xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แมลงสาบไปไม่เป็น “ปตท.”ซ้ำรอย “อีสท์วอเตอร์” BTS เจอ 4 ข้อหาฝันอร่อยส่อล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ความวัวเรื่องเงินบริจาคน้ำท่วมจาก “บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด(มหาชน) หรือ “อีสท์วอเตอร์” ยังไม่หาย “พรรคประชาธิปัตย์” เจ้าของสมญานาม “พรรคแมลงสาบ” ก็เจอ “ความควาย” ตามมาเป็นดอกที่ 2 และดอกที่ 3...4...5...ขยายแผลความไม่ชอบมาพากลจนออกอาการดิ้นพลาดๆ และไปไม่เป็นกันเลยทีเดียว

แผลต่อเนื่องที่ทำให้พรรคแมลงสาบไปไม่เป็น แผลแรกมาจากศัตรูคู่แค้นเจ้าเก่าที่ชื่อ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” อดีต ส.ว.สรรหาผู้เปิดประเด็นเรื่องเงินบริจาคอีสท์วอเตอร์ที่ตามมาซ้ำกลายเป็นศึกใหญ่ไม่แพ้กัน นั่นก็คือเงินบริจาคที่ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับจาก “ปตท.”

ขณะที่แผลเก่าที่กำลังกลัดหนองอย่างกรณีการประเคนการบริหารจัดการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับ “คีรี กาญจนพาสน์” แห่งบีทีเอสซี ด้วยสัญญาว่าจ้างนานโคตร ทั้งๆ ที่เหลืออายุสัญญาสัมปทานนับเป็นสิบปี ก็กำลังจะวุ่น เมื่อมิตรที่กลายเป็นศัตรูอย่าง “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ออกมาขยายแผลด้วยการระบุว่า กรุงเทพมหานครที่ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ผู้ว่าฯ จากพรรคประชาธิปัตย์นั้นเข้าข่ายทำความผิดในข้อกฎหมาย 4 ข้อด้วยกัน

เจอทั้งเงินบริจาคอีสท์วอเตอร์ เงินบริจาค ปตท.และต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว งานนี้เล่นเอา “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถึงกับเครียดและวางแผนตั้งรับกันอย่างหัวหมุนทีเดียว

กล่าวสำหรับแผลดอกที่สองนั้นเป็นที่รับรู้เมื่อนายเรืองไกรได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา ขอให้สอบที่มาของเงินที่บริจาค ให้สำนักนายกรัฐมนตรีว่าเกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง หรือไม่ โดยข้อมูลใหม่ที่นายเรืองไกรค้นพบก็คือ หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือในประเด็นเงินบริจาค 1 ล้านบาท ของ บริษัท อีสท์ วอเตอร์ จำกัดแล้ว จากการตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ของพรรคประชาธิปัตย์ยังมีการลงรูปกิจกรรมเพิ่มเติม เกี่ยวกับการรับบริจาค เมื่อเดือนพ.ย.53 สอดคล้องกับที่สมาชิกพรรคได้แถลงไว้ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 21 พ.ค.55 กล่าวคือ

นอกจากมีการรับบริจาค จาก วนชัย กรุ๊ป จำนวน 1,000,000 บาท กลุ่มน้ำมันกัลฟ์ 500,000 บาท บริษัท อีสท์วอเตอร์ 1,000,000 บาท แล้ว ยังพบรูปภาพกิจกรรม การรับบริจาค จากกลุ่ม ปตท. 3 ครั้งรวม 14 ล้านบาท บมจ. ศรีตรัง 500,000 บาท การรับสิ่งของบริโภคเป็นบะหมี่ซื่อสัตย์ มูลค่า 858,120 บาท อินเด็กซ์ลิฟวิงมอลล์ 100,000 บาท รับบริจาคจาก ไออาร์พีซี 1,500,000 บาท บมจ.บ้านปูหลักล้านบาท รวมทั้งยังปรากฏรูปสิ่งของบริจาค ที่วางไว้เพื่อรอการบรรจุถุงบริจาค ที่มีโลโก้พรรคประชาธิปัตย์ ที่วางกองรวมอยู่ในบริเวณลานแม่พระธรณีด้วย....

