึงได้มายื่นคำร้องขอให้ศาลยุติการกระทำละเมิดรัฐธรรมนูญด้วยการยุติการพิจารณาคดีนี้เสียก่อนที่จะวินิจฉัยคดีในวันที่ 13 ก.ค.นี้

** "ลุงจำลอง"ร้องให้เลื่อนวันตัดสิน

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ได้เดินทางมายื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ ชะลอการมีคำวินิจฉัยในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ ออกไปก่อน เพื่อรอการไต่สวนพิจารณาคำร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเอาผิด ส.ส.และ ส.ว.รวม 416 คน ที่ออกเสียงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วจึงค่อยมีคำวินิจฉัยออกมาพร้อมกัน

พล.ต.จำลอง กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ครบ 1 เดือน ที่กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยื่นคำร้องดังกล่าว ซึ่งเหตุที่ขอให้ศาลชะลอการมีคำวินิจฉัย ก็เพราะอยากให้มีการไต่สวน และพิจารณาคำร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ แล้วค่อยมีคำวินิจฉัยไปพร้อมกัน เพราะในคำร้องทั้ง 5 คำร้องที่ศาลกำลังจะวินิจฉัย ไม่ได้ระบุ หรือบ่งบอกความผิดเป็นรายบุคคล แต่ในคำร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ เห็นว่า ร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นความผิดรายบุคคล เนื่องจากมี ส.ส. และ ส.ว.รวม 416 คน ได้ลงมติสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังมองว่า กรณีนี้เป็นความผิดทางอาญา และเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับคนเพียงคนเดียว คือ ประธานรัฐสภา ให้เป็นผู้ชี้ชะตาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากศาลจะเดินหน้า มีคำวินิจฉัยในวันที่ 13 ก.ค. กลุ่มพันธมิตรฯ ก็จะไม่คัดค้าน หรือออกมาเคลื่อนไหวกดดัน เพราะเป็นการร้องตามสิทธิรัฐธรรมนูญ และทั้งหมดเป็นดุลยพินิจของตุลาการศาลฯ จึงไม่ขอก้าวล่วง

ด้านนายปานเทพกล่าวว่า ที่ต้องมายื่นคำร้องขอให้ชะลอการวินิจฉัยวันที่ 13 ก.ค. เนื่องจากเห็นว่า หากศาลมีคำวินิจฉัยในวันดังกล่าวเป็นประการใด ก็จะกระทบต่อคำร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยตรง เพราะขณะนี้ทางกลุ่มยังไม่ได้เข้ารับการไต่สวนแม้แต่ปากเดียว จึงจะทำให้เสียสิทธิและประโยชน์ในการที่ชี้แจงข้อเท็จจริง จึงขอเรียกร้องให้เลื่อนการมีคำวินิจฉัยออกไป เพื่อให้มีการไต่สวนคำร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ ให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วค่อยมีคำวินิจฉัยออกมาพร้อมๆ กัน

** "แดง"เหิมขู่บุกจับตุลาการฯ

นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง กล่าวถึงกรณีคนสนิทของตนได้ไปพบ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 2-3 คน พูดคุยกันอย่างสนุกสนานว่า ให้ไปตัดสูทใหม่ เพราะจะได้เป็นรัฐบาลชุดใหม่นั้น ตนคิดว่าอย่าเพิ่งฝันหวานว่าจะได้ส้มหล่น ได้เป็นรัฐบาลเทพประทานอีกครั้งหนึ่ง เพราะจากผลงานครั้งที่ผ่านมา ก็ทำไว้หลายเรื่อง เช่น สองมาตรฐาน ดีแต่พูด สั่งฆ่าประชาชน ยาเสพติดเต็มบ้านเมือง ที่ตนพูดเช่นนี้ เพราะต้องการพูดดักคอเอาไว้ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่า จะต้องเจอกับอะไร หากมีรัฐบาลเทพประทาน ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ตนยังเชื่อว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คงจะไม่เลวร้ายเกินไป เช่น อาจจะตัดสินว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ทั้งฉบับได้ หรืออาจจะต้องฟังคำวินิจฉัยของศาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนจึงขอให้คนเสื้อแดง อย่าออกมาเคลื่อนไหวในตอนนี้ ให้รอฟังเสียงนกหวีดของแกนนำก่อน

