xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” ฟ้องดะค้าน 4 ตุลาการ รธน. ฟัน “ผู้ตรวจการฯ-กกต.” พ่วงยุบ 6 พรรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา (ภาพจากแฟ้ม)
อดีต ส.ว.สรรหาเผยพรุ่งนี้เตรียมฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเอาผิดผู้ตรวจการฯ-กกต. อ้างหนุนแก้ รธน. ม.291 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง พร้อมคัดค้าน 4 ตุลาการอ้างมีส่วนได้เสีย สุดประหลาดฟ้องยุบ 6 พรรคการเมืองยกแผง อ้างส่งคนเข้าร่วม กมธ.แก้รัฐธรรมนูญด้วย

วันนี้ (8 ก.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า ตนอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง ประกอบมาตรา 62 จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 9 ก.ค.นี้ เพื่อขอให้ศาลฯ พิจารณาวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทั้ง 3 ท่าน ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การเสนอแนะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ด้วย ซึ่งถือว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีพฤติการณ์ในการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยการสนับสนุนให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ตามคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ รวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง5 ท่านที่เสนอให้ กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.บ. เลือกตั้ง ส.ส.ร.ด้วย เท่ากับว่าเป็นผู้สนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ด้วย

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า ตนได้ยื่นขอคัดค้านการเป็นองค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์, นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายนุรักษ์ มาประณีต และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ เนื่องจากเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จึงเป็นกรณีที่มีส่วนได้เสียตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ใน ข้อ 10 (1) ประกอบการขจัดส่วนได้เสียตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 294 วรรคสอง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งขอคัดค้านการเป็นองค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของนายชัช ชลวร เนื่องจากยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ทั้งนี้ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชล เนื่องจากได้ส่ง ส.ส.ของพรรคเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ.ของรัฐสภาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น