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ นับจากที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เคยเห็นหลักฐานยืนยันความบริสุทธิ์ใจของตนเองเลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่ออกมายอมรับด้วยปากตัวเองด้วยซ้ำไปว่า มีการออกใบเสร็จรับเงิน ชั่วคราวไว้ทุกครั้ง แต่จนแล้วจนรอดสาธารณชนก็ยังไม่เห็นพรรคประชาธิปัตย์นำหลักฐานทั้งหลายทั้งปวงมาแสดงว่ามีการลงรายการรับบริจาคในบัญชีแสดงรายรับภายใน 15 วันนับแต่วันที่รายการเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากมีการลงบัญชีตามมาตรา 60 วรรคสามอย่างถูกต้อง ย่อมต้องนำสมุดบัญชีรายวันกับสำเนาใบเสร็จรับเงินชั่วคราว หรือตรวจยันยอดได้จากสมุดเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาย่อยกระทรวงการคลังได้

ขณะเดียวกัน เมื่อมีการเบิกถอนเงินไปซื้อแคชเชียร์เช็ค จะต้องพบรายการบันทึกบัญชีรายวันที่แสดงว่าได้ส่งเงินบริจาคนั้นออกไปให้สำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ด้วยหลักฐานที่เป็นสำเนาแคชเชียร์เช็คและใบเสร็จค่าธรรมเนียมธนาคาร

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์มีหลักฐานมาแสดงความบริสุทธิ์ใจหรือไม่?

เพราะหากไม่ปรากฏการลงรายการบัญชีทั้งด้านรายรับที่มาจากผู้บริจาคทั้ง 191 ราย และการเบิกถอนเงินทั้งหมดไปซื้อแคชเชียร์เช็ค พรรคประชาธิปัตย์ก็จะกระทำที่ผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายพรรคการเมืองอย่างชัดเจนโดยที่ไม่มีข้อโต้แย้งได้

ที่สำคัญคือ ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์มั่นใจว่าไม่ได้กระทำผิดจริง พรรคประชาธิปัตย์ก็จะต้องรีบแจ้งความเพื่อเอาผิดนายเรืองไกรที่กล่าวหาหรือแจ้งความอันเป็นเท็จในฉับพลันทันที ไม่ใช่ปล่อยให้เรื่องยืดยาว เยิ่นเย้อ ประหนึ่งว่า หาหลักฐานมายืนยันตามที่นายเรืองไกรกล่าวหาไม่ได้

“นายทะเบียนพรรคการเมือง และดีเอสไอ ควรตรวจสอบขยายผลไปให้ได้ข้อเท็จจริงทั้งหมด และตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยว่า เหตุใดจึงมีรูปภาพรถยนต์ของทหาร(ตรากงจักร) หลายคันมาช่วยขนถุงบริจาคที่พรรคประชาธิปัตย์ ตรวจสอบขั้นตอนการลงบัญชีว่าได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 60 วรรคสามหรือไม่ และดีเอสไอควรตรวจสอบเชิงลึกกรณีกลุ่ม ปตท.ระบุว่าบริจาคสนับสนุน “กองทุนช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม” ขณะพรรคประชาธิปัตย์ขอเปิดบัญชีในนาม “ช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม” ไม่มีคำว่ากองทุน จึงต้องตรวจสอบหน้าเช็คสั่งจ่ายและการนำเช็คทั้งหมดเข้าบัญชี สามารถนำฝากและเรียกเก็บเงินตามเช็คได้อย่างไร มีใครสั่งการอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองที่สามารถสั่งการหน่วยราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ รัฐวิสาหกิจ และกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่หรือไม่ ผู้บริจาคแต่ละรายได้รับหนังสือขอการสนับสนุน หรือได้รับการร้องขอโดยวาจาหรือไม่ เจ้าหน้าที่ธนาคารถูกบังคับข่มขู่ให้กระทำการใดๆ โดยไม่ชอบหรือไม่”นายเรืองไกรแจกแจงรายละเอียดสิ่งที่ผิดปกติ