นายก่อแก้วกล่าวต่อว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการเพื่อล้มล้างการปกครอง พวกตนก็เตรียมพร้อมอยู่แล้ว และก็ขอให้คนเสื้อแดง ร่ำลาครอบครัวเอาไว้ได้เลย เพราจะเป็นการต่อสู้ที่แตกหักอย่างแน่นอน เพราะหากศาลวินิฉัยเช่นนั้น ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คงจะไม่รับฟังคำตัดสินครั้งนี้แน่นอน และจะดำเนินการไปสู่การจับกุมศาล หากตำรวจไม่กระทำ ประชาชนก็จะดำเนินการเอง ซึ่งกลุ่มอำมาตย์ ก็คงจะจัดมวลชนออกมาต่อสู้ เพื่อปกป้องศาล และเมื่อประชาชนสองกลุ่มขัดแย้ง และปะทะกัน ทางทหารก็จะต้องออกมา เพื่อยึดอำนาจ ซึ่งคนเสื้อแดง จะต่อสู้กับทหาร อย่างตาต่อตา ฟันต่อฟัน สุดท้ายความสูญเสียก็จะเกิดขึ้นอย่างมากมาย ที่ตนพูดเช่นนี้ ไม่ได้เป็นการข่มขู่ แต่ตนยอมรับว่าคนเสื้อแดงมีจำนวนเยอะ ซึ่งบางกลุ่มก็เห็นว่า การต่อสู้ของแกนนำ ที่จะชุมนุมประท้วงนั้น นานเกินไปกว่าจะได้รับชัยชนะ เพราะฉะนั้นก็อาจจะก่อความรุนแรงได้

** เสื้อแดงอีสานขู่บุกศาลากลาง

นายขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร กล่าวว่า ในวันที่ 13 ก.ค. ตนจะไปอยู่ วอร์รูม ที่โรงแรมอิมพีเรียล กทม. ร่วมกับแกนนำนปช.ส่วนกลาง ส่วนที่จ.อุดรธานี ก็จะให้สมาชิกชมรมคนรักอุดร และพี่น้องเสื้อแดง สแตนด์บายอยู่ในพื้นที่ หากมีเหตุการณ์อะไร ตนจะสั่งการผ่านทางคลื่นสถานีวิทยุชมรมคนรักอุดร 97.5 เมกกะเฮิร์ต

ทั้งนี้ หลังที่ที่ตนไปประชุมแกนนำคนเสื้อแดงภาคอีสาน 20 จังหวัด ที่ จ.มหาสารคาม ได้นัดแนะให้แกนนำทั้ง 20 จังหวัด ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับมวลชน คอยฟังผลการตัดสิน หากศาลอ่านคำตัดสินออกมาทางลบ ก็ออกมารวมตัวกันหน้าศาลากลางจังหวัดก่อน และจึงจะมีมาตรการออกมาเป็นขั้นๆ ไป เราจะไม่ยอมรับคำตัดสินเป็นอันขาด พร้อมกับจะให้แกนนำคนเสื้อแดง เข้าแจ้งความกับตำรวจในทุกโรงพัก เพื่อดำเนินคดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ที่ตัดสินมาตรา 68 โดยไม่ชอบ นี่คือสิ่งที่พวกเราเตรียมการเอาไว้

** เพ้อลงขัน 6 พันล้านล้มรัฐบาลปู

นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ขณะมีขบวนการล้มล้างรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเป็นการระดมทุน 6 พันล้านบาทแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.นักการเมืองปักษ์ใต้ อักษรขึ้นต่อ ‘ส.’ 2.นักการเมืองในภาคอีสานอักษรขึ้นต้น ‘น.’ และ 3. กลุ่มทุนธุรกิจน้ำเมา ร่วมกันระดมคนมาที่ศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 13 ก.ค.หัวละ 1,000 บาท เพื่อสนับสนุนการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ และพร้อมที่จะปะทะกับกลุ่มที่มาคัดค้าน เพื่อนำไปสู่การสร้างความวุ่นวาย แล้วกองทัพก็จะออกมาทำการยึดอำนาจรัฐบาล

