xs
xsm
sm
md
lg

“เต้น” เห็นด้วย 3 ตุลาการถอนตัว เตือนศาลอาจถูกยุบ หากทำเกินอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(แฟ้มภาพ)
“ณัฐวุฒิ” เห็นด้วย 3 ตุลาการถอนตัว เหตุเพราะมีส่วนร่างรัฐธรรมนูญ 50 ย้อนศาลควรพิจารณาอำนาจตัวเองมากกว่า เตือนฝืนพิจารณาอาจถูกยุบ วิจารณ์ “อภิสิทธิ์” สัมภาษณ์ไม่เห็นด้วยศาลถอนตัว เพราะหิวโหยอำนาจ เผยไม่มีเจตนาทะเลาะ แขวะพวกล้มล้างรัฐบาลใช้วิธีอื่น อ้าง “เพื่อไทย” ไม่ได้รักษาร่างแก้รัฐธรรมนูญ แต่รักษาอำนาจอธิปไตยไม่ให้ตุลาการแทรกแซง แถมเหน็บผู้ร้องในการไต่สวนว่ามีแต่ประเด็นการเมือง พร้อมแขวะ ฝ่ายร้องค้านแก้รัฐธรรมนูญ ไม่มีผลทางกฎหมาย วิจารณ์ “อภิสิทธิ์” สัมภาษณ์ไม่เห็นด้วยศาลถอนตัว เพราะหิวโหยอำนาจ ทิ้งท้ายไม่ได้ชวนทะเลาะ แต่ยังเพ้อเป็นวิธีพวกคิดล้มรัฐบาล

วันที่ (6 ก.ค.) เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเริ่มทยอยขอถอนตัวจากองค์คณะผู้พิพากษาการไต่สวนคำร้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ว่า ตนเห็นด้วยกับการตัดสินใจดังกล่าว ตั้งแต่กรณีของนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนตัว ซึ่งว่าตามข้อเท็จจริงทั้ง 3 คนเมื่อมีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่น่าจะมีความชอบธรรมที่จะเป็นผู้พิจารณากระบวนการยกร่างแก้ไข ถึงแม้การตัดสินใจถอนตัวออกจะดูล่าช้าไปบ้างก็ตาม

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่สุดคือศาลรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินการในสิ่งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ฉะนั้นทั้ง 9 คนไม่ว่าจะเคยแสดงความเห็นเคยยกร่างหรือไม่ ควรพิจารณาข้อนี้เป็นสำคัญ หากยังยืนยันว่ามีอำนาจในการนำคำร้องตามมาตรา 68 มาพิจารณาก็จะกลายเป็นว่าการดำเนินการดังกล่าวมีผลให้ยุบอัยการสูงสุดไปจากมาตรานี้ในทันที และอัยการสูงสุดจะไม่มีความหมายอะไรเลย อย่างกรณีที่เกิดขึ้นในขณะนี้เมื่ออัยการสูงสุดรับเรื่อง อัยการสูงสุดบอกไม่มีมูล แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ามีมูลต้องไต่สวน ที่หนักไปกว่านั้นถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่มีมูลแต่อัยการสูงสุดชี้ว่ามีมูลจะทำกันยังไง ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทั้ง 9 คน ควรจะพิจารณา

“เวลานี้มีการพูดกันว่า การวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถ้าเป็นลบ อาจจะเลยเถิดไปถึงการยุบพรรคเพื่อไทย ซึ่งผมยังไม่คิดขนาดนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่มีผลให้ยุบอัยการสูงสุดไปจากมาตรานี้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นผลร้ายแรงในกระบวนการยุติธรรม” นายณัฐวุฒิกล่าว

นายณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน ไม่เห็นด้วยที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะถอนตัว โดยอ้างว่าตอนที่ตุลาการฯแสดงความเห็นเป็นการแสดงความเห็นในฐานะนักกฎหมาย แต่วันนี้มาวินิจฉัยในฐานะตุลาการ ตนอยากจะให้นายอภิสิทธิ์ตั้งสติให้ดี อย่าแสดงความหิวโหยในอำนาจจนขาดสติปัญญาที่จะแสดงต่อสังคม เพราะตุลาการที่มาดำรงตำแหน่งนี้เพราะว่าเป็นนักกฎหมายไม่ใช่หรือ และการแสดงความเห็นของนักกฎหมายก่อนการมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ถามว่าการเป็นตุลการศาลรัฐธรรมนูญทำให้ความเห็นทางกฎหมายของตุลาการเปลี่ยนแปลงไปได้หรืออย่างไร ก่อนเป็นตุลาการมีมุมมองต่อเรื่องนี้แบบหนึ่ง พอเป็นตุลาการก็จะต้องมีความเห็นหรือคำวินิจฉัยต่อเรื่องนี้อีกแบบหนึ่ง ถ้าเชื่อกันแบบนี้บ้านเมืองจะพึ่งพากระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร

“ผมไม่มีเจตนาจะไปทะเลาะไปราวีด้วย แต่อยากขอร้องให้ขบวนการที่จ้องจะล้มรัฐบาลทั้งหลายสงสารประเทศไทย และเลือกใช้วิธีอื่นเถอะ อย่าใช้วิธีนี้ ดาบนี้เก็บเอาไว้เถิดอย่าเอามาใช้ ถ้าจะล้มกันจริงๆ ก็หาดาบอื่น หาดาบเล่มใหม่ที่พอจะมีเหตุมีผลมากกว่านี้ ขณะเดียวกัน รัฐบาล พรรคเพื่อไทยก็ต้องมีความมั่นคงและชัดเจนในการเดินหน้า เพราะนี่ไม่ใช่ความพยายามรักษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการรักษาความสมดุลและหลักการถูกต้องของอำนาจอธิปไตย หากฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารไหวหวั่น แล้วให้ฝ่ายตุลาการแทรกแซงโดยไม่มีอำนาจแบบนี้ได้ ประชาชนก็จะขาดที่พึ่ง ระบอบประชาธิปไตยก็จะไม่เดินไปข้างหน้า ซึ่งท่าทีของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยขณะนี้ยังคงมั่นคง เข้มแข็ง และสอดรับกับสถานการณ์อยู่” นายณัฐวุฒิกล่าว

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในการไต่สวนเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมาคงไม่ต้องประเมินอะไรเพราะสิ่งที่พยานผู้ร้องเบิกความไม่ต่างจากจุดยืนทางการเมืองที่ผ่านมา และตนอยากให้วิเคราะห์เนื้อหาสาระที่ไต่สวนไปเมื่อวาน (5 ก.ค.) ว่าเป็นประเด็นข้อกฎหมายหรือประเด็นทางการเมือง ซึ่งตนคิดว่าเป็นการดำเนินการทางการเมืองทั้งสิ้น และไม่อยากให้หน่วยงานที่มีชื่อนำหน้าว่าศาลมาแสดงออกแบบนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น