ขณะเดียวกันนอกเหนือจากกรณีเงินบริจาคน้ำท่วมที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตกอยู่ในภาวะน้ำท่วมปากแล้ว กรณีกรุงเทพมหานคร(กทม.) เซ็นสัญญาว่าจ้างให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซีบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งๆ ที่ยังเหลือระยะเวลาสัมปทานอีกนับเป็นสิบปีนั้นก็กำลังกลายเป็นวัวพันหลักที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์กำลังจะจมน้ำ ตาย เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ เนื่องจากหลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษโดยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ตรวจสอบข้อมูลพบเงื่อนงำที่น่าสนใจในหลายประเด็นด้วยกัน
 

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องที่ว่า “กทม.” ของผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ บริพัตร แห่งพรรคประชาธิปัตย์นั้นมี “อำนาจตามกฎหมาย” ที่จะต่อสัญญาบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือไม่

กล่าวคือ หลังจากที่ดีเอสไอยื่นสอบถามจากกระทรวงมหาดไทยถึงขอบเขตแห่งอำนาจของ กทม. หรือ กทม.มีอำนาจในการทำนิติกรรมดังกล่าวหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบจากกระทรวงมหาดไทยว่าอำนาจการต่อสัญญาเป็นของ รมว.มหาดไทย กทม.ไม่มีอำนาจ ซึ่งนั่นหมายความว่าคดีมีมูลและข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) รับเป็นคดีพิเศษได้ โดยนายธาริตจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะเริ่มขั้นตอนการสอบสวน

“เบื้องต้นกรณีดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ที่ให้อำนาจ รมว.มหาดไทย ดำเนินการ 2.ประมวลกฎหมายอาญา 3.พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมงานและดำเนินการในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.) ร่วมทุน กรณีมีการตัดตอนต่อสัญญาโดย กทม. ทำให้ไม่จำเป็นต้องผ่านคณะรัฐมนตรี และ 4.พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล) เนื่องจากมีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มธนายง ไม่เปิดโอกาสให้แข่งขันราคา”นายธาริตอธิบาย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า เรื่องนี้ กทม.จะไม่ยอมแพ้เช่นกัน โดยนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)ได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นเข้าหารือกับทางพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นต้นสังกัด เพื่อดำเนินการเอาผิดกับดีเอสไอ ตามมาตรา 157 ฐานละเลยหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากมีการชี้นำความผิดของ กทม.ในการต่อสัญญาว่าจ้างการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส 30 ปี ทั้งที่ยังไม่สอบสวนข้อมูลให้ครบถ้วน

แต่ที่เป็นปัญหาซ้อนปัญหาอีกประการหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ การออกมาดิ้นทุรนทุรายของลูกพรรคประชาธิปัตย์ต่อกรณีดังกล่าวคือ นายชนินทร์ รุ่งแสง และ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ที่ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีที่ กทม.ต่อสัญญารถไฟฟ้าให้กับบีทีเอสนั้น อาจจะเป็นการรับงานมาจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. รวมทั้งขณะเดียวกันก็อาจเป็นการแทรกแซงการทำหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งอาจจะเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 265 และ 266 และอาจถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้

ส.ส.ทั้ง 2 คนสิ้นสุดความเป็นสมาชิกภาพส.ส.ได้
 
งานนี้ เล่นเอาพรรคประชาธิปัตย์ถึงกับไปไม่เป็นเลยทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น