ทั้งนี้ แผนการล้มรัฐบาลมีสองเด้ง คือ 1.ใช้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค 2.ถ้าทำไม่สำเร็จ ก็จะใช้กำลังทหารเข้ามาปฏิวัติ โดยการสร้างสถานการณ์ความรุนแรง ดังนั้น อยากเรียกร้องให้พี่น้องคนเสื้อแดง อย่าได้หลงกล โดยขอให้เตรียมความพร้อมหลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย เพราะแกนนำคนเสื้อแดง จะมีการประเมิณสถานการณ์ และกำหนดท่าทีอีกครั้งหนึ่ง

** จี้"ปู"แสดงภาวะผู้นำปรามแก๊งแดง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่แกนนำเสื้อแดงออกมาระบุว่า คนเสื้อแดงจะมีการเคลื่อนไหว หากผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเป็นลบต่อรัฐบาลว่า เป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้ เพราะหากต่อไปนี้ใช้วิธีว่า ศาลตัดสินใจไม่ถูกใจแล้ว ก็จะออกมาเคลื่อนไหว เท่ากับเป็นการพยายามกดดันศาล แต่ตนเชื่อศาลไม่หวั่นไหว และเท่ากับว่าเราไม่มีกติกาแล้ว ไม่ต้องเคารพกติกาใดๆ ทั้งสิ้นว่าขอบเขตอำนาจของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร

"อยากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แสดงบทบาทในฐานะเป็นผู้นำประเทศในการปรามคนกลุ่มนี้ และแสดงออกให้ชัดเจนว่าจะเป็นรัฐบาลที่เคารพกฎหมาย เคารพศาล การที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ให้ทุกฝ่ายเคลื่อนไหวภายใต้กรอบกฎหมาย และต่อสู้ด้วยสันติวิธีนั้น ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ตนคิดว่าต้องส่งสัญญาณไปยังผู้สนับสนุนด้วย เพราะที่ผ่านมา หลายครั้งการชุมนุมของคนกลุ่มนี้ เกินเลยขอบเขตของกฎหมาย จากนั้นก็มาอ้างว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้อง"

**ชี้"เหลิม"มีอคติกับตุลาการ

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการสร้างกระแสเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง หากศาลไม่ตัดสินตามธงที่ตัวเองกำหนด โดยขอให้ทุกฝ่ายเคารพคำตัดสินของศาล ไม่ควรฟันธงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีของผู้ใหญ่ในทางการเมือง เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา และนายเสนาะ เทียนทอง แม้จะมีความปรารถนาดีในฐานะนักการเมืองอาวุโสก็ตาม แต่ท่าทีเหล่านี้ มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและกระแสสังคม จึงอยากให้เคารพคำวินิจฉัยของตุลาการ ซึ่งไม่ใช่เคารพเฉพาะคำพูด แต่พฤติกรรมยังมีการให้ท้ายใมวลชนเคลื่อนไหว เพราะไม่ถูกต้อง

ในขณะนี้ กลุ่มที่ต้องจับตามองมากที่สุด คือ มวลชนที่สนับสนุนรัฐบาล เพราะท่าทีแกนนำ คือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ ที่ระบุว่า ศาลคงมีคำวินิจฉัยไปในทางที่ดี ถ้าเป็นไปในทางลบ จะประชุมแกนนำเพื่อเคลื่อนไหวมวลชนคนเสื้อแดงนั้น เป็นท่าทีเอาแต่ได้ เป็นการกดดันตุลาการว่าต้องมีคำตัดสินที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตัว หากเป็นลบจะเคลื่อนไหว จึงอยากให้ทุกฝ่ายยอมรับกติกาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าหลังจากคำตัดสินหากมีความวุ่นวายเกิดขึ้น รัฐบาลก็หนีความรับผิดชอบไม่พ้น โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี แม้จะอยู่นอกประเทศในวันที่ 13 ก.ค.ก็ตาม

"การที่นายกฯ มอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ดูแลนั้น ตนไม่มั่นใจการทำหน้าที่ของ ร.ต.อ.เฉลิม เพราะก่อนหน้านี้เคยพูดว่า จะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นหลังการตัดสินของศาล รวมทั้งระบุว่า มีหลายองค์กรรวมตัวกันไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล เป็นท่าทีที่เป็นผลต่อการทำงานของศาล จึงไม่มั่นใจว่าคนที่มีทัศนคติเช่นนี้ จะดูแลการทำงานของศาลได้หรือไม่ เนื่องจากมีอคติต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน"

** "เพรียวพันธ์"เชื่อ13 ก.ค.ไร้ป่วน

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวว่า มั่นใจว่าศาลจะให้ความยุติธรรม และไม่ห่วงว่าจะเกิดเหตุรุนแรงขึ้น รวมทั้งไม่จำเป็นต้องคุยกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่จะมาชุมนุม เพราะไม่ใช่กลุ่มคนที่จะมาก่อความวุ่นวาย ทุกฝ่ายต้องการให้บ้านเมืองสงบอยู่แล้ว ไม่ควรที่จะประเมินในแง่ร้ายเกินไป ส่วนความปลอดภัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลอยู่แล้ว โดยเฉพาะในวันสำคัญเช่นนี้

พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.กล่าวถึง การรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ซึ่งเบื้องต้นได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ 13 กองร้อย เพื่อดูแลศาลรัฐธรรมนูญ และเท่าที่ประเมินดู ตอนนี้ยังไม่มีอะไร คิดว่าทุกอย่าง ทุกฝ่าย คงจะรอฟังศาลวินิจฉัยของศาลว่าจะออกมาในลักษณะอย่างไร คิดว่าตรงนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า แต่เรื่องความมั่นคงทั้งหมดต้อง ถามร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ

** "ยุทธศักดิ์"มั่นใจศุกร์ 13 เอาอยู่

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อประเมินสถานการณ์ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ ว่า ทราบว่าในวันนี้ (12 ก.ค.) จะมีมวลชนกลายกลุ่มเริ่มออกมาเตรียมการชุมนุม ก็ได้ให้ทางตำรวจโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยต้องมองสถานการณ์ในทางที่เลวร้ายที่สุดไว้ก่อน มากกว่าจะมาประมาทว่า จะไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น ต้องดูทุกกลุ่ม และไม่อยากให้มวลชนปะทะกัน หรือการสร้างสถานการณ์ของมือที่ 3 โดยต้องพิจารณาผลการตัดสินของศาลด้วยว่าออกมาทางใดแล้วจะส่งผลอย่างไรบ้าง ต้องเพิ่มความระมัดระวังด้วย เพราะทั้ง 2 ฝ่าย ก็มีการเตรียมตัวในที่ตั้งอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่เลวร้ายที่สุดที่ได้ประเมินไว้ คืออะไร พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า หากว่ามีการตัดสินในทางลบ ก็อาจมีการเคลื่อนไหวของฝ่ายหนึ่งอย่างมาก

เมื่อถามต่อว่า หมายถึง กลุ่มคนเสื้อแดง ใช่หรือไม่ รองนายกฯ ปฏิเสธที่จะระบุ โดยกล่าวว่า ยังไม่พูดถึงว่าเป็นกลุ่มใด แต่หากมีการเคลื่อนไหวระดมคนผ่านวิทยุชุมชนต่างๆ ทางตำรวจ ก็ต้องมีการเตรียมพร้อมล่วงหน้า และเตรียมกำลังพลไว้ให้เพียงพอ เพราะจะประมาทไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องใช้กฎหมายพิเศษในการควบคุมสถานการณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น